ช่วงนี้เรามักจะได้ยินข่าวทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมคนรักบ่อยครั้ง โดยเหยื่อรายล่าสุดของอารมณ์รุนแรงคือ จีจี้ สุพิชชา เน็ตไอดอลสาวชื่อดัง ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับเหตุการณ์นี้ แล้วจะสังเกตได้อย่างไรว่าคนใกล้ตัวมีแนวโน้มเป็นคนอารมณ์รุนแรงหรือไม่ เพื่อป้องกันก่อนสายเกินแก้

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ได้พูดคุยกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้ให้คำแนะนำในมุมของนักอาชญาวิทยาในการเช็กสัญญาณเตือน “อารมณ์รุนแรง” ของคนที่กำลังคบหาดูใจก่อนพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นคู่รักหรือหรือคู่ชีวิตไว้ดังนี้

“การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์กับใครอยากให้พิจารณานิสัยใจคอให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน ด้วยการสังเกตการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ว่ามีการใช้กำลังหรือมีอารมณ์ฉุนเฉียวร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หากจอดรถในห้างสรรพสินค้าแล้วมีคนมาจอดขวาง ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงเรียกรปภ. หรือเจ้าหน้าที่ห้างฯ ให้มาช่วยตามหาคนขับ แต่ถ้าเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงฉุนเฉียวง่ายจะโกรธถึงขั้นไปทำลายรถยนต์ของคู่กรณีให้เสียหาย ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างของสัญญาณเตือนให้ระวัง เพราะแสดงถึงการใช้ความคิดเป็นเหตุเป็นผลน้อยกว่าคนปกติทั่วไป เพราะลักษณะแบบนี้บ่งบอกถึงบุคลิกภาพที่ต่อต้านสังคม ดูได้จากอาการโมโหฉุนเฉียวง่าย เอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่สนใจคนรอบข้าง”

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะแสดงออกช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่สามารถบอกเป็นเวลาได้ชัดเจนว่าจะเผยตัวตนด้านอารมณ์รุนแรงได้เมื่อไร แต่นอกจากด้านอารมณ์ที่แสดงออกมาแล้ว เรายังสังเกตปัจจัยอื่นๆ ร่วมพิจารณาด้วยได้อีก ไม่ว่าจะเป็น

  • ครอบครัวมีปัญหา
  • พ่อแม่หย่าร้าง
  • มีการใช้กำลังหรือความรุนแรงในครอบครัว
  • มีพฤติกรรมชอบใช้อาวุธปืน

...

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลการวิจัยทางวิชาการรายงานพบว่าเยาวชนที่มาจากครอบครัวเหล่านี้ เมื่อเติบโตขึ้นมักจะมีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ และส่อไปในทางที่ใช้ความรุนแรงกับบุคคลอื่น ส่วนคนที่มีพฤติกรรมชอบใช้อาวุธปืน ไม่ว่าจะเป็น ชอบยิงปืน ชอบเล่นปืน ก็มีความเป็นไปได้ถ้าหากบุคคลเหล่านี้มีอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้นมา ก็อาจจะตัดสินใจใช้ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธปืนได้ ซึ่งเรามักจะเห็นในคดีอาชญากรรมที่ผ่านๆ มาหลายครั้ง

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการยืดระยะเวลาศึกษาดูใจ ดูนิสัยกันให้นานขึ้น เพราะเมื่อตัดสินใจคบหาเป็นแฟนหรือแต่งงานกันแล้วจะทำให้ยากต่อการตัดความสัมพันธ์
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการยืดระยะเวลาศึกษาดูใจ ดูนิสัยกันให้นานขึ้น เพราะเมื่อตัดสินใจคบหาเป็นแฟนหรือแต่งงานกันแล้วจะทำให้ยากต่อการตัดความสัมพันธ์

ในกรณีที่ตัดสินใจพัฒนาความสัมพันธ์ คบหาดูใจเป็นคู่รักหรือคู่ชีวิตแต่งงานกันไปแล้ว แล้วพบว่าคนรักมีอารมณ์รุนแรงฉุนเฉียวและชอบใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หากต้องการหลีกหนีจากพฤติกรรมดังกล่าว ทางกรมสุขภาพจิตได้แนะนำวิธีไว้ดังนี้

  1. หาที่อยู่ที่ปลอดภัยจากความรุนแรง
  2. ตั้งสติ ให้เวลากับตัวเองเพื่อทำความเข้าใจสภาพจิตใจ และปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและผล
  3. ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิดโดยไม่เขินอาย และไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยยาวนาน
  4. ดูแลจิตใจตนเอง ด้วยการนึกถึงหรือทำกิจกรรมที่ดีและภาคภูมิใจ

ส่วนในทางอาชญาวิทยา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคู่ แต่ละกรณี จึงไม่สามารถใช้รูปแบบเดียวกันทำเหมือนกันทุกคู่ได้ แต่การที่กำลังคบหากันอยู่ดีๆ แล้วตัดสินใจเลิกหรือจบความสัมพันธ์ทันทีก็อาจทำให้อีกฝ่ายมีอารมณ์ฉุนเฉียวและก่อความรุนแรงขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงควรค่อยๆ ตัดสัมพันธ์ ด้วยการเจอกันน้อยลง คุยกันให้น้อยลง อยู่ห่างกันมากขึ้น เพื่อลดปัญหาอารมณ์รุนแรงของคู่กรณี

ต้นตอปัญหาอารมณ์รุนแรง

สิ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอารมณ์รุนแรง ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นตั้งแต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่และครอบครัว ซึ่งตามหลักทางอาชญาวิทยามองว่าเรื่องอารมณ์รุนแรงฉุนเฉียวนั้นสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เพราะถ้าแม่มีอารมณ์รุนแรงก็จะส่งผลต่ออารมณ์ของเด็กในท้องได้

“ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการให้ความรู้แก่ครอบครัวใหม่และคุณแม่ที่กำลังจะมีลูก เพื่อให้มีการวางแผนปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีการปรับเรื่องโภชนาการและอารมณ์ แต่บ้านเรามีเรื่องนี้น้อยมาก ปัจจุบันมีแต่กระตุ้นให้มีลูกเยอะๆ โดยไม่ได้มองถึงอนาคตว่ามีลูกเยอะแล้วอย่างไรต่อ รัฐบาลช่วยเหลืออะไรให้เขาได้บ้าง”

...

ต้นตอปัญหาอารมณ์รุนแรงเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัวและการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งปัญหานี้ป้องกันได้ตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะอารมณ์ของแม่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกด้วย
ต้นตอปัญหาอารมณ์รุนแรงเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัวและการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งปัญหานี้ป้องกันได้ตั้งแต่ตอนคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะอารมณ์ของแม่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเองไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ทั้งที่ความจริงแล้วควรมีการให้ความรู้เข้าถึงชุมชนต่างๆ เพื่อให้การดูแลไปยังครอบครัวที่เพิ่งแต่งงานหรือกำลังมีลูก สิ่งเหล่านี้ควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำตั้งแต่ระดับนโยบายการปกครองแบบการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเพื่อเข้าถึงชุมชน

...

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เป็นสังคมคนเอเชีย การพูดกันตรงๆ อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เข้าถึง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว เราก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งรอบตัว รวมทั้งเรื่องครอบครัวและการคบหาสมาคมกับคนที่เราจะสร้างความคุ้นเคยด้วย

“ทุกปัญหามีทางออก และทุกทางออกสามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธีและเป็นเหตุเป็นผล การใช้ความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องใดได้เลย” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ทิ้งท้าย