อริยสัจ 4 คือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และแสดงไว้ในวันที่ประกาศศาสนาครั้งแรก อริยสัจ 4 เป็นธรรมะที่เน้นกระบวนการวิเคราะห์เพื่อมองเหตุ สาเหตุของปัญหาต่างๆ นำไปสู่กระบวนการแก้ไข โดยพระพุทธเจ้าได้เผยแผ่ให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ชาวพุทธได้นำไปปรับใช้ในชีวิต

ประวัติ และที่มาของการแสดงธรรมะ “อริยสัจ 4” ของพระพุทธเจ้า

“อริยสัจ 4” รวมอยู่ในหลักธรรม “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาเป็นครั้งแรก เมื่อพราหมณ์ปัญจวัคคีย์ได้รับฟังธรรมะนี้ ก็ได้ขอบรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์ จึงนับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ 

ความหมายของ “อริยสัจ 4” ที่พุทธเจ้าทรงแสดง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2554 ให้ความหมายของ อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงของพระอริยะ, ความจริงอันประเสริฐ และหลักอริยสัจ 4 จากหนังสือ อริยสัจจากพระโอษฐ์ ของพุทธทาสภิกขุ ได้อธิบายหลักธรรมอริยสัจ 4 ไว้ดังนี้

1. ทุกข์ หรือ ทุกขอริยสัจ

ทุกขอริยสัจ คือ ความเป็นทุกข์ อันเกิดจาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย รวมไปถึงความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ไม่ได้สิ่งที่ตนเองปรารถนา

2. สมุทัย หรือทุกขสมุทัยอริยสัจ

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ความเพลิดเพลิน และตัณหาทำให้เกิดอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา, ภวตัณหา และวิภวตัณหา

3. นิโรธ หรือ ทุกขนิโรธอริยสัจ

...

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความสลัดตัณหา ความพ้นและไม่อาลัย ดับตัณหาอย่างไม่เหลือวิราคา 

4. มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ หรือ มรรค 8 คือ วิธีการที่จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมาย มี 8 ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ

ตัวอย่างการใช้ "อริยสัจ 4" ในชีวิตประจำวัน

อริยสัจ 4 คือ ธรรมที่เป็นความจริง 4 ประการ การนำหลักธรรมนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อมองเห็นปัญหาของบุคคล เพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง พัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้าน มีตัวอย่างการใช้ ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 “อริยสัจ 4 กับการเรียน”

การเรียนเป็นกระบวนการของผู้แสวงหาความรู้ โดยมีคะแนนสอบเป็นตัววัดผล ไม่ว่าจะเป็นการเรียนระดับชั้นใด ก็นำหลักการอริยสัจ 4 ไปปรับใช้ได้ ดังนี้

ทุกข์ (ผล)       อยากสอบได้คะแนนดี แต่ไม่เป็นดังหวัง
สมุทัย (เหตุ)    ไม่เข้าใจบทเรียน
นิโรธ (ผล)      สอบได้คะแนนดีขึ้น
มรรค (เหตุ)     ทบทวนบทเรียน อ่านหนังสือ

ตัวอย่างที่ 2 “อริยสัจ 4 กับความรัก”

ความรักถือเป็นสิ่งพื้นฐานของมนุษย์ พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ และวิธีการแสดงออกของความรักไว้ 6 ประเภท ได้แก่ พ่อแม่กับบุตร, อาจารย์กับลูกศิษย์, สามีกับภรรยา, เพื่อนกับเพื่อน, นายจ้างกับลูกจ้าง, นักบวชกับชาวบ้าน ส่วนการวิเคราะห์ความรักด้วยอริยสัจ 4 มีดังนี้

ทุกข์ (ผล)       อกหัก, รักเขา เขาไม่รักตอบ
สมุทัย (เหตุ)    พลัดพราก หรือคาดหวังในความรักมากเกินไป
นิโรธ (ผล)      ความรักที่เป็นความสุขต่อทั้งสองฝ่าย
มรรค (เหตุ)    พิจารณาถึงวิธีแสดงออก และการกระทำต่อคนรัก

ตัวอย่างที่ 3 “อริยสัจ 4 กับการทำงาน”

การทำงานไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือยอดขาย ก็ใช้หลักธรรมอริยสัจ 4 พิจารณาเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ มุมมองอริยสัจ 4 กับการทำงาน มีดังนี้

ทุกข์ (ผล)       ยอดขายตก
สมุทัย (เหตุ)    ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
นิโรธ (ผล)      การดำเนินการตรงกับเป้าหมายองค์กร ยอดขายดีขึ้น
มรรค (เหตุ)     ตรวจสอบเห็นกระบวนการที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ตัวอย่างที่ 4 “อริยสัจ 4 กับโรคภัยไข้เจ็บ”

ความเจ็บป่วยเป็นหนึ่งในสาเหตุของความทุกข์ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้น อริยสัจ 4 ช่วยให้วิเคราะห์ความทุกข์จากโรคภัยได้ ดังนี้

ทุกข์ (ผล)      เกิดความไม่สบายใจ เนื่องจากตรวจพบโรคภัยในร่างกาย
สมุทัย (เหตุ)   เกิดจากตัวโรคในร่างกาย พักผ่อนน้อย หรืออุบัติเหตุ
นิโรธ (ผล)     หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
มรรค (เหตุ)    เข้าสู่กระบวนการรักษาที่ตรงกับโรค

...

สรุปแล้ว อริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ถูกยกย่องว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เมื่อชาวพุทธเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ ก็นำหลักธรรมนี้มาใช้เป็นวิธีคิด และมองเห็นทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นกระบวนการ.

อ้างอิง

1. อริยสัจ 4. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย., https://www.mcu.ac.th/article/detail/14263
2. ธรรมะในการทำงาน., https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/%40Rama24_Easy.pdf
3. ความรู้คู่คุณธรรม. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ., http://old-book.ru.ac.th/e-book/r/RU100/ru100-4.3.pdf
4. วันอาสาฬหบูชา., สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ., https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/73/iid/3397

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง