สะพานพระราม 8 กลายเป็นที่สนใจในโลกโซเชียล หลังจากที่เมื่อคืนวันที่ 8 พ.ค. 2566 มีการยิงเลเซอร์ข้อความหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติไปที่สะพานแห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่อนุญาตหาเสียง จนเกิดเป็นกระแสไวรัลดังในวันนี้

ประวัติ สะพานพระราม 8

สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิชัยพัฒนา ในปัจจุบัน) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

สะพานนี้เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อส่วนสุดท้ายของโครงข่ายจตุรทิศ ตะวันตก-ตะวันออก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สะพานพระราม 8 ช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น โดยช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธน อีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2545 เวลา 7:00 น. และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ดังที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของธนบัตรใบละ 20 บาท แบบที่ 15 ซึ่งมีรูปสะพานพระราม 8 ปรากฏอยู่เบื้องหลังพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8

...

สะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร สูงเท่าสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และความลาดชันไม่เกิน 3% เป็นสะพานหลักช่วงข้ามแม่น้ำ 300 เมตร สะพานยึดช่วงบนบก 100 เมตร และสะพานช่วงโครงสร้างยึดเสา 75 เมตร มีรูปแบบโดดเด่นสวยงามเพราะได้ออกแบบเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร ซึ่งหมายความว่ามีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่งพระนคร จึงไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ ช่วยป้องกันน้ำท่วมและระบบนิเวศวิทยาในน้ำ รวมทั้งไม่กระทบต่อการจัดตั้งกระบวนพยุหยาตราชลมารค

การรับน้ำหนักของสะพาน ได้ติดตั้งสายเคเบิลระนาบคู่ 28 คู่ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยว 28 เส้น ขึงยึดรั้งกับโครงสร้างยึดเสาสะพานบนฝั่งธนบุรี เคเบิลแต่ละเส้นประกอบด้วยสลิงตั้งแต่ 11-65 เส้น เมื่อเกิดปัญหากับเคเบิล สามารถขึงหรือหย่อนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องปิดการจราจรเหมือนสะพานพระราม 9 เนื่องจากเคเบิลแต่ละเส้นใช้สลิงภายในซึ่งเป็นขดลวดใหญ่ทำให้ดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมยากกว่า อีกทั้งสายเคเบิลของสะพานพระราม 8 ยังมีสีเหลืองทอง สีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อสะท้อนแสงจะส่องประกายสวยงาม โดยเฉพาะยามค่ำคืน

สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรที่ยาวติดอันดับ 5 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนีซึ่งติดอันดับถึง 3 สะพาน และประเทศเนปาล โดยนับจากความยาวช่วงของสะพาน ส่วนสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานขึงตัวแรกแต่เป็นแบบสมมาตร เพราะมี 2 เสา ถือว่าอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก โดยนับความยาวช่วงของสะพานได้ 450 เมตร

บริเวณด้านล่างซึ่งเป็นฐานของเสาถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะหรือสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 ที่ใหญ่กว่าขนาดพระองค์จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงเปิดพระบรมรูปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ยิงเลเซอร์ข้อความหาเสียงที่สะพานพระราม 8 ได้หรือไม่

สำหรับกรณีที่มีการยิงเลเซอร์ข้อความหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยในการแถลงข่าวด่วนว่า เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ทำหนังสือถึงปลัด กทม. เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ลานริมแม่น้ำสวนหลวงสะพานพระราม 8 โดยแนบรูปรายละเอียดที่จะขอใช้งาน และมีการระบุว่า จะขอฉายภาพข้อความ แต่ กทม.อาจจะตรวจสอบหนังสือไม่ละเอียด อีกทั้งเข้าใจว่าน่าจะเป็นการหาเสียงปกติ ไม่ได้คิดว่าจะมีการฉายภาพไปบนเสาสะพานด้วย เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่อนุญาตหาเสียง ซึ่งอาจจะต้องให้หยุดการหาเสียงในลักษณะดังกล่าวไปก่อน เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่อนุญาตให้ใช้หาเสียง รวมทั้งต้องเป็นบทเรียนต่อไป ที่จะต้องพิจารณาหนังสือขออนุญาตให้ละเอียดมากขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า ไม่มีการลำเอียง หรือเอื้อประโยชน์ให้ใคร หรือพรรคการเมืองใด ทุกฝ่ายพยายามทำตามกฎหมาย และมีนโยบายชัดเจนที่จะให้ใช้พื้นที่ในการปราศรัยหาเสียงเป็นหลัก รวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครที่ทำหนังสือขออนุญาตมาแล้ว แต่อาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน และไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีทั้งสองฝ่าย เพราะหากทาง กทม.ทราบว่าจะใช้พื้นที่เสาสะพาน ก็คงไม่อนุญาต ส่วนผู้ที่ขอมา ก็คงเข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้ว ส่วนเรื่องจะผิดกฎหมายหรือไม่ หรือต้องรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายหาเสียงอย่างไร ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการพิจารณา

...

อ้างอิงข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)