วิธีลดขยะอาหาร ซึ่งเป็นของกินที่เหลือใช้จากก้นครัว ทำได้กี่วิธี มีอะไรบ้าง

ขยะอาหาร หรือ Food waste คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ยิ่งกว่าอุตสาหกรรมการบิน นอกจากนี้คนไทยสร้างขยะอาหารมากถึงคนละ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แล้วเราจะมีวิธีลดขยะอาหารด้วยตัวเองอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยกอบกู้โลกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

10 วิธีลดขยะอาหาร 

สำหรับวิธีลดขยะอาหารนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน แต่การลดขยะอาหารที่ยั่งยืนที่สุดควรเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือการซื้ออาหารไปจนถึงวิธีจัดการขยะอาหารให้ถูกวิธีโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. วางแผนก่อนซื้อ

เมื่อคิดจะซื้ออาหาร หรือลงมือทำอาหารเอง ควรวางแผนเมนูอาหารที่จะทำในแต่ละวันหรือสัปดาห์ เช็กวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอยู่แล้ว แล้วจึงจดรายการและปริมาณที่ต้องซื้อเพิ่มเอาไว้ ควรซื้อเฉพาะแค่ในรายการที่ต้องการ เพื่อลดการซื้อของเกินความจำเป็นและลดปริมาณอาหารที่เหลือจากการบริโภค หรืออาหารที่หมดอายุให้กับครอบครัวได้

การคำนวณปริมาณอาหารให้เหมาะกับจำนวนคนกินในแต่ละครั้งก็ช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้
การคำนวณปริมาณอาหารให้เหมาะกับจำนวนคนกินในแต่ละครั้งก็ช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้

...

2. จัดเก็บให้ถูกวิธี ช่วยยืดอายุก่อนกลายเป็นขยะอาหาร

อาหารแต่ละประเภทหากจัดเก็บให้ถูกวิธีก็ช่วยอายุอาหารก่อนกลายเป็นขยะได้นานขึ้น เมื่อทำความสะอาด หรือตัดแต่งวัตถุดิบต่างๆ แล้ว ควรจัดเก็บใส่กล่อง หรือถุงซิปล็อก พร้อมเขียนโน้ตแปะวันที่ซื้อมาเพื่อช่วยเตือนความจำว่าต้องรีบกินก่อนที่จะเสียแล้วกลายเป็นขยะอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดที่ต้องแช่ในตู้เย็น หรือช่องแช่แข็งที่เหมาะสมกับการจัดเก็บ เช่น

  • เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ตัดแต่งหรือแบ่ง แยกเก็บในภาชนะที่สะอาด เช่น กล่องหรือใส่ถุงซิปล็อก แช่ในช่องฟรีซ
  • นม โยเกิร์ต กะทิ เก็บไว้ชั้นบนสุดใต้ช่องฟรีซ อุณหภูมิเย็นจัดคงที่เหมาะกับอาหารที่เสียง่าย
  • ไข่ เนย ซอส ไม่ต้องการความเย็นมาก ใส่ตะกร้าหรือกล่องให้เป็นสัดส่วน สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นฝั่งบานประตูได้
  • ผัก ผลไม้ ใส่ถุงใสเจาะรูให้อากาศถ่ายเท เก็บในช่องแช่ผักช่วยรักษาความสด
  • ถั่ว ธัญพืชต่างๆ ควรตากให้แห้งสนิท แล้วเก็บในภาชนะที่สะอาด ไม่อับชื้น
  • กระเทียม หอมแดง ผึ่งหรือแขวนไว้ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท
  • อาหารแห้ง เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิดเป็นสัดส่วน ไม่วางทับปนเปกัน เพื่อป้องกันแมลงมารบกวน

3. จัดระเบียบตู้เย็นให้สะอาดเรียบร้อย

การจัดระเบียบตู้เย็นก็เป็นวิธีลดขยะอาหารได้ ด้วยการวางของที่ใหม่กว่าใส่ไว้ด้านในสุด จะได้ไม่ลืมอาหารที่ถูกเก็บไว้นานจนเสีย ช่วยลดการทิ้งขยะอาหารลงได้ และยังทำให้หยิบอาหารสะดวกขึ้น มองเห็นของเป็นสัดเป็นส่วน ซึ่งตู้เย็นสามารถกระจายความเย็นทั่วถึงกัน ช่วยยืดอายุอาหารให้เน่าเสียช้าลงได้

นอกจากนี้ควรทำความสะอาดตู้เย็นเป็นประจำโดยใช้น้ำเปล่าผสมเบกกิงโซดา หรือน้ำยาล้างจาน แล้วนำผ้ามาชุบน้ำยาเช็ดแต่ละชั้น จากนั้นเช็ดซ้ำด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง เพื่อช่วยลดการสะสมของคราบสกปรก ลดกลิ่นอาหารและกลิ่นอับได้

4. ทำความเข้าใจฉลากวันหมดอายุ

อาหารบางชนิดระบุวันหมดอายุบนฉลาก หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยในการจัดเก็บและบริหารจัดการอาหารได้ดีขึ้น หากเข้าใจวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสมจากคำแนะนำที่เขียนไว้ จะช่วยยืดอายุอาหารออกไปได้ รวมไปถึงรู้กำหนดวันที่ระบุไว้ โดยตัวย่อบนฉลากอาหารที่ควรรู้ คือ

  • MFG / MFD (Manufactured ate) คือ วันที่ผลิตอาหาร
  • MFD (Expiration date), EXP (Expiry date) คือ วันหมดอายุ ไม่สามารถกินได้หลังจากวันที่ระบุไว้ อาหารอาจเน่าเสียหรือบูด
  • BB / BBE (Best before / Best before end) คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ระบุ แต่แม้จะเลยวันที่กำหนดแล้วก็ยังสามารถบริโภคได้ต่อ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่คุณค่าทางโภชนาการ หรือคุณภาพอาหารอาจลดลง เช่น เนื้อสัมผัส สี ความหนืด เป็นต้น

ทุกครั้งก่อนจะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาประกอบอาหาร ควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ให้ดีว่าไม่มีรอบบุบ ไม่บวม รูปทรงไม่ผิดรูปไปจากเดิม หรือมีสนิมเกาะ ถ้ามีลักษณะเหล่านี้ควรตัดใจทิ้งโดยไม่ต้องเสียดาย เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

5. คำนวณปริมาณอาหารให้พอดีกับจำนวนคน

การทำอาหารกินเองสามารถช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้หากมีการคำนวณสัดส่วนปริมาณอาหารที่เหมาะกับจำนวนคนกินเพื่อลดจำนวนขยะอาหารที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังทำอาหาร รวมทั้งยังลดปริมาณอาหารส่วนเกินจากการกินเหลือไม่ให้กลายเป็นขยะอาหารในอนาคตอีกด้วย

6. นำผักไปปลูกใหม่

ผักบางชนิดที่เรานำส่วนใบไปปรุงอาหารแล้วยังเหลือต้นและราก ก็สามารถนำกลับไปปลูกใหม่ได้อีก เช่น โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ผักแพว เป็นต้น นอกจากช่วยลดขยะอาหารแล้วยังลดต้นทุนในการซื้อมาใช้ครั้งต่อไปได้ด้วย

...

วิธีปลูกง่ายๆ เตรียมกิ่งความยาวประมาณ 1 คืบ เด็ดใบออกให้เหลือนิดหน่อย ปักลงในดิน กดให้พอแน่น นำฟางมาคลุมไว้ด้านบน และรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพียง 5-7 วัน รากก็จะงอก และจะเจริญเติบโตให้สามารถเก็บไปทำอาหารได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

7. นำไปเลี้ยงสัตว์

ขยะอาหารที่เหลือจากการกิน หรือการปรุง และยังไม่เน่าเสียบางอย่าง เช่น เศษผักผลไม้หรือเปลือกไข่บดละเอียดนำไปใช้เลี้ยงเป็ด ไก่ ส่วนพวกเศษขนมปังก็นำไปเป็นอาหารปลาได้ ซึ่งเป็นวิธีลดขยะอาหารที่ได้ผลดี และยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้ด้วย

8. นำไปทำปุ๋ย

นอกจากเศษผัก หรือเปลือกไข่ เปลือกผลไม้ ก็ยังสามารถใช้พวกเศษก้างปลา กระดูกสัตว์ เศษข้าว ขนมปัง เศษเนื้อหมูไก่ ฯลฯ นำไปคลุกกับเศษใบไม้แห้งและดิน เพื่อช่วยดูดซับความชื้นของอาหาร จากนั้นหมักในภาชนะเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย

9. นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ

ขยะอาหารจากพืชผักผลไม้สามารถนำไปผสมเพื่อทำเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งรดน้ำต้นไม้ ใส่ในกองปุ๋ยเพื่อเร่งการย่อยสลาย ไปจนถึงนำไปใช้เป็นน้ำยาล้างจานที่ลดคราบมันได้ดี

...

10. ใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อ

  • กากชาและกาแฟ นำไปช่วยดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในห้องครัว นอกจากนี้ยังนำกากกาแฟมาเช็ดคราบมันที่ภาชนะก่อนนำไปล้างตามขั้นตอนปกติได้
  • น้ำซาวข้าว สามารถใช้ล้างสารพิษในผักผลไม้ได้ รวมทั้งนำไปล้างภาชนะ ช่วยลดคราบไขมัน คราบอาหาร หรือจะนำไปรดน้ำต้นไม้ก็ช่วยเพิ่มสารอาหารในดิน แนะนำว่าควรใช้น้ำซาวข้าวครั้งที่ 2 เนื่องจากน้ำที่ซาวครั้งแรกอาจมีสิ่งเจือปน

ทั้งหมดนี้คือวิธีลดขยะอาหาร ที่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำคือการวางแผนบริหารจัดการก่อนซื้ออาหารมาทำเองไปจนถึงปลายน้ำเพื่อจัดการขยะอาหารที่เหลือใช้จากการกินและการปรุง ซึ่งเป็นการลดขยะอาหารอย่างยั่งยืน ที่เราเองก็สามารถเริ่มต้นช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ตั้งแต่ในครัว.

ข้อมูลอ้างอิง: สสส., เนสท์เล, ยูนิลีเวอร์