ปัญหาสภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโลก มนุษย์จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อหยุดยั้งภาวะนี้ให้ลดน้อยลง เพื่อความยั่งยืน ซึ่งในเทรนด์แฟชั่นล่าสุดนี้ได้มีความนิยมใหม่ๆ เพื่อลดโลกร้อนด้วยการทำเสื้อผ้าจากวัสดุเหลือใช้ เช่น ของเหลือจากทะเล และสิ่งมีชีวิตที่รุกล้ำธรรมชาติ
ปัจจุบันได้มี “การพัฒนาวัสดุสิ่งทอ” ที่ใช้ทำเสื้อผ้าให้มีการทดแทนเพิ่มมากขึ้น หลังจากการผลิตเสื้อผ้านั้นเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดปริมาณมากทั่วโลกถึง 10% โดยเสื้อผ้า 1 ตัว ที่ทำการผลิตจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 4 กิโลกรัม
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นทำให้มนุษย์นั้นได้หันมาพัฒนาสิ่งทอใหม่ๆ เข้ามาในวงการเสื้อผ้า และแฟชั่นอยู่เรื่อยๆ โดยวัสดุเหล่านี้จะมาทดแทน ผ้าฝ้าย และโพลีเอสเตอร์ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งโลกจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการชะลอการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมทอผ้าในโลก เริ่มรับรู้ถึงวิกฤติของโลกใบนี้ และมีการรณรงค์การใช้ผ้าที่ไม่ใช้แล้วในอุตสาหกรรม เช่น เศษด้าย เศษผ้า และเสื้อผ้าเก่า นำมาผลิตทำเสื้อผ้ากันอีกครั้ง เป็นการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการลดโลกร้อน และมีการใช้วัสดุทดแทนจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
Aarav Chavda ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของบริษัท “Inversa Leathers” ในปี 2020 เป็นบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการกำจัดสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนประชากรมาก มาทำเป็นเครื่องหนัง หรือผลิตภัณฑ์ทดแทนในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีแนวคิดที่สร้างสมดุล และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทั่วโลก ร่วมกับ Kahan น้องชายของเขา และ Roland Salatino
...
ทั้ง 3 คนนี้ชื่นชอบในกิจกรรมดำน้ำลึก และได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ‘ปลาสิงโต’ ที่มีเพิ่มขึ้นในอ่าวเม็กซิโกอย่างน่าตกใจ และปลาชนิดนี้ (ปลาสิงโต) ได้สร้างความเสียหาย รุกราน กับแนวปะการังซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีผลสำคัญต่อการสร้างออกซิเจนให้แก่โลก โดยค้นพบว่า หนังของปลาสิงโตนั้นมีความยืดหยุ่นและทนทาน สามารถนำมาใช้กับเครื่องหนัง และสิ่งของแฟชั่นได้ “เราพบว่าหนังปลานั้นบาง แต่แข็งแรงมาก และมีความยืดหยุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ” Aarav Chavda ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของ Inversa Leathers กล่าว
จากข้อสังเกตนี้บริษัทจึงได้ระดมทุนกว่า 2 ล้านดอลลาร์ ได้มีการวิจัย และทำงานร่วมกับสหกรณ์ประมงหลายสิบแห่งทั่วแคริบเบียน เพื่อล่าปลาสิงโต โดยการถลกหนัง จัดเก็บด้วยเกลือ แล้วขนส่งไปยังสำนักงานใหญ่ในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา เพื่อทดลองเครื่องหนัง ฟอกผลิตภัณฑ์ ก่อนลองนำมาจำหน่าย ซึ่งผลออกมาไปในทิศทางบวก และสามารถทดแทนเครื่องหนังชนิดอื่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
TômTex อีกหนึ่งบริษัทสตาร์ทอัพด้านวัสดุชีวภาพที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังพัฒนาทางเลือกสำหรับเครื่องหนัง และวัสดุทดแทน โดยใช้เศษหอย และเปลือกหอย ที่มีราคาถูก และเยอะมากตามชายหาดและท้องทะเล, ของเสียจากกุ้ง และของเสียจากปูจากอลาสก้าในทวีปยุโรป และเอเชีย โดยทั้งหมดนี้จะถูกนำมารวบรวมให้เป็นสารไคโตซาน (สารสกัดจากธรรมชาติที่มีในสัตว์กระดองแข็ง และขาเป็นปล้อง นำมาสกัดแยกเอาแคลเซียม โปรตีน และแร่ธาตุที่ไม่ต้องการออก และได้สารสำคัญในการทำวัสดุทดแทนจากธรรมชาติ)
ไคติน รอสส์ แมคบี ผู้ร่วมก่อตั้ง TômTex และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “ของเสียนั้นจะถูกรวมเข้ากับสารเติมแต่ง และเทลงในแม่พิมพ์ที่แห้งแล้ว จะได้วัสดุที่มีความยืดหยุ่น และทนทานพอที่จะเป็นเครื่องหนังทางเลือก และผ้าประเภทใหม่ ที่สามารถใช้ทำกระเป๋าถือ รองเท้า หรือแม้แต่โซฟาได้ โดยมีการระดมทุนในการวิจัย และผลิตไปแล้วกว่า 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
เห็นได้ชัดเจนว่าจากทั้ง 2 บริษัทที่กล่าวไปในข้างต้น เริ่มเล็งเห็นถึงวัสดุทดแทนจากธรรมชาติที่มีทางเลือกให้มนุษย์ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต จากการค้นคว้าและวิจัย ทำให้ปัจจุบันในวงการแฟชั่น เครื่องหนัง หรือเสื้อผ้าที่เราได้สวมใส่ อาจจะมีผลิตภัณฑ์จากหนังปลา หรือ ของเหลือใช้ทางทะเล มาให้มนุษย์เราใช้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต.
ข้อมูล : The Wall Street Journal
ภาพ : istock, inversa.leathers และ tomtex.co