ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน คนไทยได้รู้จักกับศิลปินนาม “Pyra” (ไพร่า) หรือ พิมพ์-พีรลดา สุขวัฒก์ นักร้องและโปรดิวเซอร์ ในฐานะศิลปินไทยคนแรกที่ได้ไปโชว์ความสามารถในเทศกาลงานดนตรีสุดอาร์ตระดับโลก Burning Man ที่สหรัฐอเมริกา เธอยังได้ร่วมงานกับ Sean Hamilton โปรดิวเซอร์รางวัลแกรมมี่ที่เคยทำงานกับ Justin Bieber รวมไปถึงได้รับรางวัล Best Solo Act From Asia จาก BandLab NME Awards 2022 สื่อดนตรีชื่อดังของอังกฤษ
ปัจจุบัน Pyra เป็นศิลปินอิสระที่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษเพื่อทำงานเพลงที่เธอรัก และยังคงยืนกรานที่จะใช้ดนตรีที่เธอนิยามขึ้นมาว่า “ดิสโทเปียนป็อบ” ในการวิพากษ์สังคมที่ไม่เป็นธรรม ปีแล้วเธอได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Forbes ให้เป็น 1 ใน 30 คนดังอายุต่ำกว่า 30 ปีที่มีอิทธิพลต่อวงการ สะท้อนให้เห็นว่าศิลปินหญิงไทยคนนี้กำลังได้รับความสนใจในระดับสากล
ล่าสุดเธอได้ปล่อยซิงเกิลใหม่ burning man และ petrol & matches ถ่ายทอดมุมมองต่อสังคมผ่านเสียงดนตรี ตัวตนและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทำให้ในปีนี้ Pyra มีบทบาทใหม่ในฐานะ Brand Ambassador ของ Heineken Experience Silver เพิ่มเข้ามาอีกด้วย เหมือนเป็นปีแห่งการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากดนตรีกับมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไปในวัย 30 ปี
ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ Pyra ถึงมุมมองชีวิตในวัยที่ย่างเข้าสู่เลข 3 พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การไปทำงานเพลงและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาฝากกัน
สัมภาษณ์ Pyra (ไพร่า) มุมมองชีวิตในวัย 30 วันที่ดนตรีคือความสุข แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
...
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่สนใจทำเพลงแนว Dystopian Pop
Dystopian Pop (ดิสโทเปียนป็อบ) เป็นแนวเพลงที่ไพร่านิยามขึ้นมาเอง เพราะถ้าพูดถึงแนวเพลงมันมีตั้งแต่ฮิปฮอป ร็อก อีโม อิเล็กทรอนิกส์ แต่สำหรับเพลงที่ไพร่าเขียนขึ้นจะมีเนื้อหาดิสโทเปีย (Dystopia) ไพร่ามองว่าตัวเองทำหน้าที่เดียวกับ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell : นามปากกาของนักเขียนอังกฤษ เจ้าของนวนิยายเสียดสีการเมืองเรื่อง Animal Farm และ 1984) แต่เราแค่ใช้ดนตรีเป็นสื่อ หลังจากไพร่าย้ายมาอยู่อังกฤษ เหมือนเราได้ไปอยู่ในที่ที่ถูกต้องและเป็นสถานที่ผู้คนน่าจะตอบรับสไตล์เพลงของเราได้ดี เปิดโอกาสให้ได้ทำเพลงแนวที่ตัวเองชอบ ทำให้เราได้ปลดปล่อยและเป็นตัวเองมากกว่าเดิม
ซิงเกิล ‘Burning Man’ ที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ในเนื้อหาเพลงก็มีการพูดถึง “Freeman” ต้องการสื่อถึงอะไร
คอนเซปต์หลักคือการหลบหลีกจากโลกที่ไม่เป็นไปตามที่ทุกคนคาดหวังหรือฝันไว้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชอบในประเทศตัวเอง รัฐบาลตัวเอง หรือสังคมตัวเอง การอยู่ในโลกดิสโทเปียมันทรมานนะ เพลงนี้ก็เป็นการสะท้อนถึงความต้องการหลบหลีกจากพันธนาการอะไรบางอย่าง
คุณเคยเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่ต้องการหลบหลีกจากอะไรบางอย่างไหม
การที่ไพร่าตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษ มันคือการหลบหลีกครั้งใหญ่มาก ซึ่งเป็นการหลบการโดนเซนเซอร์ เพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่าเราจะโดนรัฐบาลเซนเซอร์ขนาดไหน แล้วในสายอาชีพของไพร่า มันไม่ควรจะโดนเซนเซอร์ เพราะการเป็นศิลปิน (Artist) ไม่ควรมีกรอบมาจำกัด แต่ตอนนี้มันมีเสียงจากภายนอกที่บอกให้เราห้ามพูดเรื่องนั้น ห้ามพูดเรื่องนี้ ไพร่าคิดว่าในอนาคตถ้ายังอยากจะทำอาชีพนี้ต่อไป สิ่งที่เป็นอยู่ไม่น่าจะดี เราเลยต้องสร้างแพลนบีไว้
เท่ากับตอนนี้ชีวิตคุณมีอิสระมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว
บางครั้งไพร่าเคยตั้งคำถามว่าทำไมคนเราต้องคิดคำว่า “Freedom” ขึ้นมาด้วย ทำไมต้องมีคำว่า “อิสระ” มันอาจบ่งบอกว่าเราไม่มีอิสระอยู่หรือเปล่า ไม่งั้นมนุษย์จะไม่คิดคำนี้ขึ้นมาหรอก ชีวิตคนเราเหมือนมีกรงอะไรสักอย่างที่กักขังอยู่ตลอดเวลา แม้จะมองไม่เห็นก็ตาม
ไพร่าเป็นคนที่ค่อนข้างให้อิสระกับตัวเองอยู่แล้ว ไม่เคยฟังใครเลย ขนาดพ่อแม่ยังไม่ค่อยเชื่อฟัง แต่พอสามารถมาถึงจุดนี้ด้วยตัวเองได้ รู้สึกมีความสุขมาก เราโตมาในครอบครัวที่อยากให้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป เรียนจบ ทำงาน แต่งงาน มีลูก แต่ไพร่าไม่สนใจอะไรแบบนั้น ตั้งแต่อายุ 13 เราก็เริ่มขบถแล้วเชื่อในตัวเอง เดินตามเส้นทางของตัวเองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งตัดสินใจย้ายมาอยู่อังกฤษ
คิดอย่างไรกับคนที่ชอบไล่คนอื่นออกนอกประเทศ
“มึงเป็นอะไรมากปะเนี่ย” (หัวเราะ) ความจริงคนพวกนี้มีปัญหามากกว่าคนที่อยากย้ายประเทศอีกนะคะ งงว่าจะไปไล่เขาทำไม เพียงแค่มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ในเมื่อเขาก็จ่ายภาษีอยู่ ใครจ่ายภาษีก็มีสิทธิ์อยู่ในประเทศนั้นค่ะ เหมือนที่ไพร่าก็มีสิทธิ์อาศัยอยู่ที่อังกฤษ เพราะเราเข้ามาทำงานด้วยวีซ่าที่ถูกต้องและจ่ายภาษีให้เขา
...
คุณได้รับวีซ่า Global Talent visa สำหรับการเข้าไปทำงานในอังกฤษ ยากไหมกว่าจะได้วีซ่านี้มา
สำหรับอังกฤษยากค่ะ คิดว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปอาจจะง่ายกว่าเยอะ เพราะทางอังกฤษมีเงื่อนไขในการอนุมัติวีซ่าทำงานให้เฉพาะกลุ่มที่มีทักษะพิเศษ (Skilled Worker visa)
ส่วนไพร่าได้ประเภทวีซ่าที่เรียกว่า Global Talent visa ในสายงานศิลปิน เพื่อเข้ามาทำงานในอังกฤษ ซึ่งจะมีรายละเอียดลงลึกไปอีกว่านิยามและขอบเขตเป็นแบบไหน อาจจะยุ่งยากนิดนึง แต่สามารถหาข้อมูลได้ในบนเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษ มีข้อมูลเยอะมาก ทุกคนสามารถหาอ่านได้
พอย้ายประเทศไปอยู่อังกฤษแล้ว คุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร หรือมีความยากลำบากอะไรที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
คุณภาพชีวิตที่ไทยดีกว่าค่ะ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยไปอยู่เมืองนอกมาก่อน แล้วเราก็คิดว่าทุกอย่างข้างนอกมันต้องดีกว่าแน่เลย ซึ่งผลก็คือ “The grass is not greener” ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียไม่ว่าคุณจะย้ายไปอยู่ประเทศไหนก็ตาม
...
เมื่อย้ายไปอังกฤษแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต่างจากประเทศไทยสักเท่าไร เพราะเป็นระบบที่ประเทศไทยไปโมเดลตามมาเกือบทุกอย่าง ในแง่เชิงชนชั้นก็มีเหมือนกันหมดเลย หนักพอกับที่นี่ แล้วเรื่องการเหยียดหรือการดูถูกคน เขาไม่ใช่แค่คนเอเชียอย่างเดียวนะ แต่ดูถูกคนแม้กระทั่งคนที่มาจากภูมิภาคอื่นในประเทศตัวเอง
การเป็นศิลปินที่อังกฤษ มีเรื่องของชนชั้นเข้ามาเกี่ยวไหม
ไม่มีชนชั้นค่ะ ทุกคนเป็นเพื่อนกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเลเวลไหนก็ตาม ตรงนี้น่าสนใจ เพราะไพร่ามีศิลปินคนหนึ่งที่เราชื่นชอบมากๆ เดินเจอกันในงานเฟสติวัล คนอื่นอาจจะมองว่าเขาเป็นซุปเปอร์สตาร์ แต่ก็คนเหมือนกันเปล่าวะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเรากลายเป็นเพื่อนกัน จากไอดอลที่เราชอบมาก ตอนนี้ก็เจอกันบ่อย ซี้กันไปเลย
สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นศิลปินไทยที่ต้องการไปเติบโตที่อังกฤษ
ไพร่าต้องผลักดันตัวเองเยอะขึ้นมากๆ เพราะตอนอยู่ไทยมันสบายเกินไป ด้วยความที่ศิลปินที่ทำแนวเพลงแบบนี้ในเอเชียมีไม่กี่คน ส่วนในอาเซียนก็อาจมีแค่ไพร่าคนเดียว มันอาจทำให้เราชะล่าใจ คิดว่าก็อยู่ตรงนี้ได้สบายดี
แต่พอย้ายมาอยู่อังกฤษ เพราะอยากมีคอมมูนิตี้สำหรับคนที่ทำเพลงเหมือนกัน ปรากฏว่าทุกคนมีสไตล์หมดเลย เราก็ไม่ special อีกต่อไปค่ะ สิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับไพร่าก็คือต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ผลงานดีขึ้น หรือทำอย่างไรให้ branding artist ของเราชัดเจน และสามารถสื่อสารกับคนในอีกวัฒนธรรมหนึ่งได้
...
ศิลปินที่มีความ special ในมุมมองของไพร่า
ต้องเป็นคนที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนค่ะ ไพร่าจะชื่นชมศิลปินที่ทำเพลงแบบที่เมื่อเราฟังปุ๊บ ก็รู้ทันทีเลยว่าเป็นผลงานของใคร ทั้งภาพและเสียง มีการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาได้ดี
ไปทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศมาเยอะมาก ยังมีเรื่องที่กังวลอีกไหม
กังวลตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่ามากหรือน้อย ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตก็ตาม เพราะการขึ้นโชว์แต่ละครั้งอาจมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดในเรื่องต่างๆ ได้
ศิลปินมักมีธรรมเนียมปฏิบัติของตัวเองก่อนขึ้นเวที (Pre-show rituals) แล้วคุณล่ะ
มีหลายอย่างมากค่ะ นอกจากขยับร่างกายยืดเส้นยืดสาย ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างแปลก ไพร่าจะล้างจมูกด้วยไซริงค์ก่อนเล่นคอนเสิร์ต เพราะเราเป็นภูมิแพ้ ทำแบบนี้ทำให้จมูกโล่งขึ้น อีกอย่างที่ต้องทำคือการวอร์มเสียงไล่โน้ตค่ะ เป็นสิ่งที่คลาสสิกมาก แต่ศิลปินส่วนใหญ่ก็ไม่ทำกัน พอเราทำ ทุกคนช็อก (หัวเราะ) ไพร่าจะไม่กินข้าวก่อนขึ้นคอนเสิร์ตด้วย เพราะจะทำให้ขยับยาก เสี่ยงต่อความผิดพลาดบนเวที แล้วก็จะผูกเชือกรองเท้า 2-3 ชั้น เช็กแล้วเช็กอีก
อยู่อังกฤษมาระยะหนึ่งแล้ว ยังมีอะไรที่เรารู้สึกเข้าไม่ถึงอีกไหม
มีค่ะ รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและคอนเน็กกับคนอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่เราไม่ได้เติบโตขึ้นมาเลย เช่น ถ้าเราเปิดดู TikTok เทรนด์ในไทยและอังกฤษก็คนละเรื่องกันเลย หรือวัยรุ่น Gen Z ในไทยและอังกฤษก็มีวิธีคุยด้วยสแลงและเข้าใจมีมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูด ทุกวันนี้ไพร่าก็ยังทำความเข้าใจและเรียนรู้กับสิ่งนี้อยู่ค่ะ
วางแผนอยู่ยาวๆ เลยไหม มีเป้าหมายที่คิดไว้หรือเปล่า
ตอนนี้ไพร่าอยากได้พาสปอร์ตอังกฤษด้วย เพราะจะสะดวกเวลาเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าเราต้องอยู่ที่อังกฤษประมาณ 4 ปี และอาศัยอยู่ในอังกฤษปีละไม่ต่ำกว่า 180 วัน ถึงจะสอบขอพาสปอร์ตได้ค่ะ ในสายงานเราบางครั้งต้องยกเลิกไปหลายงาน เพราะขอวีซ่าไม่ทัน ก็ลำบากตรงจุดนี้
ส่วนเป้าหมายเร็วๆ นี้จะเป็นการวางแผนปล่อยอัลบั้มเต็มค่ะ คอนเซปต์ที่อยากให้ทุกคนคิดตามก็คือภาพของเกาะสวรรค์ แต่ความจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนเกาะนี้เหมือนในหนังเรื่องฮังเกอร์เกม
ปีที่แล้วคุณได้รางวัล ‘Forbes 30 Under 30’ ในฐานะหนึ่งในผู้มีอิทธิพลของวงการที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
ดีใจมากค่ะ เพราะอยากได้รางวัลนี้ (หัวเราะ) ไพร่าก็ไม่รู้ว่าทำไมจริงๆ ถึงอยากได้ สำหรับคนที่เป็นนักลงทุนหรือนักธุรกิจ เขาบอกว่าการได้มีชื่อบน Forbes สำคัญมากสำหรับสายงาน พอเราได้รับคัดเลือกก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย! เจ๋งว่ะ
เคยคิดไหมว่าทำไมคนเราต้องให้ความสำคัญกับวัยเลข 30 อย่างรางวัลที่ Forbes มอบให้ ก็เลือกมอบให้ศิลปินที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
ตอนนี้ไพร่าก็อายุ 30 แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตมากๆ เลยค่ะ จำได้ว่าเคยอ่านบทความที่บอกว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับเลขที่ลงท้ายด้วย 0 เช่น 10, 20, 30 เพราะมันทำให้คนเราจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เหมือนเปลี่ยนเลขนำหน้าจากขยับไปอีกหลักหนึ่ง
แต่ถ้าถามว่าไพร่ารู้สึกอะไรกับว่าเลข 30 ไหม โดยเฉพาะในปีที่อายุก้าวสู่หลักเลข 3 นำหน้า บอกเลยค่ะว่าการมองโลกของไพร่าเปลี่ยนราวฟ้ากับดินเลย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมอายุ 30 มันถึงได้เปลี่ยนความคิดของเราได้ขนาดนี้
ความคิดเปลี่ยนไปในเรื่องไหน
อืม… (นิ่งคิด) เราให้ความสำคัญกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องดนตรีค่ะ เพราะในช่วงอายุ 20 เราโฟกัสในแพชชันของตัวเองมากๆ แต่พอประสบความสำเร็จได้รับรางวัล ก็กลับรู้สึกว่ามันไม่ได้ทำให้เรามีความสุขในชีวิตขนาดนั้น
ถ้าดนตรีมันไม่ใช่ความสุขของคุณแล้ว ถ้าเช่นนั้น ‘ความสุข’ ที่ค้นพบในวัย 30 คืออะไร
ดนตรียังคงเป็นความสุขของไพร่าอยู่ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนไปค่ะ ตอนแรกคิดว่าดนตรีคือทุกอย่าง เลยทุ่มเททุกอย่างที่มีเพื่อดนตรี ตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป แต่ในวันที่อายุ 30 ปี ไพร่าได้เรียนรู้ว่าชีวิตคนเรายังมีแง่มุมอื่นที่น่าสนใจ ชีวิตมันสั้น เราก็อยากลองสัมผัสมุมอื่นๆ ของชีวิตดูบ้าง
การที่ทุกคนเห็นว่าไพร่าประสบความสำเร็จด้วยการชนะรางวัล มันรู้สึกดีแค่ 10 นาทีแรก แต่กลับเป็นความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนการที่เรามีคนที่รักแล้วเราสัมผัสเขาได้ ส่วนรางวัลนอกจากถ้วยรางวัลแล้ว ที่เหลืออาจเป็นเพียงมุมมองในหัวเราเฉยๆ ถ้าใครมีความสุขกับสิ่งพวกนี้ได้ ไพร่าก็ดีใจด้วย แต่เชื่อว่าถ้าไปถามศิลปินหลายๆ คนที่ทุกคนมองว่าเขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่ลึกๆ เขาอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น
ตอนนี้เหมือนไพร่าเองก็กำลังมาอยู่ในช่วงที่ได้เรียนรู้ตัวเองอีกครั้ง ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุขได้อีกบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นขั้นตอนของการเรียนรู้อยู่ค่ะ
หลายปีก่อนคุณเคยบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในการเป็นศิลปินคือ “อยากเปลี่ยนโลก” ตอนนี้ยังยืนยันคำตอบเดิมอยู่ไหม
คำตอบนั้นยังเหมือนเดิม… ความจริงไพร่าเคยถามคำถามนี้กับคนอื่นๆ และก็พบว่าทุกคนมีคำตอบเดียวกัน ตอนแรกนึกว่าเราเป็นบ้าอยู่คนเดียว (หัวเราะ) แต่สรุปทุกคนก็อยากดึงศักยภาพด้านบวกของตัวเองมาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อนที่ทำงานออฟฟิศก็อยากอยู่องค์กรที่ช่วยโลกเรื่องความยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วไพร่าเชื่อว่าคนเราล้วนอยากตายไปโดยมีคนจดจำและต้องเป็นการจดจำในทางที่ดีมากกว่าเรื่องแย่ๆ
ตอนนี้ไปถึงเป้าหมายนั้นหรือยัง หรือยังต้องเดินทางต่ออีก
คิดว่าเราทำได้ในระดับหนึ่งนะคะ แต่ก็ไม่รู้ว่าที่สุดจะทำได้ถึงตรงไหน ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้เราทำเท่าไรก็ไม่พออยู่ดี มันไม่ใช่หน้าที่ของคนๆ เดียว นายกฯ ยังเปลี่ยนประเทศไม่ได้เลย แล้วเราคนเดียวจะไปเปลี่ยนโลกได้ยังไง หน้าที่ของศิลปินจึงต้องให้แรงบันดาลใจคนอื่น เหมือนหยดน้ำลงทะเลแล้วมันมีแรงกระเพื่อมบางอย่างเกิดขึ้น ถ้าทำแบบนั้นได้ไพร่าก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
หากทบทวนชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณก้าวมาเป็นศิลปินที่ชื่อ Pyra ได้อย่างทุกวันนี้
“Try everything at least once” ชีวิตของไพร่าดำเนินด้วยสโลแกนนี้เลยค่ะ ไปลองให้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าอยากจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นก็อย่าพูดอย่างเดียว แต่ให้ลองพยายามทำให้เต็มที่ด้วย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตรงไหนดีกว่ากัน หรือเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด
เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง