เต็ดตรา แพ้ค ตั้งเป้าสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับรายงานความยั่งยืนระดับโลก (Sustainability Report FY 2021) ตอกย้ำความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

รายงานความยั่งยืนระดับโลก (Sustainability Report FY 2021) จัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 24 เพื่อแสดงให้เห็นว่าความยั่งยืนเป็นแกนหลักในกลยุทธ์ของเต็ดตรา แพ้ค และมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2565 เต็ดตรา แพ้ค บรรลุเป้าหมายสำคัญ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในการดำเนินงานลงได้ถึง 39% ซึ่งมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 84% เป็นไปตามแนวทางที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของบริษัทภายในปี 2573 รวมทั้งมีการส่งมอบบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพืชไปทั้งสิ้น 8,800 ล้านกล่อง และฝาที่ทำจากพืชไป 11,900 ล้านชิ้น ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 131 กิโลตัน

นอกจากนี้ เต็ดตรา แพ้ค ยังลงทุนเกือบ 30 ล้านยูโร เพื่อเร่งให้มีการรวบรวมและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีการทำงานร่วมกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหารและสตาร์ทอัพ เพื่อวางแผนงานในอนาคตของอาหารที่ยั่งยืน

...

รายงานฉบับล่าสุดนี้ ใช้แนวทางแบบองค์รวมเชื่อมโยง 5 ประเด็นหลักที่บริษัทสามารถมีส่วนช่วยได้มากที่สุด ได้แก่ ระบบอาหาร, การหมุนเวียนทรัพยากร, สภาพอากาศ, ธรรมชาติ และความยั่งยืนทางสังคม

สำหรับ เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย มีส่วนในการสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกในทุกๆ ด้าน โดยได้ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการขับเคลื่อนโซลูชันหมุนเวียนทรัพยากร เน้นให้เกิดการจัดเก็บ รวบรวม และรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มเพิ่มมากขึ้น เพื่อดึงวัสดุที่ใช้แล้วออกจากหลุมฝังกลบ และร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ซึ่งความก้าวหน้าในด้านนี้ ได้แก่

  • จัดตั้งศูนย์รับซื้อคืนและรวบรวมกล่องที่ใช้แล้ว 15 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
  • รวบรวมกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วมากกว่า 2,500 ตัน และส่งมอบเพื่อผลิตเป็นแผ่นหลังคากว่า 68,000 แผ่น ผ่านโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน
  • ช่วยให้เกิดการรวบรวมกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วจากระบบการซื้อขายขยะมากกว่า 75 ตัน ในปี 2565 ส่งไปรีไซเคิลโดยโรงงานรีไซเคิลแห่งใหม่ของบริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ไทย

ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “เต็ดตรา แพ้ค ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดที่ว่า บรรจุภัณฑ์ควรมีมูลค่าในตัวเองมากกว่าต้นทุนที่จ่ายไป และปัจจุบัน เป้าหมายของเรา คือ ก้าวนำสู่การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและชุมชนในเชิงบวก การทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างดีๆ มากมาย และยินดีที่ได้เห็นความคิดดีๆ เหล่านี้ จากหลายส่วนที่มาช่วยกันผลักดันแนวทางแก้ปัญหาการหมุนเวียนทรัพยากรในประเทศไทย และรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในการร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก”

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา เต็ดตรา แพ้ค ได้ร่วมมือกับสมาคมรับซื้อของเก่า เพื่อให้รถซาเล้งไปรับซื้อกล่องนมเพื่อนำมารีไซเคิล ทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 75 ตันในปี 2565 และในปีนี้หลังจากผ่านไป 5 เดือน เต็ดตรา แพ้ค ก็ได้รับซื้อกล่องนมผ่านช่องทางรถซาเล้งไปเกือบ 100 ตันแล้ว และคาดว่าภายในสิ้นปี 2566 จะได้มากกว่านี้ ซึ่งวิธีนี้ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคและยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนด้วย

เคฑิตา ชัยศักดิ์ศิริ เจ้าของร้าน early BKK Café ผู้ชื่นชอบผลิตภัณฑ์รีไซเคิล กล่าวว่า “ร้าน early BKK แห่งนี้ ได้รับการออกแบบจากแนวความคิดเรื่องความยั่งยืนและการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม หนึ่งในวัสดุรีไซเคิลที่คาเฟ่ของเรานำมาใช้คือ แผ่นเอ็นไวโรบอร์ดที่ผลิตจากกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้ว ซึ่งนำมาสร้างเฟอร์นิเจอร์หลักภายในร้านไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ รวมไปถึงผนังของร้านเรา ลูกค้าหลายท่านที่เข้ามาที่ร้านมักรู้สึกแปลกใจและให้ความสนใจ เมื่อทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มาจากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม”

...

“การสนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้วัสดุเหลือทิ้งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และร้านเราเชื่อว่าการลงมือทำ แม้เพียงเล็กน้อย แต่สามารถส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต ซึ่งที่ร้าน early BKK ได้ตั้งจุดรับวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จากคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง และในอนาคตอันใกล้เราจะวางถังรับกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วจากคนในชุมชนเพื่อส่งต่อไปรีไซเคิลอีกด้วย”

ส่วนความท้าทายเรื่องความยั่งยืนของประเทศไทยในปัจจุบัน ทางเต็ดตรา แพ้ค มองว่านอกจากการขาดกฎหมายที่เหมาะสมในการควบคุมจัดการระบบจัดเก็บ รวบรวม และรีไซเคิลแล้ว ผู้บริโภคยังขาดการรับรู้ที่ถูกต้อง และยังเข้าถึงจุดรวบรวมเพื่อจัดเก็บได้น้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีโครงสร้างวงจรการจัดเก็บรวบรวมที่ดี ราคารับซื้อกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วในตลาดมีราคาต่ำ โรงงานรีไซเคิลตั้งอยู่ห่างไกล ขาดความต่อเนื่องในการจัดเก็บที่เทศบาล ระบบจัดการส่วนใหญ่ยังไม่เป็นทางการ ไปจนถึงการผลิตที่ผู้รีไซเคิลยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์รีไซเคิลยังมีน้อย

...