หากเอ่ยถึงชื่อ จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ในแวดวงธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายคนอาจรู้จักเขาดีในฐานะนักธุรกิจและเจ้าของแบรนด์ชื่อดัง แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย ด้วยการเข้าชุบชีวิตโรงหนังลิโด้ในย่านใจกลางสยามสแควร์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในชื่อ Lido Connect
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ชื่อของ “จี๊บ-เทพอาจ” ก็ถูกจับตามองอีกครั้งหลังเข้ามานั่งตำแหน่งซีอีโอและผู้บริหารเต็มตัวของ LOVEiS Entertainment หนึ่งในค่ายเพลงไทยที่ปลุกปั้นศิลปิน T-Pop ชื่อดังประดับวงการเพลงไทย พร้อมกับดูแลค่ายเพลงย่อยในสังกัดที่เต็มไปด้วยศิลปินรุ่นใหม่ต่างเจเนอเรชันอีกมากมาย
ในวันนี้ความท้าทายใหม่ที่ทำให้ชีวิตของเขามีสีสันทั้งในฐานะนักธุรกิจและผู้บริหารก็คือ การดูแลผลิตภัณฑ์ที่มีชีวิต จิตใจ และความรู้สึก บวกกับความอาร์ทิสต์ที่กลายเป็นอีกหนึ่งส่วนผสมของอาชีพที่เราเรียกกันว่า ‘ศิลปิน’ แถมยังมีเรื่องของ Generation Gap ที่เป็นความแตกต่างระหว่างวัยเข้ามาเป็นโจทย์สำคัญ
สัมภาษณ์ “จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์” ผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS Entertainment
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ซีอีโอแห่ง LOVEiS Entertainment ในวันที่มานั่งแท่นผู้บริหารค่ายเพลงและดูแลศิลปินต่างเจเนอเรชันในสังกัด พร้อมมุมมองในการรับมือกับทุกความท้าทายที่เขาเชื่อมั่นเสมอว่า...ชีวิตไม่มีทางตัน
...
เป็นอย่างไรบ้างหลังเข้ามานั่งตำแหน่งผู้บริหารค่ายเพลง LOVEiS ได้ระยะหนึ่งแล้ว
สนุกดีนะ ที่สำคัญคือเราได้คุยกับน้องๆ ได้ทำงานร่วมกับเด็กๆ จากสมัยก่อนที่เคยทำงานกับผู้ใหญ่ แต่พอเข้ามาดูแล LOVEiS แบบเต็มตัว ได้เจอเด็กอายุน้อย 10 ขวบกว่าๆ จะว่าไปแล้วพวกเขาก็ทำให้ชีวิตเรามีสีสันมากขึ้นนะครับ
ก่อนหน้านี้คุณมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาเยอะมากก็จริง แต่สำหรับโปรดักต์ (Product) ที่ LOVEiS ต้องบริหารดูแลนั้นเป็น ‘คน’ แถมมีความเป็นอาร์ทิสต์ด้วย ยากไหมที่ต้องรับมือ
ผมมองว่ามันเป็นเรื่องท้าทายมากกว่า ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือโปรดักต์ของ LOVEiS มีชีวิต แถมยังเป็นศิลปินด้วย ความท้าทายยิ่งต้องคูณสองคูณสามเข้าไปเลย แต่กลับทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าถ้าเราทำงานร่วมกับพวกเขาได้ เราก็ไม่ต้องกลัวที่จะทำงานร่วมกับใครอีกแล้ว เพราะคนที่เป็นศิลปิน (Artist) น่าจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง และมีบุคลิกเฉพาะตัวที่สื่อถึงความเป็นตัวเองสูงมากด้วย บางคนอาจมีช่วงเวลาที่เขาเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ซึ่งในโปรดักต์ที่ไม่มีชีวิตจะไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก หรือตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้
คนที่จะเข้ามาเป็นศิลปินในเครือ LOVEiS Entertainment ควรมีบุคลิกแบบไหน หรือมีความโดดเด่นอย่างไร
แน่นอนว่าคนที่จะมาเป็นศิลปินได้ต้องมีความสามารถในการร้องเพลงอยู่แล้ว เทคนิคและสไตล์การร้องของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันออกไป แต่นอกเหนือจากเรื่องความสามารถ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ทัศนคติ’ มันสำคัญกับเรามากๆ เพื่อปรับจูนให้ตรงกันทั้งเราและเขา ไม่อย่างนั้นก็จะทำกันแบบไม่มีความสุข
รากฐานของ LOVEiS เป็นองค์กรที่มีความเป็นครอบครัวสูง แต่ก็ไม่ได้สูงมากไปกว่าความเป็นมืออาชีพ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาในองค์กรต้องเข้าใจเรื่องนี้ว่าแม้เราจะสังสรรค์กันแบบสนุกสนาน แต่พอถึงจังหวะทำงาน ก็ต้องเปลี่ยนโหมดเป็นจริงจัง โดนดุ โดนด่า โดนวิจารณ์ ถือเป็นเรื่องปกตินะ พูดตักเตือนกันได้ แต่เมื่อพูดแล้วเรายังรักกันเหมือนเดิม เราไม่ได้ตำหนิกันด้วยความโกรธ แต่เราลงโทษเพราะมีเรื่องผิดที่ต้องปรับปรุงจริงๆ เกิดขึ้น
แสดงว่าในโหมดของการทำงาน คุณเป็นคนดุใช่ไหม
ถ้าเป็นที่ทำงานเก่าหรือสมัยก่อนก็แน่นอน (หัวเราะ) เวลาผมเดินไปไหน กลุ่มเด็กๆ ก็จะหลบกันเป็นทะเลแหวกเลย แต่ที่ LOVEiS ผมจะดูแลงานหลังบ้านเสียมากกว่า หมายความว่าผมจะมีหน้าที่พูดคุยกับศิลปินถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเขา ช่วงนี้เป็นยังไง ชีวิตส่วนตัวดีไหม ช่วยเตือนในหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งอย่านั่งมอเตอร์ไซค์บ่อยนะ อันตราย ใครเจ็บป่วยไม่สบาย ผมให้คำแนะนำเรื่องหมอ วันไหนว่างๆ ชวนกันไปกินไอศกรีม จริงๆ ผมไม่เหมือนผู้บริหารเลยนะ เพราะเราชอบไปทำตัวสนิทกับพวกเขา (หัวเราะ)
ศิลปินที่มีอายุน้อยที่สุดของ LOVEiS
น่าจะประมาณ 15 ปี เพราะเรามีระบบการเทรนและฝึกซ้อมศิลปินก่อนเดบิวต์ด้วย บางคนเก่งอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะส่งไปเรียนเสริมเรื่องอื่นๆ เช่น เรียนเต้น, เรียนการแสดง, เทคนิคการร้องเพลงแบบรักษาเส้นเสียง รวมไปถึงเรียนเรื่องบุคลิกภาพ ขยับตัวเคลื่อนไหวบนเวทีอย่างไรให้มีเสน่ห์ ซึ่งผมจะดูแลภาพรวมทั้งหมดของศิลปิน
ยากไหมที่ต้องทำงานร่วมกับวัยรุ่นที่อายุยังน้อย มีปรับตัวเข้าหาพวกเขาอย่างไร
...
ลูกคนโตของผมอายุ 15 ปี ผมคิดว่าก่อนที่จะมาเข้าใจลูกในวัยนี้ได้ ผมต้องสามารถเข้าใจน้องๆ ศิลปินวัยรุ่นในค่ายให้ได้ก่อน ผมก็ใช้พวกนี้แหละเป็นเครื่องมือในการฝึกเข้าหาลูก (หัวเราะ) บอกหน่อยสิว่าตอนนี้วัยรุ่นกำลังฮิตเทรนด์อะไรอยู่ เขาเล่นโซเชียลมีเดียอะไรกัน ชุดความคิดเขาเป็นแบบไหน ถ้าเทียบผมกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันในเรื่องโลกออนไลน์นะ ผมยังไปได้อีก รุ่นผมบางคนเล่นแต่ Facebook ไม่รู้จักแล้วว่า TikTok คืออะไร แต่พอเราได้ทำงานกับเด็กๆ เราอยากรู้อะไรก็ถามเขาได้เลย น้องๆ ชวนไปถ่ายคลิปร้องเพลงลง YouTube อันไหนน่าสนใจผมไปร่วมหมดแหละ
วิธีรับมือกับ ‘Generation Gap’ หรือความแตกต่างระหว่างวัย เมื่อบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา อาจไม่ใช่ปัญหาของวัยเราอีกต่อไป
วิธีที่ง่ายมากที่สุดเลยก็คือ เราต้อง respect หรือเคารพตัวเขาจริงๆ ผู้ใหญ่หลายคนทุกวันนี้ชอบ ‘ทำเป็นเชื่อ’ แต่ลึกๆ แล้วคุณไม่เข้าใจเขาเลย เด็กรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง เพราะเขาได้รับชุดข้อมูลความรู้ต่างๆ เยอะมาก ถ้าเราอยากให้เด็กเคารพคุณ คุณก็ต้องเคารพพวกเขาด้วย
เมื่อเราเชื่อในตัวพวกเขาแล้ว บางครั้งเราก็จะอนุญาตให้เขาลองทำดู ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าผลลัพธ์อาจออกมาไม่สมบูรณ์มากนักในสายตาของคนเจเนอเรชันเรา แต่ผมคิดว่าต้องให้เขาได้ลองผิดลองถูก ได้ลองผิดพลาดภายในกรอบที่เรายังรับผิดชอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ แล้วมาสอนหรือเรียนรู้กันทีหลัง
แต่บางครั้งพอน้องๆ ได้ทดลองทำบางโปรเจกต์ เฮ้ย! มันออกมาดีว่ะ กลายเป็นเราที่คิดผิดเสียเองก็มีนะ ซึ่งทำให้เราได้เห็นทางออกใหม่ๆ ที่คนรุ่นเราคิดไม่ถึงก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องลองปล่อยให้เขาทำบ้างเถอะ
...
LOVEiS คิดอย่างไรที่ส่งศิลปินไปเป็นผู้บริหารค่ายเพลงย่อยในสังกัด
แต่ละค่ายมีแนวเพลงที่แตกต่างกัน เราเลยคิดว่าแยกย่อยเป็นค่ายไปเลยดีกว่า แล้วจะให้ใครไปดูแลล่ะ? ก็ส่งศิลปินของเรานี่แหละไปดูแลบริหาร เหมือนเป็นวางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ให้พวกเขาด้วย เพราะคนที่เคยเป็นศิลปินมาก่อน เขาจะเข้าใจทุกเรื่องในมุมศิลปินแล้ว ตรงไหนเหลือ ตรงไหนขาด การที่เข้าไปเป็นผู้บริหารค่ายเพลงเอง พวกเขาจะรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ประโยชน์ต่างๆ ไปถึงตัวศิลปินมากที่สุด
ส่วนที่เหลือเราก็มาฝึกกันเรื่องการบริหารเวลาและมาร์เก็ตติ้ง ผมจะคอยให้คำปรึกษา บางคนกลับมาคุยกับผมว่า “พี่จี๊บ วันนี้ผมเข้าใจพี่แล้ว รู้แล้วว่าทำไมตอนนั้นเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้” เหมือนเป็นการสอนเขาอย่างหนึ่งให้ได้เข้าใจมุมมองทั้ง 2 ด้าน ทั้งฝั่งศิลปินที่มุ่งมั่นทำแค่เพลง กับฝั่งผู้บริหารที่มันมีปัจจัยอื่นๆ ให้ต้องดูแล ทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับสไตล์เฉพาะตัวของแต่ละค่ายเพลง
การปั้นแบรนด์ศิลปินและเพลงให้ติดตลาดในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับบางเพลงที่เตรียมจะปล่อย ลึกๆ แล้วคุณเคยมีความรู้สึกเชื่อมั่นในใจไหมว่า “เพลงนี้ดังชัวร์”
ทุกวันนี้เพลงมีจำนวนเยอะมากๆ แต่มันอยู่ในช่องทางที่จำกัด ผมคิดว่าภายใน 1 วันมีคนปล่อยเพลงใหม่ๆ ทั่วโลกหลายเพลงเลยนะ แน่นอนว่าตัวเลือกของผู้ฟังมันเยอะเหลือเกิน การที่คุณจะทำเพลงให้ดังเปรี้ยงปร้างได้นั้น ผมบอกเลยว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ไม่มีใครสามารถดีดนิ้วว่าเพลงนี้ดังแน่ แต่ก็อาจจะประเมินได้นิดๆ เฮ้ย! ฟังแล้วใช่ว่ะ! แต่ถ้ายังไม่ปล่อยเพลงออกไป ก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยัน ถึงแม้ว่าในใจเราอาจจะคิดว่า “เพลงนี้แม่งได้” ซึ่งขอเรียกมันว่าคาดหวังดีกว่า
...
ย้อนกลับไปตอนที่ปล่อยเพลง “ถ้าเขาจะรัก (ยืนเฉยๆเขาก็รัก)” ของ First Anuwat ตอนนั้น ปาล์ม (ปวีร์ ปรีชาวีรกุล) กับ พัด (วรภัทร วงศ์สุคนธ์) ศิลปินวง MEAN ที่มาเป็นผู้บริหารค่าย marr ถึงกับน้ำตาซึมเลยในสัปดาห์แรกที่ปล่อยเพลง ผมเลยบอกว่าใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป เราเพิ่งทำค่ายแล้วปล่อยเพลงแรก แต่ปรากฏผ่านไปอีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ อยู่ๆ เพลงนี้ก็ดังไวรัลขึ้นมาเลย ทุกคนมีความสุข ยิ้มดีใจ มีแรงทำเพลงต่อไป นี่แหละบางครั้งก็ต้องรอจังหวะของมัน
ในเมื่อมีเพลงปล่อยออกมาเยอะมากผ่านช่องทางที่จำกัด แล้วคิดว่าจุดแข็งในการทำเพลงของ LOVEiS คืออะไร ที่ยังคงทำให้เพลงของค่ายนี้ยืนอยู่แนวหน้าของชาร์ตเพลงได้
เราไม่ได้ชูแค่เพลง แต่เรามีฟังก์ชันอย่างอื่นที่จะนำเสนอตัวศิลปินออกมาให้แฟนๆ ได้เห็นในมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การร้องเพลงด้วย มันมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีทีมงานที่แข็งแกร่งมาทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนในส่วนนี้
ปัญหาน่าเห็นใจอย่างหนึ่งของศิลปินสมัยนี้คือ พอเพลงดัง ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง คนรู้จักหมด แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้อง บางทีเจ้าของเพลงเดินผ่านไปมา แต่คนยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นการทำให้คนฟังเห็นหน้าศิลปินถือเป็นเรื่องสำคัญ เราเลยต้องทำคอนเทนต์บน YouTube หรือมีรายการต่างๆ ที่ทำให้แฟนๆ ได้รู้จักศิลปินมากขึ้น
เคล็ดลับในการปั้น “นนท์-ธนนท์” ศิลปินแม่เหล็กของ LOVEiS เจ้าพ่อคอนเสิร์ตบัตร sold out
โห...ต้องบอกเลยว่านนท์เขาเก่งอยู่แล้ว เขาจะเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการจัดคอนเสิร์ตทุกครั้ง แน่นอนว่าเขามีประสบการณ์เรื่องเพลงแล้ว ไม่ต้องกังวลเลย ส่วนที่เหลือค่ายจะช่วยดูแลให้ การทำคอนเสิร์ตแต่ละครั้งมีหลายเรื่องให้ต้องดูแลจัดการ ทำเวทีให้ออกมาสวยงาม สร้างโชว์ให้น่าประทับใจ นนท์เขาจะบอกเสมอว่าชอบอะไร อยากให้มีเพิ่มอะไร เราก็มาคุยกันเพื่อหาเส้นตรงกลางของทุกฝ่าย
ในหลายๆ ครั้งคุณได้เข้ามาสานต่อธุรกิจในช่วงวิกฤติ แม้แต่ LOVEiS เองที่ต้องก้าวข้ามยุคเปลี่ยนผ่าน และฝ่าฟันช่วงระบาดของโควิด-19 คุณมีวิธีคิดหรือมุมมองต่อวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งในแง่ธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
ผมคิดเสมอว่าไม่มีทางตัน ไม่ว่าอะไรก็ตาม ผมทำงานมาระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้ผ่านอะไรมาเยอะเท่ากับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านในวงการ ผมเคยเจอเส้นทางที่โหดร้าย ที่เหมือนจะตันมาหลายๆ ครั้งในชีวิต แต่สุดท้ายมันก็ไม่ตันสักที ขึ้นอยู่กับสติเรา ถ้าเราคิดว่ามันตัน มันก็จะตัน ถ้าคิดว่าไม่ มันก็จะไม่ตัน
เราอาจยอมเลี้ยวหน่อย ยอมอ้อมบ้าง ทุกเส้นทางมันมีความหมายหมด ซึ่งมันอาจจะพาเราไปถึงจุดนั้นช้าหรือเร็วกว่ากำหนดก็ได้ บางครั้งก็ไปถึงแบบสบายใจ แต่บางครั้งก็ไปถึงแบบสะบักสะบอม มีบาดแผล มีความเจ็บปวด แต่ขออย่างเดียว…“ต้องไม่คิดว่าชีวิตมันตัน ทุกอย่างมีทางออกเสมอ”
คุณมักพูดเสมอว่าไม่ชอบการนิยามคำว่า “ความสำเร็จ”
ผมไม่ชอบการพูดถึงความสำเร็จสักเท่าไหร่ เพราะความสำเร็จเหมือนบันไดขึ้นไปบนฟ้า มองขึ้นไปแล้วมันสูงทะลุเมฆ ไม่รู้ว่าเราจะเดินขึ้นไปได้แค่ไหน รู้สึกว่าชีวิตยังมีอะไรให้อยากทำอีกเต็มไปหมด
ชีวิตเคยอยู่ในจุดที่รู้สึกว่า ‘สุดโต่ง’ ที่สุดบ้างไหม
(นิ่งคิด) ตอนอายุประมาณ 40 ปี ผมเคยคิดจะเทขายทั้งหมดทุกอย่างที่มีนะ เคยมีคนมาขอซื้อด้วย แต่สุดท้ายผมได้พูดคุยปรึกษากับภรรยา ผมบอกไปว่าจะได้เกษียณเลยทีนี้ ลูกเรามีที่เรียนแน่แล้ว เรามีข้าวกินชัวร์ถ้าขายทั้งหมดนี้ไปแล้ว ฉันไม่ต้องทำงานอีกแล้ว เราจะอยู่แบบสบายๆ เลย (หัวเราะ) เธอกับฉันจะได้ไปเที่ยวกัน
พอพูดจบ ภรรยาผมก็หัวเราะแล้วบอกว่า “พนันไหมล่ะ ถ้าเธอขายวันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้เธอก็เริ่มโปรเจกต์ใหม่อีก ก็คนอย่างเธอมันเป็นอย่างนี้แหละ” เออจริงว่ะ เพราะถ้าขายไปแล้วได้เงินกลับมาด้วย ทีนี้ก็ยิ่งสนุกใหญ่เลย เอาไปทำอย่างอื่นต่ออีก
ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่อยากลุยต่อไหม หรือมีเรื่องไหนที่ยังไม่ได้ทำอีกบ้าง
ตอนนี้ผมเริ่มทำไปอย่างหนึ่งแล้ว คือการเปิดมูลนิธิ LOVEiS Music Foundation ผมรู้สึกว่าการเข้าถึงดนตรีสำหรับเด็กไทยมันยากและแพง ถ้าจะรอให้ง่าย ถูก และฟรี เด็กบางคนอาจไม่ได้มีกำลังทุนทรัพย์พอ ผมให้ความสำคัญกับโอกาส เพราะเราได้รับโอกาสมาเยอะ สมมติได้มา 10 ครั้ง ผมอาจปล่อยไปสัก 1 ครั้ง เพราะเรื่องเวลาอาจไม่ได้จริงๆ
พออายุเท่านี้ก็ค้นพบว่ายังมีอาชีพที่อยากทำ แต่มันทำไม่ได้แล้ว ก็คืออยากเป็นหมอ อยากเป็นสถาปนิก บังเอิญเราไม่ได้เรียนมาด้านนี้ เพิ่งมารู้ตัวตอนโต จะว่าไปนี่คือข้อเสียของระบบการศึกษาเหมือนกันนะ
คุณดูเป็นคนชอบทำงานและมีกิจกรรมเยอะมาก อยากรู้ว่ามีงานอดิเรกไหม หรือแบ่งเวลาส่วนตัวให้ลูกๆ อย่างไร
ในทุกสัปดาห์ผมจะมีวันที่ล็อกไว้ประจำเพื่อเตะฟุตบอล ตอนเด็กๆ ผมมี Tottenham Hotspur เป็นทีมโปรด พอโตขึ้นมาก็ชอบ Manchester United เพราะชอบ Eric Cantona นอกจากนั้นผมก็ไปร้องเพลงที่ผับ เน้นร้องเอาสนุก ไม่รับงานจ้าง เพราะเดี๋ยวคนดูคาดหวัง (หัวเราะ)
สมัยก่อนผมบ้าทำงานมาก สัปดาห์ละ 7 วัน แต่มีช่วงที่คุยกับลูกคนเล็กสมัยที่เขาอายุ 2 ขวบไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร แต่คนที่เข้าใจคือพี่เลี้ยง มันทำให้ผมรู้สึกอะไรบางอย่าง วันนั้นตัดสินใจโทรเข้าบอกเลขาฯ ว่าต่อไปนี้ไม่รับงานช่วงค่ำ เพราะผมต้องกลับบ้านไปกินข้าวและอยู่กับลูกให้มากขึ้น
เมื่อสรุปรวมทุกอย่างที่ทำให้คุณเป็น “จี๊บ-เทพอาจ” อย่างในวันนี้ คิดว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นความสุขสูงสุดในชีวิต
ครอบครัว (ตอบทันที) ผมมีทั้งครอบครัวที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข และครอบครัวที่เราได้รับจากการทำงาน ผมมีความสุขกับตรงนี้นะ ทุกวันนี้ผมมีคนในครอบครัวทั้งหมด 1,000 กว่าคน ไม่ใช่แค่ LOVEiS แต่รวมพนักงานทั้งหมดในทุกเครือ
ในส่วนของ LOVEiS ผมนิยามว่าคือองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างและมอบความสุขให้กับผู้คน ซึ่งเบื้องหลังแล้ว ศิลปินทุกคนก็เป็นคนธรรมดาที่มีหัวใจและความรู้สึก บางคนทะเลาะกับแฟนมา หรือโดนด่าบนทวิตเตอร์ แล้วโทรมาหาผมร้องไห้ตอนตี 2 ตี 3
“ผมมีความสุขที่ได้เห็นพวกเขาเติบโตและเห็นเขาบาดเจ็บทางอารมณ์ จะได้รู้ว่าเป็นธรรมดาที่ชีวิตคนเราไม่ได้ราบรื่น แต่เชื่อเถอะ...มันจะมีทางออกเสมอ”
เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม