เปิดรายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าระบบรางเดียว (Monorail) สายล่าสุด โครงการเริ่มก่อสร้างเมื่อไร เปิดให้ทดลอง และบริการวันไหน หลังรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้มีการทดสอบ และตรวจการเดินรถโดยนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่มีการเปิดให้ทดลองนั่งรถไฟฟ้าระบบรางเดียว (Monorail) ‘สายสีเหลือง’ เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ทั้งหมด 23 สถานี เป็นที่เรียบร้อย เมื่อช่วงตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2566 - วันที่ 2 ก.ค. 2566  (ทดลองนั่งฟรี) และเปิดบริการอย่างเป็นทางการ 3 ก.ค. 2566 อัตราค่าโดยสารที่ 15-45 บาท

ล่าสุดได้มีการประกาศจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเปิดให้บริการทดลองนั่งรถไฟฟ้าระบบรางเดียว (Monorail) ‘สายสีชมพู’ หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า รถไฟฟ้าสายนมเย็น สายแคราย-มีนบุรี ในวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีกำหนดในการตรวจสอบ ร่วมทดสอบการเดินรถ และความพร้อมก่อนใช้งานจริง สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู 

ข้อมูลของรถไฟฟ้าสายสีชมพู (นมเย็น)

รายละเอียดรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน : มีทั้งหมด 4 ตู้เรียงเป็น A-C-B-D เป็นรุ่น Innovia Monorail 300 โดยบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก โดย Bombardier Rail Control Solutions ซึ่งเป็นผู้ผลิตเดียวกันกับ BTS และ MRT

  • ตู้ A และ D เป็นตู้หัว-ท้าย มีทั้งหมด 14 ที่นั่ง 
  • ตู้ C และ B เป็นตู้ตรงกลาง มีทั้งหมด 16 ที่นั่ง
  • รถไฟฟ้าสายสีชมพูไม่มีที่ยืนพิง
  • 2 โบกี้นี้มีการขับเคลื่อนด้วยล้อยางทั้งหมด 8 ตัว (ชุดขับเคลื่อน และชุดล้อ) ประกอบด้วย Load Tire 2 ตัวต่อโบกี้ และ Guide Tire 6 ตัวต่อโบกี้
  • ควบคุมอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม
  • ความกว้าง 3.124 เมตร
  • ความยาว 50.474 เมตร
  • ความสูง 4.053 เมตร

...

ซึ่งรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูนี้เป็นรุ่นเดียวกันรถไฟฟ้าโมโนเรล 4 ประเทศดังนี้ บราซิล, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์ และจีน

รถไฟฟ้าสายสีชมพู (นมเย็น) เริ่มก่อสร้างเมื่อไร

รถไฟฟ้ามหานคร ลักษณะรางเดียว หรือที่เรียกว่า รถไฟฟ้าโมโนเรล ทั้ง 2 สาย อย่าง สายสีเหลือง และสายสีชมพู เป็นโครงการที่ดูแลโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเริ่มโครงการก่อสร้างหลังจากผ่านมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 มีนาคม 2559 

จากสถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักจากในปีถัดไป และมีการดำเนินงานต่อในปี พ.ศ.2563-พ.ศ.2565 จนทำให้ประชาชนได้เริ่มใช้งานเป็นรถไฟฟ้า ‘สายสีเหลือง’ เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นลำดับแรก ด้วยงบประมาณการลงทุน 53,490 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และมีเวลาดำเนินกิจการเดินรถ 30 ปี

รถไฟฟ้าสายสีชมพู (นมเย็น) เปิดให้บริการเมื่อไร

กำหนดการเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 28 ก.ย. 2565 โดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ได้ขอขยายระยะเวลาจำนวน 290 วัน เป็นครั้งที่ 2 ครบกำหนดวันที่ 15 ก.ค. 2566 เนื่องมาจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า ในช่วงปลายปี 2566 และครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดที่เดือนสิงหาคม 2567 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ทาง NBM เสนอขอขยายเวลาก่อสร้างประมาณ 400 วัน ถูกพิจารณาโดย รฟม.ให้เหลือ 345 วัน ตามความเหมาะสม ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2567 และคาดว่าจะเปิดใช้บริการในปีดังกล่าว

ส่วนต่อขยายเส้นทางเมืองทองธานี ที่มีกำหนดเปิดปีใช้บริการในปี 2568 ผู้ใช้บริการสามารถติดตามกำหนดวันที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ข้อมูล : โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (รฟม.)