“Whoever is happy will make others happy too” ใครก็ตามที่มีความสุขก็จะทำให้คนอื่นๆมีความสุขไปด้วย นี่คือการมองโลกแบบ “ครูปาน-สมนึก คลังนอก” ศิลปินอิสระและนักวาดภาพประกอบชื่อดังของเมืองไทย ผู้ฮึกเหิมกับการสร้างความสุขแบบง่ายๆ ผ่านคาแรกเตอร์สุดสดใสร่าเริง เพื่อให้ทุกคนได้โอบกอดความสุขที่อาจหล่นหายไปตามกาลเวลา

“ครูปานอยากให้คนมีความสุขเวลามองรูปของเรา รูปครูปานจะไม่คิดมาก ถ้าดูดีๆมันจะมีปรัชญาอยู่ในนั้น สิ่งที่ซ่อนอยู่ในรูปของครูปานคือความสุขแบบง่ายๆ ให้ชื่นชมความเป็นตัวเองของคน ครูปานเชื่อว่าการแต่งตัวทำให้เราดูดี เราส่องกระจก แค่เรารู้สึกว่าเราสวยคือมันก็ทำให้ชีวิตเราเริ่มต้นวันได้ดีแล้ว มันมีความสุขแล้วง่ายๆ งานครูปานจะเข้าใจง่าย ไม่ต้องสะท้อนปัญหาสังคม เพราะครูปานรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีความรู้น้อยมากเรื่องสังคม คนเราขึ้นยอดเขาก็ต้องลงมาอยู่ที่พื้นดิน ชีวิตมันเล็กนิดเดียว เกิดมาโตมาเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว อายุไม่ถึง 100 ปีหรอก สำหรับครูปานไม่มีอะไรมีความสุขกว่าการนั่งจกข้าวเหนียวส้มตำกับแม่แล้ว”...ครูปานบอกเล่าถึงตัวตนลึกๆ

...

ความจนเป็นอุปสรรคต่อชีวิตมากไหม

ครูปานเป็นคนบุรีรัมย์ พ่อแม่เป็นชาวนาแท้ๆร้อยเปอร์เซ็นต์ ชีวิตวัยเด็กไม่มีสตางค์ ถามว่าเด็กๆยากจนไหมก็ยากจนนะ แต่ถามว่าลำบากไหม เราแค่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง อาหารก็หุงหากินเอง นึ่งข้าวหุงข้าวไว้ให้แม่ เรามีหน้าที่เลี้ยงควาย 5 ตัว เป็นคนชอบไปโรงเรียน แต่ไม่มีอุปกรณ์การเรียนหรอก กระดาษดินสออะไรก็ไม่มี เพิ่งมีรองเท้าไปโรงเรียนครั้งแรกตอน ป.6 จำได้ว่าเด็กๆไม่ใส่รองเท้า เดินเท้าเปล่าเลี้ยงควาย แต่ถ้าให้มองกลับไปถามว่าลำบากไหม เทียบกับเด็กอื่นๆก็คงลำบาก แต่มาตรฐานของคำว่าลำบากอยู่ที่ใจเราคิดเอง ครูปานไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองลำบาก ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองขาด ทั้งๆที่เราไม่มีเลยนะ สตางค์เรียนหนังสือยังไม่มี เรามีความสุขที่ได้เกิดมาแบบนั้น ชีวิตครูปานเรียกว่าจนแต่อบอุ่น เราเป็นคนโชคดีที่ทุกคนในครอบครัวรักกัน เรามีความรักที่ท่วมท้นมาก เลยรู้สึกว่าไม่ได้ขาดอะไร

ได้ยินว่า “ครูปาน” ผ่านการบวชเรียนมานาน?

ตั้งแต่เด็กแม่สอนให้ใส่บาตรทุกวัน บ้านอยู่ติดกับวัด วันดีคืนดีเรียนจบ ป.6 อายุ 13 ปี แม่บอกว่าไปอยู่วังนะ เราดีใจที่จะได้เป็นโสนน้อยเรือนงาม ที่ไหนได้แม่ส่งไปบวชเณรอยู่ที่วัดชูจิตธรรมาราม อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา เป็นคนว่านอนสอนง่ายแม่ให้บวชเราก็บวชโดยที่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เป็นช่วงชีวิตที่อยู่ในกรอบ ได้ซึมซับธรรมะเยอะ ทำให้มีสติในการใช้ชีวิต ทุกวันจะตื่นตั้งแต่ตีสี่มาท่องบาลี ทำวัตรเช้าวัตรเย็น กลางวันก็เรียนหนังสือไป ครูปานบวชอยู่นานกว่า 10 ปี จนเรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงตัดสินใจสึกออกมาดูแลแม่และหลานๆ

เณรน้อยมาค้นพบว่าชอบการวาดรูปได้อย่างไร

ค้นพบตัวเองว่าชอบวาดรูปมากตอนอายุ 14 ปี ขึ้น ม.2 ที่วัดจัดแข่งวาดรูป ปรากฏว่าเราได้ที่หนึ่ง ทำให้ฮึกเหิมและสนใจศิลปะจริงจัง อยากรู้อยากเห็นไปหมด สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดของวัดเพื่อที่ว่าจะได้อ่านหนังสือทุกเล่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและศิลปินเอกของโลก จนวันหนึ่งพระอาจารย์ที่วัดมอบหมายให้วาดรูป “ม.ร.ว.ทัศนีย์ สุทัศนีย์” เพื่อตอบแทนที่ช่วยดูแลและพัฒนาวัด เป็นรูปคุณหญิงกำลังก้มหน้านับเงินกฐิน คุณหญิงชมว่ารูปสวยเหมือนมาก อยากเจอสามเณรที่วาดรูปนี้ ท่านถามว่าวาดรูปเป็นได้อย่างไร แล้วรู้จักศิลปินคนไหนบ้าง พอตอบว่ารู้จักแวนโก๊ะ, โกแกง และปิกัสโซ ท่านเซอร์ไพรส์มาก ถามว่าสามเณรมาจากปลักควาย ทำไมถึงรู้จักปิกัสโซ พอรู้ว่าเราชอบวาดรูป คุณหญิงจึงส่งครูมาสอนให้ที่วัด คุณหญิงยังพาไปฝึกปรือศิลปะกับครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ตอนนั้นยังเป็นเณรก็นั่งรถจากอยุธยามาลงหมอชิต จากหมอชิตไปบ้านคุณหญิงเพื่อฉันเพล แล้วค่อยไปเรียนวาดรูปกับครูโตที่ปาร์คนายเลิศ พอเรียนเสร็จก็นั่งรถกลับอยุธยา ทำแบบนี้ตลอด 4 ปี จนจบปริญญาตรี จึงตัดสินใจสึกออกมาดูแลแม่และหลานๆ หลังบวชนานกว่า 10 ปี คุณหญิงบอกว่าถ้าสึกแล้วไม่มีที่อยู่ก็มาอยู่ที่บ้านนะ เลยได้มาดูแลคุณหญิงอยู่ 4 ปี ก่อนจะขอออกไปเช่าบ้านเอง จนคุณหญิงไม่สบายก็กลับมาดูแล ซึ่งบ้านคุณหญิงตอนนั้นก็คือบ้านครูปานในปัจจุบัน เพิ่งซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

...

อะไรคือความสุขจากการวาดรูปที่ทำให้หลงใหล

ครูปานชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก โตมากับธรรมชาติ มองดูท้องฟ้า เราเห็นความงามของมัน ชอบมองฝนตกแล้วน้ำจากหลังคาไหลลงมาเป็นสาย โหสวยจังเลย ดูแล้วมีความสุข ชอบเข้าป่า คนอื่นไปเก็บเห็ด เราก็ไปเก็บเหมือนกันแต่ชอบเอาเห็ดมาดู อันนี้สวยจัง สีเขียวละมุนๆ ถ้าเข้าป่าไปดูดอกไม้ เราก็ชอบไปสังเกตอะไรแบบนี้ เวลาได้ทำงานศิลปะ เอาใบไม้มาแปะสีแล้วไปแปะกระดาษสนุกที่สุด จำได้ตั้งแต่ครูผสมสีให้ดูครั้งแรก สีน้ำเงินสีเหลืองใส่เข้าไปในน้ำ แล้วคนๆๆ เฮ้ยกลายเป็นสีเขียวได้ไง มันตื่นเต้น รู้สึกว่าสีสวยเหลือเกิน ตอนนั้นไม่รู้จักพู่กันด้วยนะ ครูพาไปหารากต้นการะเกด มันจะมีรากย้อยๆเหมือนต้นไทร เราก็เอามีดมาควั่นตรงปลายแล้วเอาเปลือกออก ข้างในจะเป็นฝอยๆใช้แทนพู่กันได้ เพราะไม่มีสตางค์ซื้อ ไม่มีดินสอ ไม่มีกระดาษ กระดาษของเราคือพื้นดิน สิ่งที่ทำให้ชอบวาดรูปที่สุดคือตอนเขียนจดหมายหาพี่สาวคนโต แล้วเราวาดรูปลงไป พี่เขียนตอบมาว่าชอบรูปที่วาดมาก วาดมาให้อีกนะ คำชมแค่นี้ทำให้เด็กคนหนึ่งใจฟูได้ มันรู้สึกฮึกเหิมและอยากวาด

...

“ครูโต” ช่วยเปิดโลกกว้างใบใหม่ให้อย่างไร

ครูโตทำให้การมองโลกรอบตัวเปลี่ยนไปหมด เจอครั้งแรกครูโตให้ลองมองไปที่ต้นไม้ ต้นไม้นี่มีเขียวกี่เฉด เขียวนี้ผสมยังไง บางเขียวใส่น้ำเงินเข้าไป บางเขียวใส่น้ำตาลเข้าไป มันทำให้เราเหมือนยูเรก้า!! เฮ้ยสีมันสนุกมากอ่ะ หลังจากนั้นก็เริ่มมองฟ้าแล้วแยกสี เข้าใจเรื่องสีมากขึ้น อยู่กับครูโตได้ฝึกปรือฝีมือมาเรื่อยๆ และได้รู้จักคนเยอะแยะ เราทำงานจนมีสไตล์เป็นของตัวเอง สักพักมีคนมาชวนไปวาดภาพประกอบ ตั้งแต่นั้นมาก็ทำมาเรื่อยๆไม่เคยหยุด

...

ยากไหมกว่าจะค้นพบสไตล์การทำงานของตัวเอง

ใช้เวลานานมาก เราเคยบวชมา เราเคยอยู่ในกรอบ และเราคิดต่อเองไม่ได้ ตอนเราวาดเราฝึกมาจากการวาดให้เหมือนจริง แต่การที่จะทำให้มันเป็นบุคลิกของเรามันทำยังไง นี่คือสิ่งที่ยาก เราอึดอัดมากว่าทำไมงานฉันไม่มีใครรู้ว่าฉันวาด มันเหมือนคนอื่นวาด ถามว่าสวยไหมก็สวยนะ แต่ไม่มีความเป็นตัวตน วันหนึ่งลุกขึ้นมาวาดนางแบบคนหนึ่ง ลองวาดนอกกรอบดู เปลี่ยนฟอร์มหน้า เปลี่ยนตาให้ตามันโตขึ้น เปลี่ยนปากให้เล็กลง วาดแขนยาวขายาว พอวาดเสร็จแล้วยูเรก้า!! ว่าแบบนี้มันคือสิ่งที่ฉันกำลังมองหาอยู่ แล้วมันเจอตัวเอง แล้วมันรู้ว่าคือการทำอะไรที่ยังไม่มีคนทำ กลายเป็นฟอร์มของเราเอง ตอนค้นพบตัวเองสนุกตื่นเต้นมาก กระดาษเท่าไหร่ก็ไม่พอ มันมีความสูบฉีด มันอยากทำตลอดเวลา

เอกลักษณ์สร้างชื่อของ “ครูปาน” อยู่ตรงไหน

งานครูปานคนจะคิดถึงรูปหัวสัตว์และเป็นตัวคน แล้วตอนนี้คนจะคิดถึงเด็กผู้หญิงตาโตช่างแต่งตัวแล้วก็โลกสวย ครูปานอยากให้คนมีความสุขเวลามองรูปเรา รูปครูปานจะไม่คิดมาก ถ้าดูดีๆมันจะมีปรัชญาอยู่ในนั้น ครูปานคิดว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในรูปของครูปานคือความสุขแบบง่ายๆ ให้ชื่นชมความเป็นตัวเองของคน ก็เพราะศิลปะคือสิ่งที่เยียวยาหัวใจคน ฉะนั้นศิลปะของครูปานคือสิ่งที่ต้องดูแล้วมีความสุข จะไม่เอาทุกข์มาไว้กับตัวเด็ดขาด

เด็กบ้านนอกคนนี้มาไกลเกินฝันขนาดไหน

เป็นคนที่ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่เชื่อว่าคนเราทุกคนเท่ากัน เราเกิดแก่เจ็บตายเท่ากัน ในเมื่อรู้ว่าคนเราเกิดมาเท่ากัน คุณสมบัติในความเป็นคนเท่ากัน ครูปานก็มีความฝันว่าอยากมีชีวิตที่ดี อยากดูแลครอบครัว อยากดูแลแม่ให้มีชีวิตที่สบายกว่านี้ เราเลยต้องพยายาม เมื่อฝันแล้วก็จะไม่กลัวสิ่งใด เราจะทำไปตามสิ่งที่ฝัน แต่ไม่ได้ขีดว่าปีนี้ต้องเป็นแบบนี้ เพราะแม่สอนตลอดว่า “ให้ใช้ชีวิตเป็นวันๆ...ไม่ใช่ใช้ชีวิตไปวันๆ” แบบนั้นคือการไม่ทำอะไร แต่อันนี้คือการทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทุกวันนี้ยังเป็นครูปานคนเดิม ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศิลปินใหญ่ ยังเป็นเด็กคนเดิมที่ชอบเรียนรู้โลกและมีความสุขง่ายๆ ครูปานภูมิใจกับความเป็นคนบุรีรัมย์ ชีวิตมีความสุขทุกช่วงเวลา ตอนเป็นเด็กก็มีความสุข ตอนบวชก็มีความสุข พอสึกออกมาก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราอยู่วงการนี้มา 20 กว่าปีแล้ว คงทำงานต่อไปเรื่อยๆ อยากทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากที่เคยทำ ครูปานยังมีแพชชันอยู่ตลอด ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และมีความสุขไปเรื่อยๆ เพื่อจะทำให้คนอื่นๆมีความสุขไปกับเราด้วย.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ