ทุกวันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวัน World CarFree Day หรือ วันปลอดรถโลก ซึ่งเริ่มต้นจากแรงผลักดันของคนรากหญ้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลในเรื่องความแออัดของเมือง มลพิษทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์มากเกินไป

แนวคิดเริ่มต้นนั้นเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง นั่นคือข้อเรียกร้องของคนใช้รถ ใช้ถนน ที่ต้องการให้มีการ จัดสรรวันใดวันหนึ่งซึ่งบุคคลและชุมชนจะงดใช้ยานพาหนะส่วนตัวโดยสมัครใจ โดยเลือกใช้รูปแบบการขนส่งที่ยั่งยืนกว่าแทน เช่น การเดิน การขี่จักรยาน หรือการขนส่งสาธารณะ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆของการจัดกิจกรรมครั้งแรกในปี 2000 แต่มีเป้าหมายใหญ่ คือ การปูทางไปสู่เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้น และน่าอยู่มากขึ้น

จากการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม CarFree Day เพียงวันเดียว จากแคมเปญ “In town without my car” ที่ริเริ่มในปารีส ในปี ค.ศ.2005 โดยจัดกิจกรรมปลอดรถยนต์ในวันเดียวพร้อมกันใน 1,500 เมืองทั่วโลก มีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 ล้านคน ทำให้ระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ลดลง 40% มลพิษทางเสียงลดลง 50% ในวันปลอดรถยนต์ที่กำหนด หรือในเมืองที่พลุกพล่านอย่างจาการ์ตา กิจกรรม CarFree Day ที่คล้ายกันส่งผลให้ระดับฝุ่นละออง (PM10) ลดลง 30% และคุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น ไม่รวมถึงในระยะยาวที่พบว่าโรคระบบทางเดินหายใจในเมืองที่มีมลพิษต่ำมีแนวโน้มลดลง และสุขภาพจิตโดยรวมของผู้คนในเมืองดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ผู้คนจะได้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจากการเดินหรือขี่จักรยานด้วย

...

แนวคิด Car Free Day ขยายไปทั่วโลกในหลายเมือง และอาจไม่ได้มีเพียงวันเดียว คือ 22 ก.ย.เท่านั้น แต่ในบางประเทศจัดเป็นกิจกรรมทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ซึ่งกิจกรรมในลักษณะที่ว่านี้ยังไม่มีเป็นทางการในเมืองไทย มีเพียงกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกับทุกประเทศในโลกในวันที่ 22 กันยายนเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยเองก็มีคนและกลุ่มคนที่คิดอยากจะทำกิจกรรม Car Free Day ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่ หลายมากขึ้น

พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ หนึ่งในแม่งานสำคัญของการจัดงาน “เขาใหญ่ คาร์ฟรี เดย์ 2023” หรือวันเขาใหญ่ปลอดรถ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของงานนี้มาจาก พฤฒิ เกิดชูชื่น ประธานโครงการ เขาใหญ่กรีน แอนด์ คลีน และ ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ที่แจ้งต่อที่ประชุมสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า เราจะจัดงาน Car Free Day กันในวันที่ 22 ก.ย.

แต่แรงบันดาลใจสำคัญของคนทำงานน่าจะมาจากภาพที่เรามองเห็นร่วมกัน นั่นก็คือ พื้นที่โดยรอบเขาใหญ่เติบโตขึ้นมากในเชิงของการที่มีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่อาศัย และเข้ามาใช้บริการทั้งบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ดูนก สัตว์ป่า ฯลฯ มากกว่า 1 ล้านคน และเขาใหญ่ถือเป็น “ปอด” ขนาดใหญ่ที่ใกล้กรุงเทพฯ (ที่มีคนอาศัยเกือบ 10 ล้านคน) มากที่สุดแล้ว เขาใหญ่จึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ

“เราก็มาคิดกันว่า ถ้าเขาใหญ่โตเร็วและขยายขอบเขตการเติบโตออกไปเรื่อยๆแบบนี้ จะมีวันไหนบ้างที่ปอด หรือเขาใหญ่ของเราจะได้หยุดพักบ้างอย่างเต็มที่ นอกจากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ช่วงนั้นเขาใหญ่ได้พักฟื้น ธรรมชาติได้ฟื้นตัว สัตว์ป่าได้ออกมาเต้นรำ มีความสุข และในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็มีความสุขเพราะได้มีพื้นที่ที่ได้หายใจ ออกมาเปิดหน้ากากสูดอากาศบริสุทธิ์จากเขาใหญ่ ซึ่งจะว่าไปแล้วช่วง 2-3 ปีนั้น ถึงจะมีโรคระบาดแต่เขาใหญ่ก็ไม่ได้เงียบเหงานัก แค่ไม่พลุกพล่าน จอแจเหมือนเวลาปกติ” พันชนะ หรือเตเต้ เล่า

ในฐานะนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ เตเต้ฉายภาพการจัดการเขาใหญ่ในมิติต่างๆให้ฟังว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามามาก สิ่งที่ต้องจัดการก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่เรื่องการจัดระเบียบ การจราจร การจัดการขยะ สัตว์ป่า เช่นที่เราได้ยินเรื่องช้างออกมานอกพื้นที่อุทยานฯ ปริมาณน้ำ การจัดการให้นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปใช้บริการในพื้นที่อุทยานฯ ปลอดภัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบ ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่งเมื่อเขาใหญ่เติบโตมีพัฒนาการมากขึ้นๆ ย่อมทำให้นักพัฒนาที่ดิน โครงการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร รีสอร์ต สถานที่ท่องเที่ยว ร้านกาแฟ ฯลฯ เข้ามาลงทุนให้บริการกับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของคู่กัน

...

พันชนะบอกว่า ในฐานะที่เราทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ภาคีเครือข่าย ชุมชน ภาครัฐและเอกชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เราอยากจะบอกทุกคนว่า จริงๆแล้ววิสัยทัศน์ของพวกเราที่อยู่กับเขาใหญ่และพึ่งพิงเขาใหญ่ในการทำมาหากิน เราอยากให้เขาใหญ่เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยวิธีการสร้างความเขียวด้วย Green Model เชื่อมต่อกับ ECO SYSTEM อย่างมีกลยุทธ์

“กิจกรรม Car Free Day อาจเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆที่เป็นจุดเริ่มของการทำให้ทุกชีวิตที่เข้ามาที่เขาใหญ่ในวันปลอดรถได้มีโอกาสเดิน วิ่ง ปั่น สูดอากาศเต็มปอด” นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ บอกและว่า ยิ่งไปกว่านั้น เรายังมุ่งหวังว่าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เองจะมี Car Free Zone และถ้าจะฝันให้ใหญ่ขึ้นอีก เราอยากเห็นการจัดการกำหนดเขต Khao Yai Car Free Zone โดยให้ยานพาหนะที่ขึ้นไปบนอุทยานฯจะต้องเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้รถพลังงานไฟฟ้า การใช้รถขนส่งสาธารณะ ฯลฯ สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิง Low Carbon

...

“เราอยากเห็นพื้นที่เขาใหญ่บริเวณด้านล่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับบนอุทยานเป็นพื้นที่ Special Economic Green Zone มีกฎหมายหรือกฎระเบียบพิเศษที่เอื้อต่อนักลงทุนหัวใจสีเขียว และผู้คนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองนี้อย่างเท่าเทียม ด้วยนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้คนมาอยู่แล้วมีความสุขจากอาหารดี อากาศดี อารมณ์ดี ให้สมกับที่เขาใหญ่เป็นหุบเขาแห่งความสุข” พันชนะทิ้งท้าย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม