ปลาวัวไททัน ปลาทะเลที่พบได้บ่อยในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนของอินโด-แปซิฟิก ขึ้นชื่อเรื่องความหวงถิ่นอาศัยและดุดันไม่เกรงใจใคร เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดำน้ำว่าต้องระวัง

ปลาวัวไททัน (Titan triggerfish) กลายเป็นที่สนใจในโลกโซเชียลจากกรณีที่ครูสอนดำน้ำคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ฆ่าปลาวัวไททันตาย เนื่องจากความโมโหที่ถูกกัดหลังจากว่ายเข้าไปใกล้แนวปะการัง และจะนำปลาตัวดังกล่าวไปทำอาหาร จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นจำนวนมาก

ปลาวัวไททัน (Titan triggerfish) หรือปลาวัวอำมหิต หรือปลาวัวหน้าลาย เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาวัว (Balistidae) มีรูปร่างที่บึกบึนกว่าปลาวัวชนิดอื่น ปากมีขนาดใหญ่มีเขี้ยวสั้นคมอยู่ภายใน ครีบหางปลายตัดมน ข้างแก้มมีสีน้ำตาลส้ม มีปื้นสีคล้ำคาดบริเวณหน้า ปากมีคาดสีดำสลับขาว ด้านหลังสีน้ำตาลอ่อน ข้างลำตัวมีสีคล้ำลายสีน้ำตาลเข้ม ครีบสีส้มมีขอบสีคล้ำ ครีบหางสีส้มขอบสีดำ

มีความยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบยาวที่สุดได้ถึง 75 เซนติเมตร นับเป็นปลาวัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นปลาวัวที่มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวมาก โดยเฉพาะตัวผู้ในฤดูกาลดูแลฟักไข่ จะพุ่งเข้ามาทำร้ายด้วยการกัดสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวเข้ามาใกล้รังหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่เว้นแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่า คือ มนุษย์ จนเป็นที่เลื่องลือและรู้จักกันดีในหมู่นักดำน้ำ

แม้ว่าจะเป็นปลาที่มีพฤติกรรมดุร้ายเพราะความหวงถิ่น แต่ปลาวัวไททันก็มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เพราะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททัน จึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ ให้อยู่ในภาวะสมดุล

แม้ว่าปลาวัวไททันจะขึ้นชื่อเรื่องความดุร้าย แต่ก็ทำไปเพราะความหวงถิ่น และยังเป็นปลาที่มีประโยชน์ต่อการสร้างความสมดุลในระบบนิเวศใต้ทะเล จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์
แม้ว่าปลาวัวไททันจะขึ้นชื่อเรื่องความดุร้าย แต่ก็ทำไปเพราะความหวงถิ่น และยังเป็นปลาที่มีประโยชน์ต่อการสร้างความสมดุลในระบบนิเวศใต้ทะเล จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์

...

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการัง ขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้น จนขาดภาวะสมดุล

ปลาวัวไททัน เป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยสามารถพบได้บ่อยและพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย

ปลาวัวไททันเป็นปลาที่ใช้บริโภคได้ แต่บางตัวอาจจะมีสารพิษซิวกัวเทรา (Ciguatera Fish Poisoning: CFP) เป็นสารพิษที่สร้างโดยสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเลเขตร้อนที่อาศัยแถบแนวปะการัง เมื่อปลากินสาหร่ายเหล่านี้เข้าไปจะสะสมในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายปลา เช่น เครื่องใน ไข่ และหัวปลา ปลาที่มีรายงานว่าพบสารพิษ ได้เเก่ ปลาวัว ปลานกเเก้ว ปลาเก๋า ปลาน้ำดอกไม้ ปลาสาก ปลาขี้ตังเบ็ด ปลากะรัง ปลากะพงแดง ปลาไหลทะเล ปลาหมอทะเล และปลาสําลี เป็นต้น

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเผยว่า สารพิษในกลุ่ม ซิวกัวท็อกซิน (ciguatoxin) เป็นสารพิษซึ่งทนความร้อน ทนกรด ละลายได้ดีในไขมัน ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของ Cholinesterase ของเม็ดเลือดแดง และเพิ่มอัตราการซึมของโซเดียมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยจะเกิดอาการพิษภายหลังจากรับประทานปลาทะเล เนื่องจากเป็นสารพิษซึ่งทนความร้อนได้ดี การทำให้สุกจึงไม่สามารถทำลายพิษได้

แต่ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับการเกิดพิษในกลุ่มอาการของโรคซิวกัวเทรา (Ciguatera) พบเพียงการบอกเล่าว่าการบริโภคปลาทะเลบางชนิดทำให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

อ้างอิงข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค