เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) หลักปรัชญาที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในทางสายกลาง ผ่านหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ไทยรัฐออนไลน์รวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร พร้อมยกตัวอย่างการปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้างมาฝาก

เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร

เศรษฐกิจพอเพียง คือ หลักการดำเนินชีวิตโดยยึดแนวทางสายกลาง อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน หรือประเทศชาติ ให้สามารถรับมือได้กับทุกการเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

ตามพระราชดำริของพระองค์ จึงเกิดเป็น “เศรษฐกิจพอเพียง” แนวทางการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงมีหลักเศรษฐกิจพอเพียงง่ายๆ ให้ได้ปฏิบัติตาม เพื่อให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีได้

รู้จัก "เศรษฐกิจพอเพียง" มีอะไรบ้าง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5 ข้อ หรือที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข” จะช่วยเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงได้ทุกระดับ ดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 

  • ความพอประมาณ คือ การเดินทางสายกลาง ที่ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป 
  • ความมีเหตุผล คือ การดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงเหตุผล ความเกี่ยวข้อง และความจำเป็น
  • การมีภูมิคุ้มกัน คือ การตื่นรู้ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และรูปแบบต่างๆ

...

เศรษฐกิจพอเพียง 2 เงื่อนไข

  • เงื่อนไขความรู้ คือ การสร้างองค์ความรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเตรียมวางแผนการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • เงื่อนไขคุณธรรม คือ หลักคุณธรรมที่ควรยึดถือไว้เสมอ ขณะดำเนินชีวิตประจำวันตามทางสายกลาง 

หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการทำเกษตร

นอกจากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีการนำมาปรับใช้กับการทำเกษตรกรรมร่วมด้วย เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ป้องกันปัญหาฝนแล้ง ปัญหาปลูกพืชชนิดเดียว ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และอื่นๆ

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เริ่มแรกให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  • 30% แบ่งไว้สำหรับจัดสร้างแหล่งน้ำ ขุดสระ สำหรับใช้ปลูกพืชผลในช่วงฤดูแล้ง
  • 30% แบ่งไว้สำหรับปลูกข้าว เพื่อเก็บไว้หุงกินภายในครอบครัว หากเหลือให้นำไปขายต่อ
  • 30% แบ่งไว้ปลูกพืชและผลไม้อื่นๆ เช่น มะม่วง มะพร้าว สมุนไพร ผักสวนครัว 
  • 10% แบ่งไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ 

ในขั้นต่อมาจากนั้นรวมกลุ่มหรือสหกรณ์ชุมชน เพื่อสร้างดุลอำนาจการค้ากับพ่อค้าคนกลาง โดยจะต้องวางแผนและปรึกษาหารือกันตั้งแต่การผลิต การส่งขาย สวัสดิการในการรวมกลุ่ม รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในกลุ่มและคนในชุมชน

ขั้นสุดท้าย เมื่อกลุ่มมีความเข้มแข็งและมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น อาจเริ่มสร้างเครือข่ายที่มั่นคงมากขึ้น ผ่านการจัดหาทุน ติดต่อกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เพื่อสร้างรายได้และผลประโยชน์ที่มั่นคงต่อไป

เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างง่ายๆ ทำตามได้

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคน โดยอาจเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น 

  • ประหยัดอดออม จัดสรรเงินแบ่งเก็บไว้สำหรับเรื่องจำเป็น
  • หมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับการทำงานหรือวางแผนใช้ชีวิต
  • การรับประทานอาหารให้หมดในแต่ละมื้อ
  • การปลูกพืชผักสวนครัวไว้สำหรับทำอาหารในครอบครัว หากเหลือให้นำไปขาย
  • การวางแผนทางการเงิน บันทึกรายรับ รายจ่ายเสมอ
  • พกกระบอกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวไว้ ลดการใช้ขวดพลาสติกและช่วยลดโลกร้อน
  • คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้งานและความคุ้มค่าก่อนซื้อสินค้าเสมอ

...

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตโดยทางสายกลาง ที่อยู่คู่สังคมไทยมานานกว่า 40 ปี แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคงนำมาประยุกต์ปรับใช้ตามรูปแบบการดำรงชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ตามความเหมาะสม