Food waste หรือขยะอาหาร คือหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าอุตสาหกรรมการบินถึง 4 เท่า จะดีกว่าไหมหากมีผู้ที่ช่วยกอบกู้อาหารส่วนเกิน ก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหารแล้วส่งผลกระทบในระยะยาว
ประเทศไทย ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาจาก ขยะอาหาร (Food waste) ได้มากถึงคนละ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่าชาวฝรั่งเศส 30% และมากกว่าชาวอเมริกันถึง 40%
ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีขยะอาหาร (Food waste) มากถึง 64% ของปริมาณขยะทั้งหมด รวมทั้งยังมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และในส่วนของ กทม.สามารถรีไซเคิลขยะอาหารได้เพียง 2% เท่านั้น
จุดเริ่มต้นของแอปฯ ยินดี (Yindii)
แอปพลิเคชันยินดี (Yindii) คือแพลตฟอร์มส่งอาหารที่มีจุดยืนด้านการ “กอบกู้อาหาร” จากร้านค้าต่างๆ ก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหารแล้วสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
Mahima Rajangam Natarajan ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด แอปพลิเคชัน ยินดี (Yindii) เล่าให้ทีมข่าวไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ฟังว่า จุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชันนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิอาหาร SOS Thailand ได้นำอาหารส่วนเกินจากร้านค้ามาทำเป็นกองทุนอาหารและแจกจ่ายให้กับผู้ที่ขาดแคลน
...
“จากการเป็นอาสาสมัครจึงทำให้เห็นช่องทางว่ามีโอกาสตรงนี้ เพื่อให้ร้านค้าได้ขายอาหารให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เราก็เลยคิดว่าควรทำแอปพลิเคชันเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างร้านค้าและผู้บริโภค เพื่อเป็นศูนย์กลางระหว่างคนต้องการขายและคนต้องการซื้อ ก็น่าจะช่วยลดปริมาณขยะอาหาร หรือ Food Waste ได้ เพราะ 10% ของอาหารที่เหลือทิ้งนั้นสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าอุตสาหกรรมการบินถึง 4 เท่า พอเราเล็งเห็นตรงนี้ว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกทาง ก็น่าจะทำเป็นแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา”
สาเหตุที่เลือกเปิดแพลตฟอร์มส่งอาหารเพื่อลดขยะอาหารในไทยเป็นที่แรก ก็เพราะว่าไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาในการสร้างปริมาณ Food waste สูงเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา ทั้งที่มีขนาดพื้นที่เล็กกว่ามาก การเริ่มต้นแก้ปัญหาในพื้นที่นี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
จุดเปลี่ยนทัศนคติขยะอาหาร (Food waste) ของคนไทย
ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัญหาขยะอาหาร (Food waste) ในไทยยังเป็นเรื่องคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เพราะเมื่อพูดถึงความยั่งยืน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม คนไทยมักจะนึกถึงขยะพลาสติก หรือการลดใช้ขวดน้ำ หรือการปลูกต้นไม้ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องขยะอาหาร หรือ Food waste ก็ยังไม่มีใครเข้าใจ แต่เมื่อเทียบระหว่างวันนี้กับ 2 ปีที่แล้ว ก็ยอมรับว่าคนไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
“นอกจากการทำธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีแล้ว เรายังให้ความรู้ว่า Food waste คืออะไร และจะจัดการอย่างไรเมื่อมีของเหลือในตู้เย็น เอามาทำกับข้าวอะไรได้บ้าง เรามุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ และเพิ่มไอเดียในการบริหารจัดการขยะอาหาร แต่ถ้าเทียบกับในอนาคตก็ยังถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่เราให้ความรู้เพื่อให้คนไทยตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้มากขึ้น”
ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของขยะอาหารในมุมของคนไทยหลายคนก็มองว่าเป็นอาหารเหลือทิ้ง หรืออาหารที่ใกล้หมดอายุ ทำให้เกิดการลังเลที่จะซื้อ เรื่องนี้ Mahima ได้อธิบายว่า ในแอปพลิเคชันยินดี (Yindii) มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารจำนวนไม่น้อยเป็นร้านอาหารในโรงแรมชื่อดังระดับ 5 ดาว รวมถึงร้านเบเกอรี่ชื่อดังหลายร้านที่มักจะประสบปัญหาอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ซึ่งเป็นอาหารที่เกินจากความต้องการของลูกค้าหน้าร้านในแต่ละวัน โดยที่ผ่านมามักจะถูกนำไปทิ้งทั้งที่ยังไม่หมดอายุ แม้ว่าจะยังรับประทานได้ก็ตาม เพราะต้องการเข้มงวดเรื่องคุณภาพของอาหาร จึงไม่สามารถนำอาหารส่วนเกินที่ตกค้างมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าวันต่อไปได้
...
“ดังนั้นอาหารที่ลูกค้าได้รับจากเราก็เป็นอาหารแบบเดียวกับที่หน้าร้าน ไม่ใช่อาหารที่คุณภาพไม่ดี หรือใกล้หมดอายุแต่อย่างใด คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า อาหารส่วนเกิน (Food surplus) กับขยะอาหาร (Food waste) คือส่วนเดียวกัน แต่ความจริงแล้วเราพยายามกอบกู้อาหารก่อนที่จะกลายเป็นขยะ”
จุดเด่นที่แตกต่าง
นอกจากจุดยืนที่พัฒนามาเพื่อกอบกู้อาหารส่วนเกิน ก่อนที่จะกลายเป็นขยะแล้ว ในมุมของแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี ยินดี (Yindii) ก็มีจุดเด่นที่ต่างออกไปคือการมีเซอร์ไพรส์บ็อกซ์ หรือ “กล่องสุ่ม” ที่มาพร้อมกับอาหารคุณภาพดีจำหน่ายในราคาที่จับต้องได้ให้กับลูกค้า
“ฟีเจอร์เด่นที่เราต่างจากฟู้ดเดลิเวอรีทั่วไปคือ เรามีเซอร์ไพรส์บ็อกซ์ หรือกล่องสุ่ม ที่ทางร้านค้าจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีชิ้นไหนที่เหลือจากการจำหน่ายที่หน้าร้าน แต่เมื่อตั้งมูลค่าของกล่องก็สามารถจัดสินค้าลงกล่องได้ ก็ทำให้ลูกค้ามีความสุขทุกครั้งเมื่อเปิดกล่อง เพราะแบรนด์ร้านค้ามีคุณภาพดีในตัวอยู่แล้ว ต่อให้ใส่อาหารอะไรลงมา แต่มีมูลค่าตามกล่อง เช่น กล่องราคา 300 บาท อาหารข้างในก็มีมูลค่าเท่าราคา แค่นี้ลูกค้าก็แฮปปี้แล้ว อีกจุดเด่นหนึ่งก็คือ เรามีส่วนลดที่มากกว่าฟู้ดเดลิเวอรีทั่วไปสูงสุดถึง 80% และเราให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะอาหาร 1 กล่อง แทนที่เราจะทิ้งไป ก็ได้กู้คืนอาหารนั้นกลับมา นี่คือจุดเด่น 3 สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น”
...
ปัจจุบันมีร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กับแอปฯ ยินดี (Yindii) มากกว่า 300 ร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหารจากโรงแรม 5 ดาวทั่วกรุงเทพฯ ร้านเบเกอรี่ชื่อดัง ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านค้ารายเล็กที่ไม่มีหน้าร้าน และล่าสุดได้ร่วมมือกับเอสแอนด์พีซึ่งมีถึง 70 กว่าสาขาทั่วกรุงเทพฯ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น
ลูกค้าคือ Food Hero ผู้กอบกู้อาหาร
แม้ว่าแอปฯ ยินดี (Yindii) จะเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาแนวคิดนี้ แต่ผู้ที่มีส่วนร่วมช่วยกอบกู้อาหารส่วนเกินไม่ให้กลายเป็นขยะอาหารในอนาคตก็คือลูกค้า ซึ่งเรียกว่า “Food Hero”
“เราเรียกผู้ใช้บริการของเราว่า Food Hero ตอนนี้มียอดดาวน์โหลดตามที่ตั้งเป้าไว้คือ 1.7 แสนราย และคาดว่าจะเพิ่มด้วย เพราะด้วยแนวคิดของเราที่ทำให้ผู้ใช้งานมีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือโลกและได้ความสนุกสนานจากกล่องเซอร์ไพรส์ด้วย และยังได้ประหยัดเงินด้วย ทำให้เกิดการพูดปากต่อปากให้เราจนเกิดเป็นไวรัลมากขึ้น ก็ทำให้มีคนดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นไปด้วย”
ผู้ที่ดาวน์โหลดแอปฯ ยินดี (Yindii) ส่วนมากเป็นคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ เนื่องจากพื้นที่ให้บริการและร้านค้าส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณนี้ แต่ในอนาคตก็มีแผนที่จะขยายพื้นที่ออกไปให้มากขึ้นด้วยการร่วมมือกับร้านค้าที่มีสาขาจำนวนมากเพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ในช่วงเริ่มต้นที่เพิ่งเปิดตัวแอปฯ ยินดี (Yindii) ผู้ใช้บริการส่วนมากจะเป็นคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ปัจจุบันเริ่มมีผู้ชายมากขึ้น จากนั้นพอทำไปได้สักระยะ คนที่สั่งซื้อก็ติดใจในคุณภาพและราคาที่คุ้มค่า ทำให้กลุ่มผู้ซื้อเปลี่ยนไปจากเดิม
“มีเด็กนักเรียนที่ได้รับความรู้จากการเรียนการสอนว่าขยะอาหารคืออะไร ก็ทำให้รู้ว่าแอปฯ ยินดีสามารถแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ แล้วนำไปบอกผู้ปกครอง ก็ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้จำกัดว่ากลุ่มลูกค้าเป็นวัยไหน แค่ใช้แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีเป็น และชอบแนวคิดของเราก็ใช้บริการได้”
...
นอกจากเริ่มต้นให้บริการในไทยเป็นที่แรกแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้แอปฯ ยินดี (Yindii) ยังขยายตลาดไปยังฮ่องกงอีกด้วย พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านแอปพลิเคชันที่กอบกู้อาหารในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ในสิงคโปร์และอินโดนีเซียก็มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการคล้ายกับเราเช่นกัน แต่แอปฯ ยินดี มีข้อได้เปรียบตรงที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 5-6 เท่า จึงเป็นส่วนที่ทำให้เรามาเปิดตลาดที่ฮ่องกง ซึ่งมีการตอบรับที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะคนที่นี่มีความรู้เรื่องขยะอาหารค่อนข้างมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับคนไทย ทำให้คนฮ่องกงยินดีที่จะใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อช่วยลดปัญหาขยะอาหาร และก็ได้ลดราคาค่าอาหารลงไปด้วย” Mahima กล่าวปิดท้าย.
ภาพ: ธนัท ชยพัทธฤทธี