ประวัติของ เพชร โอสถานุเคราะห์ อดีตนักร้องชื่อดังเจ้าของเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) และอดีตผู้บริหารบริษัทโอสถสภา มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
ประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์
เพชร โอสถานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2497 อายุ 69 ปี เป็นบุตรชายของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาดจาก Southern Illinois University สหรัฐอเมริกา สมรสกับ อ.นฤมล โอสถานุเคราะห์ มีบุตรชาย 2 คน คือ คุณภูรี และ คุณภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์
จากข้อมูลของ Forbes Thailand เผยว่าเขาเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของกิจการโอสถสภาที่เริ่มต้นทำกิจการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จากการเป็นธุรกิจร้านขายยา และได้ต่อยอดธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังจนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
เพชร โอสถานุเคราะห์ เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้นำทัพปรับโฉมองค์กรและนำโอสถสภาเข้าตลาดหุ้น และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างกรรมการและผู้บริหารได้แก่ เป็นหลานของนายสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ เป็นพี่ของนายรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นลูกพี่ลูกน้องของนายนิติ โอสถานุเคราะห์ เป็นลูกพี่ลูกน้องของนายธนา ไชยประสิทธิ์ เป็นลูกพี่ลูกน้องของนายประธาน ไชยประสิทธิ์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายธัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์
เขาเป็นผู้ก่อตั้งเอเจนซี่โฆษณา Spa Advertising (ปัจจุบันคือ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด) และก่อตั้งนิตยสารผู้หญิงรวมถึงรายการโทรทัศน์ผู้หญิงวันนี้ ที่โด่งดังในยุค 80-90 ปัจจุบัน เพชร โอสถานุเคราะห์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท ชิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด และอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
...
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก่อตั้งโดยครอบครัวของเขามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนไทยเทคนิค” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยไทยเทคนิค” และเพื่อความเหมาะสมที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยกรุงเทพ” (Bangkok College) ในปี พ.ศ. 2508 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” (Bangkok University)
ในช่วงที่เขาทำหน้าที่อธิการบดีได้เป็นผู้ให้นิยาม “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์” พร้อมทั้งสร้างแลนด์มาร์กอย่าง BU Diamond หรือ ตึกเพชร ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมองเห็นวิกฤติ Education Disruption เพื่อเป็นการศึกษาแบบไร้พรมแดน อีกทั้งต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้ตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของเด็กเจเนอเรชัน Z ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวกันขนานใหญ่
ดังนั้นเขาจึงได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการยกเครื่องรูปแบบการเรียนการสอนทั้งระบบ เช่น การเปิดสาขาวิชาใหม่ๆ ที่ตอบรับโลกยุคดิจิทัล อาทิ หลักสูตรเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ, การผลิตสื่อนวัตกรรม, การผลิตอีเวนต์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม, การตลาดดิจิทัล, การวางแผนการเงินและการลงทุน ฯลฯ โดยมุ่งสร้าง “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ผู้พัฒนาขีดความสามารถให้เหนือกว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งยังเป็นผู้นำประกาศจุดยืนว่า “โลกเปลี่ยน การศึกษาต้องเปลี่ยน”
นอกจากในมุมของการเป็นผู้บริหารและทายาทโอสถสภาแล้ว เพชร โอสถานุเคราะห์ ยังเคยมีผลงานเพลงในปี พ.ศ. 2530 จนเป็นที่โด่งดังถึงปัจจุบันอย่างเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ที่อยู่ในอัลบั้มแรกชื่อ “ธรรมดา ... มันเป็นเรื่องธรรมดา” รวมทั้งเคยมีผลงานแต่งเพลง “หมื่นฟาเรนไฮต์” ให้กับวงไมโครอีกด้วย
ด้านไลฟ์สไตล์ของเขายังเป็นคนชื่นชอบงานศิลป์โดยเฉพาะงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) โดยกำลังทำโครงการด้านศิลปะวัฒนธรรมและการศึกษาที่มีชื่อว่า “โครงการ Dib Bangkok” หรือ Dib Bangkok Museum of Contemporary Art ที่มีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานของวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาของประเทศต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง : บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยกรุงเทพ