ขยะอาหาร หรือ Food waste เป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า หากไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำร้ายโลก ควรลดพฤติกรรมสร้างขยะอาหารให้มากที่สุด

ขยะอาหาร คือ อาหารที่เหลือทิ้งจากมื้ออาหารในแต่ละวัน ทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร อุตสาหกรรมผลิตอาหาร รวมถึงเศษอาหารที่ถูกกำจัดออกจากกระบวนการเกษตรกรรม การขนส่งผลิตภัณฑ์อาหารสู่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ก่อนถึงมือผู้บริโภค

สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่อยู่ปลายน้ำอย่างพวกเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างขยะอาหารในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนไทยสร้างขยะอาหารมากถึงคนละ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงทำให้กลายเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยพฤติกรรมต่อไปนี้คือสิ่งที่ทำให้เราสร้างขยะอาหารได้โดยไม่รู้ตัว

พฤติกรรมแบบไหนสร้างขยะอาหาร

1. ไม่วางแผนในการเลือกซื้ออาหาร

การไม่วางแผนในการเลือกซื้ออาหาร ก็อาจจะทำให้เราซื้อวัตถุดิบอาหารมามากเกินความจำเป็น จนในบางครั้งเราก็ใช้วัตถุดิบเหล่านั้นไม่หมดทำให้เกิดการเน่าเสียจนจำเป็นต้องทิ้งไป

2. ไม่ดูวันหมดอายุก่อนซื้อ

การเลือกซื้อวัตถุดิบในแต่ละครั้งเราจำเป็นจะต้องต้องเช็ก BBF (Best Before) และ EXP (Expiration dates) เพื่อที่เราจะได้วางแผนในการใช้วัตถุดิบให้ทันเวลาก่อนจะหมดอายุ

การเช็กวันหมดอายุก่อนซื้อก็ช่วยลดการสร้างขยะอาหารในครัวเรือนได้
การเช็กวันหมดอายุก่อนซื้อก็ช่วยลดการสร้างขยะอาหารในครัวเรือนได้

...

3. กักตุนอาหารมากเกินความจำเป็น

ผลมาจากการซื้อวัตถุดิบเกินความจำเป็น หากเราซื้อวัตถุดิบมากักตุนไว้นานมากเกินไป อาจจะทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นหมดอายุ และเน่าเสีย หรือขึ้นรา จนไม่สามารถนำมากินต่อได้ สุดท้ายก็กลายเป็นขยะอาหาร

4. กินอาหารไม่หมด

พฤติกรรมการกินอาหารของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป บางคนเลือกกินอาหารเฉพาะที่อยากกิน แต่บางคนก็ซื้ออาหารมากินในจำนวนที่มากเกินไปจนกินไม่หมด ก็จะทำให้เกิดขยะอาหารตามมาแบบเลี่ยงไม่ได้

5. การเก็บรักษาที่ผิดวิธี

การเก็บรักษาอาหารถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นการยืดอายุของอาหารให้นานขึ้น ส่วนใหญ่มีวิธีการเก็บรักษาที่ต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ

พฤติกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เรามักทำเป็นประจำจนลืมคิดไปว่าทำให้เกิดเป็นขยะอาหารแล้วส่งผลกระทบต่อโลก และสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก ข้อมูลที่น่าสนใจจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เผยว่าทั่วโลกมีปริมาณ “ขยะอาหาร” มากถึง 2.5 พันล้านตันต่อปี โดยเฉพาะในประเทศไทยมีขยะเฉลี่ยปีละ 27-28 ล้านตัน มากกว่าครึ่งของขยะทั้งหมด คือขยะอาหาร ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ สัตว์ รวมถึงมนุษย์อย่างเราด้วยเช่นกัน

วิธีลดขยะอาหารในครัวเรือน

  1. กินอาหารให้หมด โดยเริ่มตั้งแต่ควบคุมปริมาณอาหารแต่ละจานไม่ให้มากจนเกินพอดี
  2. ลดการใช้ผักตกแต่งจาน เพราะมักจะเป็นส่วนที่เหลือทิ้งอยู่เสมอ
  3. วางแผนซื้อวัตถุดิบ ก่อนทำอาหาร เพื่อจำกัดปริมาณอาหารให้พอดีกับจำนวนคนและกลายเป็นขยะอาหารให้น้อยที่สุด
  4. จัดเก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธีและทำความเข้าใจกับวันหมดอายุ
  5. ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า โดยตัด หั่น ตกแต่งให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ควรนำเศษอาหารที่เหลือจากการปรุงหรือการกิน ไปจัดการอย่างถูกวิธี เริ่มจากการคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่นก่อน จากนั้นจึงใช้วิธีการจัดการที่เหมาะสม เช่น เลือกอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังรับประทานได้ไปบริจาคหรือใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร และการนำน้ำมันจากการใช้แล้วไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น

ขยะอาหารบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ ซึ่งเป็นการลด Zero waste ให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
ขยะอาหารบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ ซึ่งเป็นการลด Zero waste ให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

หากต้องการช่วยลดโลกร้อนจากขยะอาหาร เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ของเรา เช่น กินอาหารให้หมดจาน ตักอาหารแต่พอดี และแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะชนิดอื่นๆ ก็สามารถช่วยโลกช่วยสิ่งแวดล้อมได้แล้ว

...

ข้อมูลอ้างอิง: OKMD, สสส., สำนักสิ่งแวดล้อม กทม., สังคมไทยไร้ Food Waste