ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ถือเป็นรัฐพิธีเปิดสภา ณ ห้องประชุมอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ถือเป็นการประชุมรัฐสภาครั้งแรกของรัฐสภาแห่งใหม่นี้ รวมถึงเป็นครั้งแรกของการสวมชุดขาวข้าราชการพลเรือนของ ส.ส. หน้าใหม่ ที่ได้เข้าร่วมรัฐพิธีนี้

ชุดขาว ข้าราชการ คืออะไร ซื้อได้ที่ไหน

ชุดขาว ข้าราชการ คือชุดสุภาพที่กำหนดไว้สำหรับสวมใส่ในงานพิธีต่างๆ โดยเฉพาะงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี 

ชุดขาว ข้าราชการ เป็นชุดที่พัฒนามาจากเครื่องแบบข้าราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มาจากคำว่า รา-ชา-แพตเทิร์น (Ra-ja-Pattern) และเพี้ยนมาเป็น “ราชปะแตน” เป็นเครื่องแบบเสื้อติดกระดุม 5 เม็ด ปิดคอ ปิดอกมิดชิด ไม่ต้องสวมเนกไท เป็นชุดสุภาพกึ่งสูทแต่ไม่ต้องสวมเชิ้ตข้างในแบบอย่างฝรั่ง ออกแบบมาเพื่อเข้ากับสภาพอากาศสยาม 

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ตัดชุดราชปะแตนให้เป็นเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน สมัยนั้นเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนชุดขาวอย่างเป็นทางการนี้ จะประกอบด้วย เสื้อคอปกตั้ง แขนยาวสีขาว กางเกงโจงสีกรมท่า ถุงเท้ายาว และถุงเท้าหนังหุ้มส้น 

...

ภายหลังเมื่อมีหมายกำหนดการพระราชพิธี หรือรัฐพิธี ก็มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบข้าราชการมาทุกยุคทุกสมัย รัฐพิธีเปิดประชุมสภาของประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มประชุมโดยหลวงประดิษฐมนูธรรม (หรือนายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้อ่านรายนาม ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้ง 70 คน และการประชุมวันนั้นได้มีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเลือกนายปรีดีเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก

พระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกว่า

“วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงาน เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันทุกประการ เทอญ”  

การสวมชุดขาวข้าราชการของ ส.ส. ในงานรัฐพิธี จึงปรากฏ เป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม จากภาพที่จัดเก็บโดยพิพิธภัณฑ์รัฐสภาไทยเผยรูปเครื่องแบบชุดขาวข้าราชการจากด้านหลัง เป็นเสื้อสูทสีขาว คาดสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่สวมกางเกงสีเข้ม คาดว่าเป็นกางเกงสีกรม หรือสีดำ แตกต่างจากปัจจุบันที่เป็นกางเกงสีขาว

การติดเข็ม ชุดขาวข้าราชการพลเรือน เมื่อเป็นคนในเครื่องแบบ 

เมื่อระยะเวลาผ่านมาราว 90 ปี จากการเปิดรัฐสภาครั้งแรก ผู้ที่ได้สวมเครื่องแบบชุดขาวข้าราชการถือว่าเป็นเกียรติครั้งหนึ่งของชีวิต ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การโพสต์ภาพส่วนตัวลง Social Media หรือการมีภาพ ส.ส. สวมชุดเครื่องแบบสีขาว ทำให้ผู้ติดตาม สงสัยว่าทำไมแต่ละคนถึงติดเข็มและมีเครื่องหมายบนอกไม่เหมือนกัน 

...

1. ชุดขาวข้าราชการ มีแบบเต็มยศ กับครึ่งยศ

การสวมชุดเครื่องแบบสีขาวของข้าราชการการเมืองในงานรัฐพิธีเปิดสภาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ เป็นการสวมเครื่องแบบครึ่งยศ ซึ่งหมายถึง การแต่งกายเพื่อร่วมงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน แต่เป็นงานสำคัญรองไปจากงานที่ต้องแต่งกายแบบเต็มยศ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ชั้นชายสะพาย ประดับเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ตามคู่มือการแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในวันพระราชพิธีและรัฐพิธี (คลิกที่นี่

การแต่งกายชุดขาว ข้าราชการการเมืองชาย เสื้อขาวกางเกงขาว

การแต่งกายชุดขาว ข้าราชการการเมืองหญิง เสื้อขาวกระโปรงขาว 

...

2. รู้จักแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึก

พลเรือนที่ได้เข้ามาเป็นข้าราชการการเมืองโดยที่ยังไม่เคยผ่านการขอเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์จากประสบการณ์ทำงานใดๆ มา ให้ติดแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกไว้ที่อกด้านซ้าย รวมถึงประดับอินทรธนู ขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร ตามประเภทและลำดับตำแหน่ง

3. สายสะพายทำไมมีสีแดง สีน้ำเงิน

สายสะพายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ (ดูลำดับตราเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ชั้นล่างสุดถึงสูงสุดได้ที่นี่) โดยเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์นี้แบ่งออกเป็น 16 ชั้น ได้แก่ ชั้นเหรียญตรา, ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย, ชั้นสายสะพาย เมื่อประดับสายสะพายบนเครื่องแบบจะต้องวางตำแหน่งของเข็มให้ถูกจุด และสะพายประดับเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ

  • สายสะพายสีแดง อาทิ เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกสำหรับบุรุษ เป็นต้น

...

  • สายสะพายสีแดง อาทิ เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์สายสะพายมหาวชิรมงกุฎ เป็นต้น

เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ประเภทสายสะพาย ได้แก่ ม.ป.ช. มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ชั้นสูงสุด, ม.ว.ม. มหาวชิมงกุฎ ชั้นสูงสุด, ป.ช. ประถมาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 1 และ ป.ม. ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 1

4. เข็มหรือเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ ซื้อที่ไหน ขอได้จากที่ไหน

เข็มประดับยศข้าราชการมีจำหน่ายตามร้านเครื่องแบบข้าราชการ แต่หากเป็นเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ ต้องทำเรื่องขอ ข้าราชการพลเรือนมีสิทธิ์ขอตามอายุงานรับราชการ และจะได้รับในกรณีต่างๆ โดยหากเป็นข้าราชการขอได้จากต้นสังกัด ตามรอบปี

5. เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ต้องคืน เมื่อสูญหาย ได้เลื่อนยศ และผู้รับเสียชีวิต 

หากผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์เสียชีวิต ทายาทต้องทำเรื่องส่งคืน หากไม่สามารถส่งคืนได้ จะต้องจ่ายชดใช้ตามราคาที่กำหนดในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะปรับราคาใหม่ทุกๆ 3 ปี

จากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดราชาชดใช้แทนเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2566 พบว่าเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ที่มีมูลค่าสูงสุดคือ เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า ปฐมจุลจอมเกล้า มีราคาชดใช้อยู่ที่กว่า 3.2 ล้านบาท

ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา คู่มือการแต่งการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในวันพระราชพิธีและรัฐพิธี ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562  

  • หลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการ (คลิกที่นี่)
  • ระเบียบการใส่ชุดปกติขาว 2566 (คลิกที่นี่)