แม้ว่าบ้านเราจะมีอาหารอร่อยให้เลือกมากมาย แต่เมื่อถึงหน้าร้อนก็ต้องระวังในการเลือกกินเป็นพิเศษ เพราะบางเมนูก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษได้ง่าย

เมนูต้องระวังในหน้าร้อน

เมนูต้องระวังในหน้าร้อนที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคท้องร่วงได้มีอะไรบ้าง

1. เมนูลาบ ยำ และส้มตำต่างๆ

เป็นเมนูยอดฮิตของคนชอบกินอาหารรสจัด เน้นความเปรี้ยว แซ่บ เผ็ดจัดจ้าน แต่ภายใต้ความอร่อยนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากวัตถุดิบบางอย่างก็ไม่ได้ปรุงสุก หรือผ่านความร้อนที่มากพอ เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก รวมถึงปลาร้า ที่อาจผ่านแค่การหมักดอง ไม่ได้ผ่านความร้อน เมื่อทิ้งไว้นานก็อาจมีแบคทีเรียแฝงอยู่ในปริมาณมาก จนทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้

2. เมนูซูชิ

สำหรับคนที่ชอบกินเมนูซูชิ โดยเฉพาะซูชิที่ขายในตลาดนัด เพราะมีราคาย่อมเยาและมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ แต่ถึงจะน่ากินแค่ไหนก็ต้องระวังเป็นพิเศษในเรื่องของความสะอาด ความถูกสุขอนามัย ที่หลายๆ เจ้าอาจละเลยเรื่องความสะอาด ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อนกับเชื้อแบคทีเรียในอากาศ เมื่อกินเข้าไปแล้วก็ทำให้ป่วยอาหารเป็นพิษ หรือท้องร่วงได้

...

3. เมนูที่ใส่กะทิ

กะทิ คือส่วนหนึ่งของวัตถุดิบสำคัญในอาหารไทยหลายๆ เมนู ทั้งประเภทอาหารคาวและอาหารหวาน ที่ช่วยทำให้รสชาติของอาหารโดดเด่นขึ้นมาได้ แต่ขณะเดียวกัน “กะทิ” ก็เป็นหนึ่งในวัถุดิบที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะบูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่ความร้อนจะไปเร่งปฏิกิริยาให้กะทิเสียเร็วยิ่งขึ้น หากกินไม่หมดควรนำไปแช่ตู้เย็นแล้วนำมาอุ่นใหม่ และควรเลี่ยงการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบที่ทิ้งไว้ข้ามคืนแล้ว

4. เมนูอาหารทะเล

อาหารทะเล เป็นเมนูโปรดของหลายๆ คน โดยเฉพาะหน้าร้อนที่การไปเที่ยวทะเลคือหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการไปพักผ่อน และเมื่อไปถึงที่แล้วจะไม่กินอาหารทะเลเลยก็คงเป็นไปได้ยาก แต่ข้อแนะนำคือควรเลือกเมนูที่ปรุงสุก ไม่ว่าจะเป็น ต้ม นึ่ง ปิ้ง ย่าง และควรเลี่ยงเมนูสุกๆ ดิบๆ เช่น หอยต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากอาการอาหารเป็นพิษ เพราะถ้าไปเที่ยวแล้วยังต้องเจอปัญหานี้คงเที่ยวไม่สนุกอย่างแน่นอน

5. เมนูอาหารหมักดอง

ขึ้นชื่อว่าอาหารหมักดอง โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น ปูดอง กุ้งดอง แซลมอนดอง ที่หลายคนชื่นชอบ รวมถึงเมนูผลไม้ดอง กะปิ แหนม ปลาร้า หากทำไม่สะอาดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นท้องร่วงได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับพยาธิตัวตืด แล้วยังอาจได้รับสารพิษที่มีชื่อว่า ไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

...

6. เมนูปรุงสุกที่ทำไว้นานแล้ว

แม้ว่าจะเป็นเมนูที่ปรุงสุก แต่ถ้าทำทิ้งไว้นานแล้วก็อาจทำให้เป็นท้องร่วงได้เช่นกัน เช่น ข้าวผัดโรยเนื้อปู ข้าวมันไก่ เมนูสตรีทฟู้ดที่ทำไว้นานแล้ว เนื่องจากหน้าร้อนที่ร้อนมากเป็นพิเศษจะทำให้แบคทีเรียเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในอากาศ แมลงวันที่บินมาตอมอาหาร ซึ่งทำให้อาหารเน่าเสียเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีตรวจสอบว่าอาหารที่ซื้อมานั้นเริ่มบูด หรือเสียแล้วหรือยังสามารถทำได้ด้วยการดมกลิ่น หากมีกลื่นตุๆ เหม็นเปรี้ยว หรือเหม็นหืน ควรทิ้งทันที หรือดูด้วยตาเปล่าแล้วมีความข้นหนืดกว่าปกติ หรือเริ่มมีฟอง สีเปลี่ยนไปจากเดิม แปลว่าไม่น่าไว้ใจ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจก็ลองชิมในปริมาณนิดเดียว หากมีมีรสเปรี้ยว หรือขมแปลกๆ ก็ทิ้งไปได้เลย และอย่าลืมบ้วนน้ำสะอาดตามเพื่อล้างสิ่งสกปรกที่ตกค้างในช่องปากด้วย

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีอาการท้องร่วง

ในกรณีที่เผลอกินอาหารเหล่านี้เข้าไปแล้วมีอาการอาหารเป็นพิษ หรือท้องร่วง สามารถใช้วิธีเหล่านี้เพื่อปฐมพยาบาลตนเองหรือผู้ป่วยได้

...

  1. ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะส่วนใหญ่อาการท้องร่วงจะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน และรับประทานอาหารเหลวให้มากกว่าปกติ
  2. ควรกินน้ำข้าว โจ๊ก น้ำแกงจืด สารละลายน้ำตาล เกลือแร่โออาร์เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำ โดยให้รับประทานมากเท่าที่ต้องการ หรือรับประทานทุกครั้งที่ถ่ายเหลว
  3. ถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น อาเจียน ถ่ายบ่อยทุก 2 ชั่วโมง อ่อนเพลีย มีไข้ กินอาหารไม่ได้ ตาลึกโหล ให้รีบไปพบแพทย์

การกินอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ค้างคืน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นท้องร่วงในหน้าร้อนได้ แต่ถ้าหากกินไม่หมดหรือมีความจำเป็นต้องเก็บไว้ ควรใส่ภาชนะที่มิดชิดและเก็บไว้ในตู้เย็นที่ทั่วถึง ก่อนนำมากินควรอุ่นร้อนทุกครั้ง สำหรับเมนูลาบ ยำ หรือส้มตำ ควรกินใหม่หมดในทันที ไม่ควรเก็บไว้ และควรเลือกซื้ออาหารจากร้านที่สะอาด ถูกสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพเรานั่นเอง.

อ้างอิงข้อมูล: โรงพยาบาลเปาโล