วิธีตกปลามีหลากหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การตกปลาเป็นไปอย่างราบรื่นอยู่ที่ "การเรียนรู้ตลอดเวลา" และนำเทคนิคตกปลาแบบต่างๆ มาปรับใช้กับประสบการณ์จริง สำหรับใหม่มือตกปลามีเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อะไรที่ควรรู้บ้าง ไทยรัฐออนไลน์นำสาระดีๆ มาฝากกัน ดังนี้
10 วิธีตกปลา เทคนิคตกปลามือใหม่ ควรรู้เรื่องอะไรบ้าง?
1. ศึกษาประเภทคันเบ็ดตกปลา
คันเบ็ดถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการตกปลา ส่วนใหญ่แล้วเราต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าอยากตกปลาอะไร ขนาดเล็กหรือใหญ่ หลังจากนั้นจะช่วยให้เลือกคันเบ็ดได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่คันเบ็ดที่ใช้ตกปลาจะเป็นประเภทคันสปินนิ่ง (เหมาะกับมือใหม่) และคันเบทคาสติ้ง (เหมาะกับผู้มีประสบการณ์) ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกคันเบ็ดตกปลา ต้องดูเรื่องความแข็ง ความบิดงอโค้งประกอบด้วย นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ตกปลาอื่นๆ เช่น สายเอ็นตกปลา, รอกตกปลา, คันตีเหยื่อปลอม, ตะขอสำหรับเหยื่อ, กล่องใส่อุปกรณ์ตกปลา (Tackle Box) เป็นต้น
2. เลือกเหยื่อปลาให้เหมาะสม
ปลาแต่ละชนิดกินเหยื่อแตกต่างกันออกไป แถมปลาแต่ละสายพันธ์ุก็ยังมีขนาดเล็กและใหญ่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะไปตกปลา ควรรู้ก่อนว่าปลาที่ต้องการไปตกนั้นกินเหยื่อแบบใด ซึ่งเหยื่อก็มีหลายประเภท ยกตัวอย่าง เหยื่อสดตามธรรมชาติ เช่น ไส้เดือน หนอน แมลง กุ้งสด รวมไปถึงเหยื่อปลอมและเหยื่อสูตรผสมที่วางขายตามร้านขายอุปกรณ์ตกปลาทั่วไป
...
3. เช็กฤดูกาลและสภาพอากาศ
การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตกปลาเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม บางคนอาจเลือกไปตกปลาในหน้าร้อน เพราะน้ำในคลอง แม่น้ำ เขื่อนจะแห้งกว่าปกติ ปลาหาอาหารได้น้อย ก็มีโอกาสมากินเหยื่อจากเบ็ดมากขึ้น ในช่วงหน้าฝนปลาตัวเมียวางไข่ก็จะมีจะออกหาอาหารเพิ่มมากขึ้น หรือบางคนอาจเลือกไปตกปลาโดยพิจารณาจากวันเดือนมืด-เดือนหงาย ก็ได้เช่นกัน
4. รู้จักเลือกหมายตกปลาให้ดี
คำว่า "หมายตกปลา" เป็นคำศัพท์ในการตกปลา หมายถึง สถานที่ตกปลาตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทะเล แม่น้ำ คลอง บึง เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ความรู้และหาข้อมูลก่อนออกเดินทางไปหมายตกปลา เพราะต้องพิจารณาถึงสภาพน้ำจืด น้ำเค็ม ดิน หิน ทราย หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยให้การตกปลาเป็นไปอย่างราบรื่น หมายตกปลาบางแห่งก็อาจต้องเดินทางไกลด้วยเรือ ก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย
5. พกยากันยุงติดตัวไว้เสมอ
แน่นอนว่าการไปตกปลาจะต้องไปอยู่ใกล้แหล่งน้ำ บางคนปักหลักหลายชั่วโมง บ้างก็นั่งตกปลานานเป็นวันๆ ควรพกสเปรย์ป้องกันแมลงและยากันยุงไปด้วย เพื่อป้องกันยุงลายกัด หลีกเลี่ยงปัญหาแมลงกัดต่อย ไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาภายหลังได้
6. เตรียมน้ำ อาหาร และเสื้อชูชีพ
ในกรณีนี้หากต้องเดินทางไปตกปลาในทะเล ทะเลสาป หรือกลางแม่น้ำที่ห่างไกลฝั่งและผู้คน ก็อย่าประมาท ควรเตรียมเสื้อชูชีพ-ห่วงชูชีพไว้ให้พร้อมเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ แนะนำให้เตรียมน้ำดื่มสะอาด อาหาร เสื้อแขนยาว และหมวกไว้ให้พร้อมด้วย เพราะมักใช้เวลาหลายชั่วโมงในการตกปลา ต้องเผชิญกับเจอแดดและคลื่นลมแรงตลอดทั้งวัน
7. ระวังทุกครั้งก่อนเหวี่ยงเบ็ด
หากคุณไปตกปลาในสถานที่มีผู้คนเดินผ่านไปมา หรือมีเพื่อนนักตกปลาคนอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ มองซ้ายมองขวาก่อนที่จะเหวี่ยงเบ็ดตกปลาทุกครั้ง มิเช่นนั้นตะขอเบ็ดอาจไปเหวี่ยงโดนผู้อื่นจนได้รับอันตรายได้
8. ปล่อยลูกปลาตัวเล็กคืนสู่ธรรมชาติ
ไม่ว่าคุณจะตกปลาที่บ่อ หรือตามหมายตกปลาธรรมชาติ หากตกได้ปลาลูกตัวเล็ก ก็ควรปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ควรปล่อยวางทิ้งไว้ให้แห้งตายบนบกเด็ดขาด ถือเป็นหนึ่งในจรรยาบรรณที่นักตกปลาควรทำ
...
9. เพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำปลาออกจากเบ็ด
เมื่อปลากินเหยื่อแล้ว คุณต้องการนำปลาออกจากเบ็ด ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะปลาบางชนิดมีฟันที่แหลมคม บ้างก็มีครีบหนาที่สามารถบาดมือให้ได้รับบาดเจ็บได้ ในขั้นตอนนี้สามารถใช้อุปกรณ์อื่นๆ มาช่วยปลดตะขอเบ็ดออกได้ เช่น คีมปากแหลม เป็นต้น
10. ห้ามละเลยมารยาทในการตกปลา
การตกปลาเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทนสูง เราไม่ควรรบกวนผู้อื่นด้วยการพูดจาเสียงดัง เปิดเพลงเสียงดัง หรือเข้าไปนั่งแทรกและเบียดที่นั่งผู้อื่น เมื่อเห็นว่าบริเวณนั้นตกปลาได้มากกว่าจุดอื่นๆ รวมไปถึงเมื่อตกปลาเสร็จแล้วก็ควรเก็บสัมภาระและขยะบริเวณนั้นให้เรียบร้อยด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีตกปลาและเทคนิคตกปลามือใหม่ยังมีอีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นความรู้ที่ศึกษาได้ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวควบคู่ไปด้วย ผู้ที่อยากมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการตกปลา จึงต้องหมั่นหาความรู้ใหม่ๆ และเรียนรู้เทคนิคตกปลาใหม่ๆ อยู่เสมอ