พฤติกรรมการลอกเลียนแบบของเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายปัจจัย มักเกิดในช่วงวัยที่กำลังมีการเรียนรู้ จนเกิดการจดจำพฤติกรรมเลียนแบบจากความสนใจ ที่ออกมาในรูปแบบการกระทำ ภาษากาย และอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผลดี และผลเสียแก่ตัวเด็กได้
‘พฤติกรรมการเลียนแบบ’ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบจากปัจจัยต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงวัย 2-6 ปี ที่มีการเรียนรู้ และจดจำได้ดี หากได้เลียนแบบอยู่บ่อยครั้ง อาจถูกปรับเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมในช่วง 6-12 ปี ซึ่งเกิดจากการสังเกตสิ่งรอบตัวเป็นประจำ ความใกล้ชิด และความสนใจ ยิ่งพฤติกรรมเหล่านั้นส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกมากเท่าไร การจดจำ ความคลั่งไคล้ ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
พฤติกรรมการเลียนแบบ สามารถส่งผลกระทบทางด้านดี และทางด้านลบได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวของเด็กคนนั้นว่าจะจดจำพฤติกรรมที่ดี หรือไม่ดี และนำมาปรับใช้กับตัวเองมากน้อยเพียงใด ทำให้ในช่วงเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมการเลียนแบบ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องคอยสังเกตและให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ และห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี และไม่น่าลอกเลียนแบบมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กในอนาคตได้
พฤติกรรมลอกเลียนแบบของเด็กที่มีความสุ่มเสี่ยง และต้องเฝ้าระวัง
- พฤติกรรมความรุนแรง ความก้าวร้าวทางคำพูด
การใช้คำพูดเสียดสี คำหยาบคาย และรุนแรง สิ่งเหล่านี้อาจจดจำมาจากสื่อวิดีโอ ภาพยนตร์ หรือได้ยินจากสภาพแวดล้อมใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกับของครอบครัวภายในบ้านที่เด็กได้ยิน จำมาจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หรือแม้กระทั่งมีคนทะเลาะกันตามสถานที่ต่างๆ
...
- พฤติกรรมความรุนแรง ความก้าวร้าวทางการกระทำ
หนึ่งในพฤติกรรมที่น่ากังวลของเด็กที่มักจะเห็นอยู่เป็นประจำ เช่นการต่อยตีทะเลาะวิวาท การทำลายข้าวของ ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจทำให้เป็นปัญหาได้ภายในอนาคตภายภาคหน้า เกิดขึ้นจากความเคยชิน และนำไปใช้กับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจัดการ หรือแก้ปัญหาได้
- พฤติกรรมความสนใจในสื่อต่างๆ เช่น ความรุนแรง ลามกอนาจาร อาวุธ และการพนัน
หนึ่งพฤติกรรมที่ควบคุมได้ยาก และเกิดขึ้นได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน อาจเกิดขึ้นได้จากสื่อที่ผู้ใหญ่ดู และเล็ดลอดไปถึงเด็กจนเกิดการจดจำ หรือเกิดจากความสนใจ และรสนิยมของตัวเด็กเองที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม หรือสิ่งที่เด็กสนใจ โดยการให้ชุดความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง และควรให้หลีกเลี่ยงสื่อที่มีความรุนแรงก่อนถึงวัยอันควร และเหตุผลที่ดีเพื่อให้เด็กได้เข้าใจ
- พฤติกรรมการลักขโมย
เด็กๆ อาจจดจำพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในบ้าน ที่มักจะหยิบของกันและกันไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต หรือของส่วนรวมที่นำไปใช้แล้วไม่ได้เอามาคืน ยิ่งเฉพาะหากของชิ้นนั้นเป็นของตัวเด็กเองอาจทำให้เกิดการฝังใจ ซึ่งเป็นหนึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้บ่อย ผู้ปกครองอาจต้องปรับพฤติกรรมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วย เช่น คำพูด การขออนุญาตในการใช้สิ่งของให้เด็กรับรู้ว่าเมื่อต้องการจะหยิบสิ่งของต้องมีการขออนุญาตก่อน และให้ความรู้กับเด็กอยู่เป็นประจำ
- พฤติกรรมการพูดโกหก
หากเด็กๆ รับรู้ถึงการโกหกแล้ว สามารถหลุดพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจาก พ่อแม่ เพื่อน และครอบครัว ซึ่งตัวเด็กเองนั้นอาจจะไม่ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริง ผู้ปกครองควรจะต้องอธิบายทุกครั้งหากอยู่ในสถานการณ์โกหก โดยมีเหตุผลที่ดี หรือคอยสอนอยู่เป็นประจำในเรื่องของการพูดอย่างตรงไป ตรงมา ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าอย่างไร
- พฤติกรรมที่แปลกไปจากมนุษย์ปกติ
พฤติกรรมที่ดูแปลกไปจากปกติของมนุษย์ ซึ่งเด็กอาจจะเกิดการจดจำจากภาพยนตร์ การ์ตูน และจดจำคาแรกเตอร์จากสื่อเหล่านี้ จนเกิดเป็นพฤติกรรมได้ เพราะการแยกโลกในจินตนาการ กับโลกแห่งความเป็นจริงจากเด็กนั้นเป็นอะไรที่ต้องให้ความรู้ และความเข้าใจ จากผู้ปกครอง
พฤติกรรมลอกเลียนแบบที่กล่าวมาข้างต้นสามารถแก้ได้โดยเริ่มจากคนในบ้าน และครอบครัว ต้องเริ่มจากตัวอย่างที่ดี เพื่อปลูกฝัง จริยธรรม และคุณธรรมให้กับเด็ก ซึ่งการให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าอกเข้าใจ และไม่ละเลยจากพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดสำหรับเด็กในช่วงวัยจดจำ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตมาในสังคม และสามารถมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ในอนาคตภายภาคหน้า
ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท
ภาพ : istock