เศรษฐา ทวีสิน ตัวเต็งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย มาพร้อมประวัติที่โดดเด่นจากการเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ และเบนเข็มสู่แวดวงการเมืองเป็นครั้งแรก

ประวัติ เศรษฐา ทวีสิน

“เศรษฐา ทวีสิน” มีชื่อเล่นว่า “นิด” เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 60 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มการทำงานในปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ก่อนมาดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของแสนสิริเผยว่า ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2566 เป็นเวลาทั้งหมด 17 ปี เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งกรรมการในกว่า 30 บริษัท เช่น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน)), บริษัท สิริพัฒน์ ทเวลฟ์ จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ อีเลฟเว่น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ เท็น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ ไนน์ จำกัด เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 เขาได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งของแสนสิริ พร้อมโอนหุ้นทั้งหมดของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวนกว่า 661,002,734 หุ้น ให้แก่นางสาวชนัญดา ทวีสิน ผู้เป็นบุตรสาว โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเตรียมพร้อมทำงานการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย 

...

บทบาทด้านนักธุรกิจที่ผ่านมา เศรษฐา เป็นผู้นำทางความคิดที่ขับเคลื่อนแนวคิดใหม่ๆ ให้กับวงการอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแวดวงอสังหาฯ (Prop Tech) การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและองค์กร จนแสนสิริได้เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ไปจนถึงการตั้งเป้าให้แสนสิริเป็นองค์กร Net-zero ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ความสำเร็จสะท้อนได้จากผลการดำเนินงานของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ประจำปี 65 มีกำไรสุทธิ 4,280 ล้านบาท เติบโต +112% จากปี 2564 ทุบสถิติกำไรสูงสุดของบริษัทที่เคยทำมา และมีรายได้รวม 34,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +18% จากปี 2564

ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน เคยแสดงความคิดเห็นเรื่องการบริหารบ้านเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมได้เฉียบคมถึงกึ๋น รวมทั้งยังใช้สื่อโซเชียลทุกแขนง โดยเฉพาะทวิตเตอร์ สื่อสารกับคนรุ่นใหม่อย่างน่าฟัง สะท้อนถึงวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันยุคทันสมัย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่ที่คนไทยใฝ่ฝัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้ติดตามเขาเป็นจำนวนมาก บนเฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin มีผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นคน ขณะที่บนทวิตเตอร์ @Thavisin 

จากวิสัยทัศน์และประสบการณ์ที่น่าสนใจของเศรษฐา จึงทำให้เขาเป็นที่สนใจของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ได้หารือกันและมองเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยในยามที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาจากโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ผ่านประสบการณ์และความสำเร็จจากการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ และมีแนวคิดในเชิงสังคม เข้าใจปัญหาสังคมไทย

เศรษฐา ทวีสิน กับการเริ่มต้นเส้นทางการเมือง

หลังจากวางมือในบทบาทนักธุรกิจแล้ว การเริ่มต้นสวมหมวกนักการเมืองของ เศรษฐา ทวีสิน ก็เดินหน้าขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมประกาศนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงิน 1 หมื่นบาท” ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ให้ใช้ภายใน 6 เดือน นำไปจับจ่ายใช้สอยในชุมชน รัศมี 4 กิโลเมตรนับจากที่อยู่ในบัตรประชาชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนในระยะสั้น สร้างเสียงฮือฮาให้กับทางฝั่งประชาชน และสร้างความหวั่นไหวให้พรรคฝั่งตรงข้ามถึงกับต้องออกมาโต้แย้งถึงความเป็นไปได้เลยทีเดียว

พร้อมกันนี้ เขายังประกาศไม่ยอมรับกัญชาเสรี ยอมรับเพียงแต่กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และตอกย้ำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่าไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร

สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศในฐานะแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย มีน่าสนใจหลายนโยบายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเติมเงิน 20,000 ต่อเดือนทุกๆ เดือนให้กับครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง, แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทย, ยกระดับพาสปอร์ตไทยให้ได้รับยกเว้นวีซ่าในอีกหลายประเทศมากขึ้น, สนับสนุนให้คนไทยและต่างชาติไปเที่ยวเมืองรอง, เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวนำเงินมาฝากในไทย, เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจ

นอกจากนี้ยังประกาศนโยบายคืนสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชนทุกคนให้เท่าเทียมกัน รวมถึงสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ถูกด้อยไปหลายอย่าง เช่น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการ การหมั้น การอุ้มบุตร เพื่อสร้างความเสมอภาคให้สิทธิคนทุกกลุ่มได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าทุกคนเท่ากันโดยปราศจากเงื่อนไขเพศสภาพ จะแก้ไขกฎหมายคืนสิทธิทุกคนอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น คนรวย คนจน ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน

...