กรวัฒน์ เจียรวนนท์ เปิดใจการเป็นทายาทเจ้าสัวซีพีรุ่นที่ 3 ไม่ใช่ใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ แต่ต้องฝ่าฟันธุรกิจด้วยตนเองจนติดอันดับ 150 บริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตสูงสุดในยุโรป จากไฟแนนเชียล ไทม์

กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Amity สตาร์ทอัพด้านโซเชียลคลาวด์ที่มีลูกค้าทั่วโลก ในปี 2565 สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ จัดให้ Amity เป็นบริษัทที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุด 150 บริษัทแรกในยุโรป โดยติดอยู่ในอันดับ 132

เป็นทายาทเจ้าสัวซีพี ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

นอกจากเป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่สามารถปั้นธุรกิจเทคคอมปานีจนเป็นที่รู้จักในตลาดโลกในวัยเพียง 28 ปีแล้ว กรวัฒน์ เจียรวนนท์ หรือ ภู ยังเป็นลูกชายตนโตของ ศุภชัย เจียรวนนท์ และเป็นหลานของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสและผู้ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรียกได้ว่าเป็นทายาทซีพีรุ่นที่ 3 ที่หลายคนให้ความสนใจและจับตามอง

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นทายาทเจ้าสัวซีพี แต่กรวัฒน์เผยว่าทางครอบครัวมีนโยบายชัดเจนแต่แรกว่าลูกหลานรุ่นต่อไปจะต้องสร้างธุรกิจของตัวเอง ทำให้มีแรงผลักดันตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องมีธุรกิจของตัวเองให้ได้ โดยมีคุณพ่อคอยผลักดันให้ออกไปหาเงินและหานักลงทุนด้วยตนเองจนเกิดเป็น Amity เทคสตาร์ทอัพ สัญชาติไทย ที่ตั้งเป้าสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก

“คำแนะนำจากคุณพ่อและท่านเจ้าสัวก็มีเยอะมากเลย แต่ที่แน่ๆ คือไม่ใช่การนำเงินมาให้ตลอด เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็ไม่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งสองท่านมีนโยบายให้เราไปทำเอง หาลูกค้าเอง หานักลงทุนเอง” กรวัฒน์ กล่าว ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการเป็นทายาทซีพี ไม่ใช่ใบเบิกทางสู่ความสำเร็จเสมอไป เพราะสิ่งที่ท่านเจ้าสัวต้องการคืออยากให้ลูกหลานได้เรียนรู้การทำธุรกิจด้วยตนเอง

...

หนทางความสำเร็จยังอีกยาวไกล

เมื่อถามถึงความสำเร็จของ Amity กรวัฒน์มองว่า ณ ตอนนี้ยังไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จ และหนทางยังอีกไกล มีอีกหลายสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในวัย 18 ปี พร้อมด้วยเป้าหมายที่การทำตลาดต่างประเทศ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง

“ที่ผ่านมามีหลายโปรดักส์มากที่เราทำมาแล้วมันออกไม่ได้ กว่าที่เราจะเข้าถึงลูกค้าต่างชาติในแต่ละประเทศได้เป็นเรื่องยากจริงๆ ต้องใช้เวลาเยอะมาก กว่าที่เราจะหาสิ่งที่ตอบโจทย์ตลาดได้เจอ และเติบโตเร็วอย่างนี้ได้ ก็ใช้เวลา 8-9 ปี โปรดักส์ที่ทำก่อนหน้านี้ก็ออกมาได้บ้างแต่ก็เหนื่อย สิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำธุรกิจด้วยตนเองคือต้องเอาตัวรอดให้ได้”

เป้าหมายต่อไปของกรวัฒน์ คือจัดตั้งบริษัทย่อย แอมิตี โซลูชันส์ (Amity Solutions) ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่เน้นทำตลาดไทยและอาเซียน พร้อมเตรียมตัวเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2567
เป้าหมายต่อไปของกรวัฒน์ คือจัดตั้งบริษัทย่อย แอมิตี โซลูชันส์ (Amity Solutions) ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่เน้นทำตลาดไทยและอาเซียน พร้อมเตรียมตัวเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2567

หลังจากที่ Amity บุกเบิกตลาดต่างประเทศมาหลายปีจนเป็นที่รู้จัก ล่าสุดกรวัฒน์ได้จัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นใหม่ชื่อว่า แอมิตี โซลูชันส์ (Amity Solutions) ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่เน้นทำตลาดไทยและอาเซียน พร้อมเตรียมตัวเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณชน (IPO) ในปี 2567 เพื่อนำเงินที่ได้ไปเร่งการลงทุนในผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT (Generative Pre-training Transformer) ที่จะนำมารวมเข้ากับผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ ของ Amity ที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน

การแยกหน่วยธุรกิจออกมาในครั้งนี้ ทำให้โครงสร้างของ Amity ในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็นสองบริษัทที่แยกตลาดกันอย่างชัดเจน แต่ก็มีการเป็นพาร์ทเนอร์กัน และเชื่อมโยงด้วยโฮลดิ้ง คอมพานี ที่เข้ามาถือหุ้นของทั้งสองบริษัทไว้

นอกจากเรื่องการทำธุรกิจที่ไปได้สวยแล้ว เรื่องความรักของกรวัฒน์ก็ไปได้สวยเช่นกัน ซึ่งเขากำลังจะแต่งงานกับแฟนสาวชาวรัสเซียที่คบกันมานานกว่า 4 ปี ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ตามหลังน้องสาว ฟ่ง-กมลนันท์ เจียรวนนท์ ที่เพิ่งเข้าสู่ประตูวิวาห์กับ ชานันท์ โสภณพนิช ล่วงหน้าไปไม่กี่เดือนก่อน