ปลายเดือนตุลาคมนี้ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เศษฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์ เตรียมเผยโฉม 20 ดวงต่อชั่วโมง ในทางทิศตะวันออกของประเทศไทย

ในปี 2566 นี้มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจ โดยข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่า ปีนี้สภาพอากาศในช่วงปลายปีนี้ดี ไม่มีแสงจันทร์คอยรบกวน เป็นโอกาสที่ดีในการชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” หากฟ้าใสไม่มีฝน สามารถชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศทางด้านตะวันออก แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืดสนิทและห่างจากเมือง ในคืนที่ 21 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า

“ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คือ ร่องรอยจากเศษฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์ หรือ 1P/Halley ที่ปล่อยทิ้งไว้ในระหว่างการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อปี 1986 ซึ่งเกิดจากการที่ดาวหางฮัลเลย์ โคจรตัดผ่านกับเส้นทางที่โลกเคลื่อนที่ จนเกิดการทิ้งไว้ของเศษฝุ่น และวัตถุต่างๆ ขนาดเล็กบนวงโคจร

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ชนิดนี้ มีโอกาสพบเห็นได้บ่อยครั้งในเดือนตุลาคม ต่างจากดาวหางฮัลเลย์ที่สามารถพบเจอได้ไม่มากนักในหนึ่งครั้งของชีวิต ซึ่งดาวหางฮัลเลย์นี้จะโคจรมาให้ได้พบเห็นทุกๆ 76 ปี

...

ข้อมูลจากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ในทุกครั้งที่ดาวหางนี้เคลื่อนที่เข้ามา รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปจนมีขนาดเล็กลง 1-3 เมตร ในแต่ละรอบที่เข้าใกล้โลก จนสุดท้ายเมื่อมวลสารส่วนที่เป็นน้ำแข็งสลายตัวจนหมดไป ดาวหางฮัลเลย์ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต กลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์ 

ดาวหางฮัลเลย์ ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่คำนวณ และค้นพบโดย “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley)” นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ

ทำให้ฝนดาวตกไอโรออนิดส์เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจ ที่คงความสวยงามอยู่ และสามารถชมได้ในทุกปี

สาเหตุและที่มาของฝนดาวตกโอไรออนิดส์

ฝนดาวตกชนิดนี้มาจากแรงโน้มถ่วงของโลก ได้ดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ เข้ามาใกล้กับชั้นบรรยากาศโลก จนเกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน โดยสามารถสังเกตได้จากสีของฝนดาวตกชนิดนี้มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า 

วิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด 

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ สามารถชมด้วยตาเปล่า โดยอาจต้องเลือกสถานที่ที่มืด และห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด เริ่มจากการมองหากลุ่มดาวนายพราน สามารถพบเจอได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก 

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คาดการณ์ว่า ฝนดาวตกชนิดนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียง 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีความสว่างโดดเด่นบนฟ้า หากสามารถบันทึกภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงามเคียงข้างกลุ่มดาวนายพราน อีกทั้งยังเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยดี จึงเหมาะแก่การเฝ้ารอชม และถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

ศุภฤกษ์ กล่าวเสริมว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ซีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก ทำให้เราเห็นดาวตกวิ่งช้า และมีโอกาสถ่ายภาพฝนดาวตกหางยาวได้ง่าย

ข้อมูล : NARIT

ภาพ : istock