ข้อปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเบื้องต้น ควรทำอย่างไรให้ออกมาจากสถานที่นั้นอย่างปลอดภัย และข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ควรทำเพื่อความปลอดภัย

แผ่นดินไหวนั้นเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก เพื่อปรับความสมสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ (การขยาย และการคืนผิวโลก)  และการสั่นสะเทือนของพื้นดิน เป็นการปลดปล่อยพลังงาน หรือแม้แต่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์จากสิ่งปลูกสร้าง เช่น การกักเก็บน้ำจากเขื่อน การทำเหมืองแร่ หรือการทดลองระเบิดปรมาณู เป็นต้น

บ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ลึก 10 กม. ที่เมียนมา รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้หลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตึกสูงใน กทม. รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย และเป็นเวลาสำคัญในการทำงาน ทำให้ผู้ที่อยู่บนตึกสูงต่างรู้สึกตึกโยก และมีการรีบอพยพ เคลื่อนย้ายลงมาจากตึกทันทีเพื่อเฝ้าระวัง

วิธีรับมือแผ่นดินไหว

ตั้งสติ 

การมีสติเป็นเรื่องสำคัญในการรับมือกับแผ่นดินไหว มีผลต่อการเคลื่อนย้ายตนเองออกจากสถานที่นั้นๆ การมีสติจะทำให้ตนเองเคลื่อนย้ายออกมาได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการปิดสวิตช์ไฟ แก๊ส และน้ำประปา เพื่อยับยั้งอันตรายอื่นๆ ที่จะตามมา

ออกจากอาคาร 

หากอยู่บนอาคาร ให้รีบเคลื่อนย้ายโดยทันที เพราะแผ่นดินไหวมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตึก และอาคารทรุด ร้ายแรงถึงขั้นถล่มได้ ให้รีบหาประตูทางออก และหาสิ่งของที่มีลักษณะแข็งเพื่อใช้ป้องกันศีรษะ

หาที่กำบัง 

หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ควรหาพื้นที่กำบัง เช่น การหลบใต้อุปกรณ์ที่มีความแข็งแรง หรือหากอยู่บนตึกให้ยืนใกล้ๆ กับกำแพงตรงกลางอาคารจะปลอดภัยที่สุด และห้ามอยู่ใกล้กับหน้าต่างอาคารโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะร้าว และแตกเสียหายได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

...

การขับขี่ 

ขณะขับขี่ให้ชะลอรถยนต์ ห้ามหยุดรถยนต์โดยทันที หาที่จอดข้างทางให้เป็นบริเวณโล่งแจ้ง ไม่ติดอาคาร ภูเขา และริมทะเลที่มีความเสี่ยง แล้วหาที่กำบัง

สิ่งไม่ควรทำเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

  • ห้ามใกล้จุดเสี่ยง ที่อาจจะหล่นลงมาทับได้ เช่น เสาไฟฟ้า อาคาร ภูเขา ประตู และหน้าต่าง
  • ห้ามใช้ลิฟต์
  • ห้ามขับรถยนต์ขณะเกิดแผ่นดินไหว
  • ระวังการอยู่ใกล้เขื่อน หรือชายหาด

วิธีปฏิบัติหลังเกิดแผ่นดินไหว

  • ตรวจสอบคนรอบข้างว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ 
  • ตรวจเช็กท่อน้ำ สายไฟ และสายแก๊สว่ามีการชำรุดเสียหายหรือไม่ ให้มีการแก้ไขทันที เพื่อไม่ให้เกิดเหตุอื่นๆ ตามมา
  • เปิดประตู หน้าต่าง ทิ้งไว้ และออกจากพื้นที่ พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ 
  • ติดตามข่าวสารข้อมูล และคำแนะนำเกี่ยวกับภัยพิบัติ 
  • ตรวจสอบสภาพความชำรุดเสียหายของโครงสร้างอาคารบ้านเรือน และออกห่างอาคารบ้านเรือนที่ชำรุดเสียหาย
  • หากเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ให้ใช้บันไดในการสัญจร ควรใส่รองเท้าหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเศษหรือสิ่งของต่างๆ บาด และทำให้บาดเจ็บได้
  • บำรุง และรักษาช่องทางกู้ภัย เช่น บันไดหนีไฟ ให้มีความคล่องตัวดังเดิม
  • ทำตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานในการหนีภัย 
  • หากอยู่บริเวณท่าเรือ เขื่อน และริมทะเล ให้ออกมาจากบริเวณเหล่านี้ทันที และห้ามเข้าในเขตประสบภัยแผ่นดินไหวโดยมิได้รับอนุญาต 
  • ควรระมัดระวังการลักขโมยทรัพย์สินด้วย
  • ระวังการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ (After shock)

ข้อมูล : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว