ไม่ใช่เรื่องง่ายที่วงดนตรีวงหนึ่งจะมีบทบาทอยู่ในวงการเพลงมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในยุคที่มีศิลปินหน้าใหม่ดาวรุ่งแจ้งเกิดมากมาย แต่สำหรับ ‘Coldplay’ วงดนตรีจากประเทศอังกฤษที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 (อ้างอิงข้อมูลตามเว็บไซต์ของ Coldplay) เรียกได้ว่าเป็นวงที่มีเพลงฮิตระดับท็อปโลกมาทุกยุคสมัย ขายอัลบั้มได้มากกว่า 100 ล้านก๊อบปี้ อีกทั้งยังได้รับรางวัลแกรมมี่อีกมากมาย การประกาศเวิลด์ทัวร์ของพวกเขาในแต่ละครั้ง ก็เกิดปรากฏการณ์ขายบัตรในระดับสเตเดียมหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
Coldplay (โคลด์เพลย์) คือหนึ่งในวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก แม้จะมีอายุวงครบ 25 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังเดินสายเวิลด์ทัวร์โปรโมตอัลบั้มชุดที่ 9 Music of the Spheres พร้อมกับ 4 สมาชิกที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่สมัยที่ก่อตั้งวงครั้งแรก พวกเขาได้ประกาศทัวร์โซนเอเชียที่มีกรุงเทพฯ ของไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งโชว์จะมีขึ้น 2 รอบ ได้แก่ วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2024 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ก็เพิ่มรอบการแสดงในปีหน้ามากถึง 6 รอบ หมายความว่า Coldplay จะเล่นคอนเสิร์ตที่นั่นเป็นเวลา 6 วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษและบราซิลที่จัดแสดง 6 รอบ แต่หากคิดว่านี่คือจำนวนรอบสูงสุดของการทัวร์โปรโมตอัลบั้ม Music of the Spheres ต้องขอบอกว่ายังไม่ใช่ เพราะในปี 2022 วง Coldplay เคยขึ้นแสดงที่สนามกีฬา River Plate Stadium ประเทศอาร์เจนตินา สร้างประวัติศาสตร์ด้วยสถิติโชว์ 10 รอบ การันตีการเป็นวงดนตรีที่อยู่ระดับท็อปของโลกได้อย่างไม่ต้องสงสัย
...
อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ ‘Coldplay’ เป็นวงดนตรีที่ครองใจแฟนเพลงทุกเจเนอเรชันมาอย่างยาวนาน ในแต่ละเดือนมีคนฟังเพลงของพวกเขาผ่าน Spotify สูงถึง 68 ล้านคน เหตุใดแต่ละอัลบั้มของพวกเขาถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก และทำไมใครๆ ต่างก็อยากจะหาโอกาสไปชมคอนเสิร์ตของ Coldplay ด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้ง ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนว่า… ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วยอย่างแน่นอน
‘มิตรภาพ’ และ ‘ดนตรี’ จุดเริ่มต้นของวง Coldplay
Coldplay (โคลด์เพลย์) คือชื่อของวงดนตรีสัญชาติอังกฤษ ประกอบด้วย 4 สมาชิก ได้แก่ คริส มาร์ติน (ร้องนำ), จอห์นนี่ บัคแลนด์ (กีตาร์), กาย เบอร์รีแมน (เบส) และวิล แชมเปียน (กลอง) พวกเขาเล่นดนตรีด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียนที่ University College London โดยตั้งวงดนตรีที่ใช้ชื่อว่า Big Fat Noises และ Starfish ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Coldplay ในเวลาต่อมา และใช้ชื่อนี้ในการทำเพลงตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 1998 มาจนถึงปัจจุบัน
พวกเขาปล่อยอัลบั้มเดบิวต์ ‘Parachutes’ ในปี 2000 ซึ่งมีเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง “Yellow” รวมอยู่ด้วย นำไปสู่การเวิลด์ทัวร์ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นมากกว่า 130 โชว์ทั่วโลก กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อ Coldplay กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนถึงปัจจุบันพวกเขาปล่อยสตูดิโออัลบั้มมาแล้วทั้งหมด 9 อัลบั้ม อีกทั้งยังได้รับรางวัลแกรมมี่ที่ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดของอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก
หลายวงดนตรีอาจมีสมาชิกเก่าและใหม่สลับหมุนเวียนเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ ในวง แต่สำหรับ Coldplay พวกเขาทั้ง 4 คนยังคงจับมือกันเหนียวแน่นเหมือนวันแรกที่ร่วมกันก่อตั้งวงขึ้นมา ในปี 2003 วงได้รับรางวัลแกรมมี่สาขา Best Alternative Album จากผลงานชุดที่ 2 ‘A Rush of Blood to the Head’ ซึ่งต่อมาได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Rolling Stone ให้ติดอันดับ 500 อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
ทางด้านคริส มาร์ติน ฟรอนต์แมนของวง ก็เคยให้สัมภาษณ์สื่อในช่วงโปรโมตอัลบั้มชุดนี้ว่า “ผมก็แค่อยากจะทำเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ร่วมกับกลุ่มเพื่อนสนิทที่สุดของผม” เมื่อถูกถามถึงจุดเด่นที่ทำให้ Coldplay เป็นวงที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเหนียวแน่นได้ขนาดนี้ มาร์ตินก็ได้ตอบกลับอย่างอารมณ์ดี
“เอกลักษณ์เฉพาะของ Coldplay ก็คือเคมีที่เข้ากันได้ดีของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงนี้ไม่มีใครเก่งกว่ากัน ไม่มีใครหน้าตาดีเป็นพิเศษด้วย ดังนั้นสิ่งเดียวที่พวกเรามีคือเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน"
วัฒนธรรมการทำงานภายในวงยังเปิดโอกาสให้ทุกคนวิจารณ์กันได้เพื่อปรับปรุงโชว์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น วิล แชมเปียน (มือกลอง) เคยเบรกมาร์ตินว่าไม่ควรทำให้การแสดงบนเวทีดูยุ่งเหยิงมากเกินไป หากมีปัญหาก็ต้องคุยกันให้จบตั้งแต่อยู่ในห้อง หรือแม้แต่การนั่งอ่านคอมเมนต์เชิงลบจากชาวเน็ตเพื่อคัดกรองร่วมกันว่าความเห็นใดที่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้
“บางครั้งเราได้รับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์มาก แม้ว่าจะเป็นข้อความที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดก็ตาม สิ่งที่คนส่วนใหญ่พูดถึงในแง่ลบ บางส่วนก็เป็นเรื่องจริงและเราเห็นว่านำไปปรับปรุงได้ ส่วนเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ก็แค่รับรู้แล้วทำงานของเราต่อไป” มาร์ตินกล่าว
...
‘สมาชิกคนที่ 5’ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Coldplay
มิตรภาพที่ยืนยาวของวง Coldplay ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สมาชิกหลักเพียง 4 คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘ฟิล ฮาร์วีย์’ (Phil Harvey) ผู้จัดการวงที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยออกอีพีอัลบั้มแรก Safety (1998) ฮาร์วีย์รู้จักกับมาร์ตินสมัยเรียนมัธยมแห่งเดียวกันในช่วงปี 1990-1995 ต่อมาเขาเข้าเรียนสาขาดนตรีคลาสสิกที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ดรอปเรียนเพื่อมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวงให้ Coldplay
การประสบความสำเร็จตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกๆ ของวง ทำให้มีเวิลด์ทัวร์แทบไม่ได้หยุดพัก ฮาร์วีย์รู้สึกเครียดและกดดัน จนลาออกจากการเป็นผู้จัดการวงไปราว 4 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษา ครีเอทีฟ และผู้วางทิศทางต่างๆ ให้ Coldplay มาจนถึงปัจจุบัน เขากลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ Coldplay มียอดจำหน่ายอัลบั้มทั่วโลกถึง 100 ล้านก๊อบปี้ อีกทั้งยังช่วยดูแลงานด้านมิวสิกวิดีโออีกด้วย ทำให้ฮาร์วีได้รับฉายาว่า “สมาชิกคนที่ 5 ของ Coldplay” หนึ่งในวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของศตวรรษที่ 21
บทเพลงของ Coldplay มอบพลังและจุดประกายความหวัง
สไตล์เพลงของ Coldplay เป็นการผสานดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกและป๊อบไว้ด้วยกัน บ้างก็มีการนิยามเพลงของพวกเขาว่าเป็น ‘Arena Rock’ ที่เหมาะสำหรับโชว์ในสถานที่จัดคอนเสิร์ตแบบสเตเดียม โดดเด่นด้วยท่วงทำนองดนตรีร็อกที่ไพเราะ มักใช้เครื่องดนตรีหลายชนิดในการแสดง เช่น กีตาร์, เปียโน, กลอง, ซินธิไซเซอร์, ไวโอลิน, แตร ฯลฯ โดยบทเพลงของพวกไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
...
จุดเด่นในบทเพลงของวง Coldplay อยู่ที่การปลุกพลังให้แฟนๆ รู้สึกฮึกเหิมและมีกำลังใจผ่านเนื้อหาเพลงที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความสูญเสีย และความหวัง โดยใช้ดนตรีผสมผสานกับท่วงทำนองอันไพเราะ มาพร้อมท่อนฮุกที่ติดหูและเนื้อหาเพลงที่ซึ้งกินใจ ทำให้ Coldplay ประสบความสำเร็จในแง่ความนิยมและการส่งต่ออิทธิพลต่อศิลปินร่วมสมัยอีกมากมาย
ส่วนการแสดงสดของ Coldplay มักถูกพูดถึงอยู่เสมอในแง่ของไอเดียสร้างสรรค์ โชว์เต็มไปด้วยพลังอันล้นเหลือ มีชีวิตชีวา และจัดเต็มด้วยโปรดักชันสุดอลังการ โดยสังเกตได้ว่าอัลบั้มยุคหลังๆ Coldplay มักจะทำเพลงที่สร้างบรรยากาศฮึกเหิมได้ดีเมื่อนำไปเล่นในสเตเดียม ขณะที่เพลงฮิตจากอัลบั้มยุคแรกๆ ก็ยังนำมาจัดอยู่ในเซตลิสต์สำหรับแสดงในคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน
ทุกการคอลแลบมีความทันสมัย ช่วยขยายฐานแฟนเพลง
Coldplay เป็นวงดนตรีที่ได้รับเลือกให้ขึ้นแสดงเป็นเฮดไลน์ (Headliner) ในเฟสติวัลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Glastonbury ในอังกฤษ (ปี 2016) หรือ Coachella ในสหรัฐอเมริกา (ปี 2005) รวมไปถึงการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก ก็มีส่วนที่ทำให้แฟนๆ ในหลายทวีปรู้จักพวกเขามากขึ้น
...
ในปี 2016 วง Coldplay ได้แสดงช่วงพักครึ่ง (Halftime Show) ในงานแข่งขัน ‘Super Bowl’ ร่วมกับศิลปินซุปเปอร์สตาร์อย่าง Beyonce และ Bruno Mars ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีนี่คือช่วงเวลาที่ค่าโฆษณาออกอากาศทางโทรทัศน์แพงที่สุด โชว์ในปีนั้นมีผู้ชมผ่านโทรทัศน์ราว 115 ล้านคน มีการพูดถึงบนทวิตเตอร์จำนวน 3.9 ล้านทวีต
ต้องยอมรับว่า Coldplay เป็นวงที่มีวิวัฒนาการทางดนตรี แม้ในยุคแรกจะเป็นที่รู้จักในฐานะวงอัลเทอเนทีฟร็อก แต่ก็มีการพัฒนาและปรับแนวเพลงให้ทันสมัยเข้ากับยุคใหม่มากขึ้น ทำให้เพลงในอัลบั้มหลังๆ ของ Coldplay หันมาใช้เสียงอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้เพลงมีความป๊อบและฟังง่ายขึ้น
นอกจากนี้ Coldplay เป็นวงดนตรีที่มีโปรเจกต์ในการคอลแลบเพลงกับศิลปินชื่อดังฝั่งป๊อบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Rihanna, Beyoncé, The Chainsmokers, Selena Gomez รวมถึง BTS วงเคป๊อบจากเกาหลีใต้ ดีกรีเจ้าของชาร์ตอันดับ 1 บน Billboard 100 ในเพลง ‘My Universe’ ที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษและเกาหลี
ในปี 2022 วง Coldplay ยังมีบทบาทในการแต่งเพลง ‘The Astronaut’ ร่วมกับ JIN หนึ่งในสมาชิกของวง BTS โดยที่จินได้เดินทางมายังกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เพื่อขึ้นแสดงคอนเสิร์ตกับ Coldplay ซึ่งมีการถ่ายทอดสดการแสดงคอนเสิร์ตไปยังโรงภาพยนตร์อีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
การคอลแลบระหว่าง Coldplay กับศิลปินคนอื่นๆ เป็นการช่วยขยายฐานแฟนเพลงให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งพวกเขายังใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ในใช้ติดต่อกับแฟนๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่จะปล่อยเพลงใหม่หรือมีประกาศทัวร์อัลบั้ม ก็มักจะปล่อยภาพและคลิปวิดีโอชวนสงสัยให้แฟนเพลงไขปริศนา
Coldplay วงดนตรีรักษ์โลก ชูไอเดียซื้อบัตรคอนเสิร์ตเท่ากับปลูกต้นไม้
พวกเขาไม่ได้สนใจแค่เรื่องดนตรีอย่างเดียว แต่ยังสนใจความรับผิดชอบในฐานะ ‘พลเมืองของโลก’ โดยเฉพาะประเด็นด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่ทำให้วงดนตรีที่มีอายุ 25 ปีวงนี้ ยังคงดูทันสมัยและทันยุคอยู่เสมอ ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลที่แฟนเพลง Gen Z ให้การยอมรับใน Coldplay ทั้งด้านดนตรีและการเคลื่อนไหวทางสังคม
สำหรับ Music Of The Spheres World Tour มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการจัดคอนเสิร์ต ซึ่งทัวร์นี้สามารถลดก๊าซคาร์บอนฯ ได้ถึง 47 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับทัวร์ก่อนหน้านั้น ซึ่ง Coldplay ตั้งเป้าจะเป็นวงดนตรีที่คำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อขายบัตรคอนเสิร์ตได้ 1 ใบ จะเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1 ต้น ในปัจจุบันพวกเขามีส่วนช่วยโลกในการปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 5 ล้านต้น ไอเดียนี้ทำให้แฟนเพลงได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกด้วย
จากรายงานของ Blilboard Boxscore ระบุว่า การทัวร์คอนเสิร์ตในเมืองต่างๆ ของประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 10-28 มีนาคมของปีนี้ ขายบัตรได้จำนวน 736,000 ใบ ทำรายได้สูงถึง 65.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการทัวร์คอนเสิร์ต ณ ประเทศเดียวที่ทำเงินสูงที่สุดในโลกของปี 2023
วงยังมีจุดยืนในการอุทิศตนเพื่อการกุศลเพราะที่ผ่านมา Coldplay มีส่วนร่วมในกิจกรรมระดมเงินหลายล้านปอนด์ผ่านการขายอัลบั้มและตั๋วคอนเสิร์ตเพื่อบริจาคให้แก่องค์กรการกุศลต่างๆ ในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนและสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะมาร์ตินที่ปัจจุบันทำงานร่วมกับ 20 องค์กรการกุศลทั่วโลก และยังเคยไปขึ้นแสดงคอนเสิร์ตการกุศล One Love Manchester เพื่อระดุมเงินบริจาคมอบให้แก่เหยื่อจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเมืองแมนเชสเตอร์ในปี 2017
ภาพลักษณ์ที่ดีของ Coldplay สร้างภาพจำ ‘ศิลปินเฮลตี้’
ตัวตนของศิลปินระดับซุปเปอร์สตาร์ที่มีไลฟ์สไตล์แบบติดดิน รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของ Coldplay ได้สร้างภาพจำ ‘ศิลปินเฮลตี้’ (Healthy) แน่นอนว่าการเล่นคอนเสิร์ตในสเตเดียมเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมงโดยไม่มีหยุดพัก แถมยังต้องเดินทางทัวร์ติดต่อกันนานกว่า 1 ปี ต้องอาศัยพลังและความแข็งแรงของร่างกายอย่างมาก เบื้องหลังโชว์อย่างมืออาชีพบนเวที ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงวินัยในการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ และการฝึกซ้อมอย่างหนัก
ในมุมมองการรับรู้ของแฟนๆ โชว์ของพวกเขายังมีภาพของความเป็นมิตรที่เหมาะกับเด็ก วัยรุ่น และคนทุกวัย มาร์ตินยังเคยเปิดโอกาสให้แฟนเพลงพิการที่นั่งวีลแชร์มาดูคอนเสิร์ต ได้ขึ้นมาร่วมแสดงบนเวทีโดยมีฝูงชนเบื้องล่างช่วยกันยกวีลแชร์ส่งต่อมาเรื่อยๆ ตลอดจนให้เด็กๆ ที่เล่นเปียโนได้ขึ้นมาร่วมแสดงกับพวกเขาด้วย อีกทั้งมักจะแอบโผล่ไปเซอร์ไพรส์แฟนๆ วัยรุ่นที่นำเพลงของ Coldplay มาเล่นโชว์ตามสถานที่ต่างๆ
ในปี 2017 วง Coldplay เคยปล่อยเพลงที่ชื่อว่า A L I E N S สะท้อนวิกฤตปัญหาผู้อพยพในยุโรป เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ สมาชิกทุกคนในวงเคยสวมเสื้อที่สกรีนข้อความ “Everyone is an alien somewhere” เพื่อสื่อว่าเราทุกคนล้วนเคยถูกทำให้เป็น ‘เอเลี่ยน’ ในสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่สุดท้ายทุกคนก็คือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน
ทำไมใครๆ ก็อยากไปดูคอนเสิร์ตของ Coldplay สักครั้งในชีวิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Coldplay เป็นวงดนตรีที่มีวิธีโปรโมตที่น่าสนใจมากๆ ตั้งแต่การไลฟ์สตรีมมิงคอนเสิร์ตจากอาร์เจนตินาส่งตรงถึงโรงภาพยนตร์ทั่วโลก กระตุ้นความอยากชมคอนเสิร์ตจริงๆ ของแฟนเพลง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตบนเวทีในสเตเดียมที่โปรดักชันโดดเด่น ทั้งแสง สี เสียง และพลุตระการตา
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่วงได้มอบประสบการณ์ที่น่าจดจำให้ผู้ชม ก็คือการทำให้แฟนๆ รู้สึกมีส่วนร่วมผ่านสายรัดข้อมือไฟกะพริบที่เปลี่ยนสีได้ถึง 7 สีตามจังหวะเพลงต่างๆ เคยใช้ ‘Xyloband’ แจกให้ผู้ชมครั้งแรกในปี 2012 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้สายรัดข้อมือรักษ์โลกที่ผลิตโดย PixMob ในทัวร์ Music Of The Spheres World Tour มีจุดเด่นตรงที่เป็นสายรัดข้อมือพลาสติกที่ทำจากพืชที่ย่อยสลายได้ชนิดแรกของโลก (Plant-based)
ความสำเร็จในวันนี้ จึงไม่ได้มาจากตัวตน ความสามารถ หรือเอกลักษณ์ทางดนตรีเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความทุ่มเทในการทำงานเพื่อผลิตผลงานเพลงคุณภาพสูง พวกเขาพร้อมที่จะใช้ชื่อเสียงของตัวเองในการจุดกระแสให้เห็นถึงปัญหาโลกร้อนและการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ การเดินทางของ Coldplay นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งฝันถึงการเป็นศิลปินระดับโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้ได้ก้าวเดินตาม
การเป็นวงจากอังกฤษที่มีอายุวงเกิน 20 ปี แต่ยังสามารถโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีระดับโลกอย่างสวยงามในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ Coldplay ก็สามารถทำได้ ความสำเร็จนี้ไม่ได้การันตีจากตารางทัวร์ที่แน่นแทบทุกเดือน หรือรายได้มหาศาลที่ได้รับในแต่ละคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังพิสูจน์ด้วยการเป็นวงดนตรีในใจของผู้คน บทเพลงของพวกเขากลายเป็นแสงสว่างที่มอบความหวังให้คนฟังมาแล้วทั่วโลก นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมใครๆ จึงอยากจะหาโอกาสไปชมคอนเสิร์ตของ Coldplay หนึ่งในวงดนตรีที่ได้ชื่อว่า “ดีที่สุดในโลก” ด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้งในชีวิต...
เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
ภาพ : Coldplay
อ้างอิงข้อมูล : billboard, thisisdig, wbur, obscuresound, looktothestars
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง