เหตุยิงกันในห้างสรรพสินค้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและมักจะคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ และเกิดขึ้นเมื่อใด หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราจะมีวิธีเอาตัวรอดจากเหตุยิงกันในห้างฯ ได้อย่างไร

3 ขั้นตอน เอาตัวรอดจากเหตุยิงกันในห้างสรรพสินค้า

ข้อมูลจากภาควิชาศัลยแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เผยว่าหากบังเอิญตกอยู่ในเหตุการณ์กราดยิง หรือเหตุยิงกันในที่สาธารณะ สิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเร่งด่วนที่สุดมี 3 ขั้นตอน คือ การหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run, Hide, Fight) โดยมีวิธีดังนี้

การหลบหนี (Run)

  1. หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยสังเกตทางเข้าออกและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ
  2. วางแผนและเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบ
  3. มีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี และควรทิ้งสิ่งของหรือสัมภาระทั้งหมดเพื่อการหลบหนีที่คล่องตัว และหากเป็นไปได้ควรช่วยเหลือคนรอบตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การหลบซ่อน (Hide)

  1. ในกรณีที่ไม่สามารถหลบหนีได้ควรหาที่หลบซ่อนเพื่อให้รอดพ้นสายตาของผู้ก่อเหตุให้มากที่สุด โดยมีวิธีดังนี้
  2. ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสารที่ทำให้เกิดเสียง เช่น ทีวี วิทยุ เปลี่ยนโหมดโทรศัพท์มือถือเป็นระบบสั่น
  3. หากมีหน้าต่างหรือประตู ให้ปิดม่านพร้อมล็อกประตูให้แน่นหนาที่สุด
  4. การหลบซ่อนที่ดีคือควรแอบอยู่หลังหรือใต้โต๊ะหรือตู้ที่แข็งแรง
  5. พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่าง ริมประตู กระจก
  6. หากหลบซ่อนอยู่หลายคน พยายามกระจายพื้นที่หลบซ่อนให้มากที่สุด และพยายามขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เสียง เช่น ส่งข้อความขอความช่วยเหลือผ่านทาง SMS หรือ Line

...

การต่อสู้ (Fight)

หากอยู่ในสถานการณ์คับขันที่ไม่สามารถหลบหนีหรือซ่อนตัวได้ วิธีสุดท้ายในการเอาตัวรอดคือการต่อสู้โดยใช้สติและกำลังทั้งหมดที่มี โดยมองหาจุดบอดของผู้ก่อเหตุให้ได้ หากอยู่รวมกันหลายคนควรช่วยกันต่อสู้เพื่อให้ผู้ก่อเหตุบาดเจ็บให้มากที่สุด นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือการร้องอ้อนวอนขอชีวิต เพราะมักไม่ได้ผล ในทางกลับกันยิ่งกระตุ้นให้ผู้ก่อเหตุตื่นตัวมากขึ้นกว่าเดิม

การเตรียมพร้อมรับมือเหตุกราดยิง

  • ควรรู้เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในเหตุฉุกเฉิน เช่น 191, 1669 หรือโหลดแอปพลิเคชันช่วยเหลือฉุกเฉินอย่าง จส.100 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินในหลายๆ ช่องทาง
  • ควรรับมือการฝึกอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ อบรมการห้ามเลือด อบรมการช่วยชีวิตเบื้องต้น เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
  • ก่อนออกจากบ้านควรชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ให้เต็มและมีแบตเตอรี่กับสายชาร์จสำรองพร้อมใช้เสมอ
  • บอกที่มาและที่ไปพร้อมเวลากลับแก่คนที่บ้านหรือคนใกล้ชิดเสมอ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือในเวลาฉุกเฉินได้

ที่สำคัญในยุคโซเชียล หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์เหตุยิงกันในห้างสรรพสินค้า หรือในที่สาธารณะ ควรหลีกเลี่ยงการ Live การถ่ายคลิปลงช่องทางโซเชียลต่างๆ ที่ทำให้เกิดเสียงจนเป็นจุดสนใจ แต่ควรตั้งสติเพื่อหาทางหลบหนีเอาตัวรอดให้เร็วที่สุด ควรนึกถึงชีวิตของตนเองเป็นสำคัญมากกว่ายอดไลค์ ยอดแชร์ เพราะเหตุการณ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นการเอาตัวรอดที่ดีที่สุดคือการ “มีสติ” เพื่อรับมือกับเรื่องไม่คาดคิดที่มีโอกาสเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวได้เสมอ