เดินทางมาถึงบทสรุปไตรภาค "ขุนพันธ์ 3" ภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์ในเครือสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ใช้เวลาทุ่มทุนสร้างยาวนานถึง 10 ปี โดยผู้กำกับ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก "ขุนพันธรักษ์ราชเดช" (บุตร พันธรักษ์) อดีตนายตำรวจชื่อดัง ผู้ยึดมั่นในความถูกต้องและมีชื่อเสียงในการปราบโจรร้ายในอดีต จนเป็นที่เลื่องลือว่าท่านหนังเหนียว เพราะมีวิชาอาคมแก่กล้า ถูกนำมาสร้างเป็นหนังเรื่องขุนพันธ์ภาคแรกในปี พ.ศ.2559 ต่อมามีการสร้างภาค 2 ใน พ.ศ.2561 และปิดไตรภาคในขุนพันธ์ 3 ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 1 มีนาคม 2566

สัมภาษณ์ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับ "ขุนพันธ์ 3"

ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ "ขุนพันธ์ 3" สำรวจเรื่องราวการเดินทางตลอด 10 ปี ของการสร้างหนังเรื่องนี้ ผ่านมุมมองความคิดที่มีต่อพัฒนาการของตัวละคร ความเชื่อ ความศรัทธา คาถาอาคม และคุณูปการที่หนังจักรวาลขุนพันธ์ 3 จะฝากไว้ในวงการหนังไทย ซึ่งในภาคนี้นอกจากนักแสดงหลักอย่าง อนันดา เอเวอริงแฮม ก็ยังมี มาริโอ้ เมาเร่อ และ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ที่จะมาต่อกรกับขุนพันธ์ เพื่อปิดตำนานไตรภาคท้าท้ายศรัทธาในครั้งนี้

ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ขุนพันธ์ เคยคิดไหมว่าจะสร้างเป็นหนังไตรภาคจักรวาลของขุนพันธ์?

ก้องเกียรติ : โปรเจกต์นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว จากข่าวของ "ขุนพันธ์" นายตำรวจจอมขมังเวทที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากจตุคามรามเทพ เราสนใจเรื่องราวของตัวท่าน นึกภาพตำรวจมีดาบสะพายหลัง ใส่เสื้อราชปะแตน ไล่จับโจร เสกคาถาอาคม มันมีความเอ็กซ์โซติกแบบไทยๆ และสะท้อนมิติของบ้านเมืองได้ ซึ่งหนังขุนพันธ์ทั้ง 3 ภาคนี้ ก็ถูกวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มคุยกับทางสหมงคลฟิล์มฯ แล้ว

...

เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เป็นคนเรียกผมเข้าไปคุยแล้วบอกว่า "โขม หนังไทยมันไม่มีตัวละครที่ถูกจดจำของยุคสมัยมานานแล้ว ตั้งแต่ มิตร ชัยบัญชา ในบทบาทอินทรีย์แดง ช่วยทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นอีกทีได้ไหม?" ในตอนนั้นผมมองว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ แต่ผมบอกเสี่ยเจียงว่า เราต้องใช้เวลา 10 ปีนะ เพื่อให้สิ่งที่คิดไว้เกิดขึ้นจริง

ทำไมหนังขุนพันธ์ ถึงต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 10 ปี?

ก้องเกียรติ : อย่างที่บอกว่า ขุนพันธ์เป็นหนังที่ถูกวางโครงเรื่องไว้ 3 ภาคตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งเรื่องตัวละครเสือว่าจะให้มีอยู่ในภาคไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็น พี่น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ในภาค 1, ผู้พันเบิร์ด-วันชนะ สวัสดี และเป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ ในภาค 2 รวมถึงมาริโอ้และโตโน่ ที่จะปรากฏตัวในภาค 3 เราเดินทางมา 10 ปี ซึ่งเป็น 10 ปีที่ยาวนานและหนักหนาสาหัสทั้งทีมงานและนักแสดง เหมือนโรงเรียนชั้นดี ฝึกคนเป็นรุ่นๆ ไป

ถามว่าทำไมต้อง 10 ปี เพราะการจะทำหนังหรือสร้างไอคอนแบบนั้นได้ มันต้องถูกส่งผ่านโดยเจเนอเรชัน สมมติมีเด็กคนหนึ่งได้ดูหนังขุนพันธ์ภาคแรกตอนอายุ 10 ขวบ ได้มาดูขุนพันธ์ภาค 3 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายตอนที่เขาอายุ 20 ปี ผ่านช่วงที่เขาเติบโตจากเด็กเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นขุนพันธ์จะถูกจดจำในแง่ของยุคสมัยที่เขาเติบโตมา เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นหนังไทยที่ถูกดีไซน์มาอย่างยาวนาน

ขุนพันธ์ 3 มีความแตกต่างจากภาคที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?

ก้องเกียรติ : คอนเซปต์เดิมที่ว่าด้วยเรื่องของท่านขุนพันธ์กับสิ่งที่ท่านยึด ศรัทธาของท่านที่ถูกท้าทายโดยคาถาอาคม อำนาจ หรือความไม่ยุติธรรม มาถึงภาคนี้ก็จะโยนคำถามที่ว่า แล้วความดีในขุนพันธ์ล่ะ มันจะถูกสั่นคลอนด้วยไหม แน่นอนว่าหนังขุนพันธ์จะพูดเรื่องการเมืองตลอดเวลา มีเรื่องของมิติความดี-ความเลวมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่แตกต่าง เพียงแต่จะเข้มข้นขึ้น ภาคแรกๆ เราต้องทำความเข้าใจกับคนดูก่อนว่า หนังเรื่องนี้เป็นแบบไหน ต้องปูเรื่อง ทำไมต้องมีเรื่องคาถาอาคม ทำไมต้องสู้กับโจร ทำไมมีปัญหาการเมือง แต่ในขุนพันธ์ 3 เราไม่ต้องปูเรื่องมากแล้ว เรามีพื้นที่ในการใส่ของหลายๆ อย่างที่ยังเล่าไม่ได้ในภาค 1-2 จึงมีความแตกต่างในแง่ของความเข้มข้น ดุดันมากขึ้น และนำไปสู่ความคลี่คลายมากขึ้นเช่นกัน

อะไรคือความท้าทายในฐานะผู้กำกับฯ ที่จะต้องปิดบทสรุปจักรวาลขุนพันธ์?

ก้องเกียรติ โขมศิริ : หนังขุนพันธ์ 3 มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งมันท้าทายในภาษาคนทำหนัง เรียกว่ามันต้องไม่ตกท้องช้าง ดูแล้วไม่น่าเบื่อ เราตัดแล้วตัดอีกจนเหลือ 2 ชั่วโมงครึ่ง เราเชื่อว่าคัดหัวกะทิแล้ว เข้มข้นจนไม่น่าเบื่อแล้ว แต่ขณะเดียวกันจะสั้นไปกว่านี้ก็ไม่ได้ เนื่องจากมันเป็นภาคจบ ต้องสมนาคุณคนดูให้อิ่ม ทั้งคนดูใหม่ที่เพิ่งมาตามดู และคนดูเก่าที่ติดตามมานาน ผมรู้สึกว่านี่คือจุดแลนด์ดิ้งในไตรภาคที่มันจะสมบูรณ์เต็มที่ เนื้อหาหลายอย่างที่เราไม่ได้เห็นในภาค 1-2 จะถูกเล่า รวมถึงความเยอะในเรื่องของ CG มีฉากแฟนตาซี ฉากใช้คาถาอาคมต่อสู้กัน และมีฉากแอ็กชั่นเยอะขึ้น

...

โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์
โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ "ขุนพันธ์ 3" บทสรุปไตรภาคจักรวาลขุนพันธ์ ที่เดินทางมายาวนานเกือบ 10 ปี

คาถาที่นำมาใช้ในหนังขุนพันธ์ 3 ทั้งหมดคือคาถาจริง?

ก้องเกียรติ : ใช่ครับ เรามีเจ้าหน้าที่ที่ค้นคว้าข้อมูลและนำคาถาจริงๆ มาใช้ เพราะยุคนี้อะไรที่ไม่จริง เราจะถูกตั้งคำถามง่ายมาก เราจะมีผู้รู้ ซึ่งเป็นข้อดีนะ เพราะเป็นยุคของ Google เราสืบค้นบนอินเทอร์เน็ตก็อาจเจอจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคนที่เชี่ยวชาญมาคอยดูแลให้ ก็เพื่อระวังถึงเรื่องการถูกตำหนิจากผู้รู้ และเพื่อให้เกียรติเจ้าของคาถาเหล่านี้ ว่าเราไม่ได้นำมาใช้แบบมั่วๆ นะ

...

หนังขุนพันธ์พูดเรื่อง "ใจเสือ" หรือ "ใจนักเลง" ของชุมโจรเสือสมัยก่อนบ่อยมาก ถือเป็นจิตวิทยาในการกุมอำนาจมวลชน?

ก้องเกียรติ : คำว่า เสือ, ใจเสือ, ใจนักเลง จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของสัจจะของคนสมัยก่อน เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีตัวช่วยอะไรเยอะ การพูดจาคำไหนคำนั้นมันเป็นการซื้อใจ แม้กระทั่งในมิติของคาถาอาคมก็เช่นเดียวกัน ที่เขาบอกว่าคนเล่นของ คนเล่นคาถาอาคม ต้องถือไม่พูดปด ไม่โกหก ต้องรักษาศีล 5 ต้องมีสัจจะ พูดคำไหนคำนั้น โดยในเชิงจิตวิทยามันก็คือใจต่อใจนั่นแหละ

ขุนพันธ์จะพูดกับโจรที่ไปปราบตลอดเวลาว่า "ถ้ามึงเลิกเป็นโจรแล้วไปบวช กูจะจับเป็นมึง แต่ถ้ามึงสู้ ก็จับตายมึง" หลายคนเลิกเป็นโจรเพราะคำนี้ แล้วก็ไปบวช ซึ่งขุนพันธ์ก็ปล่อยจริงๆ คล้ายๆ เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง มึงกับกูก็มีวิชาอาคมเหมือนกัน คาถาอาคมของมึง วิชาของกูเรียนมาจากอาจารย์คนเดียวกัน เราถือว่าเป็นศิษย์อาจารย์คนเดียวกัน เรารับปากกันว่า ถ้ากูอยู่ในพื้นที่นี้ มึงอย่ามาปล้นในพื้นที่ที่กูดูแล เขาจะมีสัจจะต่อกัน หากคนเล่นของกลับคำก็ต้องมีอันเป็นไป ซึ่งก็เท่ากับหมดความน่าเชื่อถือหลังจากพูดจาโกหกหลอกลวง

สมัยก่อนไม่ได้มีสื่อที่จะกุมอำนาจมวลชนไว้ได้เยอะ เพราะฉะนั้นบุคคลจึงต้องมีบารมี คนที่มีบารมีก็จะมีผู้คนอยู่ในอาณัติ หรือมีผู้คนเคารพนับถือมาก เพราะฉะนั้นคนมีบารมี พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก มีสัจจะ ใจนักเลง เชื่อถือได้ มันก็เหมือนกับ PR รูปแบบหนึ่ง การมีคาถาอาคมของดีเหล่านี้ มันก็เหมือนการตัดไม้ข่มนาม เมื่อโจรคิดจะมารุกรานหมู่บ้านนี้ ก็จะเกรงว่ามีขุนพันธ์อยู่ ท่านมีคาถาอาคมนะ ก็คล้ายๆ เป็นการทำสงครามจิตวิทยา หากมองด้วยแว่นตาทางสังคมวิทยา

...

มีความศรัทธาหรือประสบการส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับขุนพันธ์บ้างไหม?

ก้องเกียรติ : จริงๆ โปรเจกต์หนังขุนพันธ์ ผมอยากทำมานานมาก เคยเล่าให้หลายคนฟังว่า มีเรื่องของนายตำรวจคนหนึ่งสะพายดาบไว้ข้างหลัง เขาบอกกันว่าเป็นดาบของพระยาพิชัยดาบหักนะ ดาบนี้ฟันผีก็ได้ ฟันคนมีของก็เข้า สตอรี่สนุกมาก ต่อมาได้ยินว่าจะมีการเปิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา มีการเรียกผู้กำกับรุ่นใหญ่และมีประสบการณ์เข้าไปพูดคุย แต่วันดีคืนดีกลายเป็นว่าผู้กำกับเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำโปรเจกต์นี้ แล้วเสี่ยเจียงก็เรียกผมไปคุย โดยยื่นหนังสือขุนพันธ์ให้ดู เราก็ขนลุกเลย วนมาถึงเราจนได้เหรอเนี่ย (หัวเราะ)

หลังจากรับทำโปรเจกต์นี้ ผมมีรูปท่านขุนพันธ์แขวนไว้ในห้องทำงานตลอดเวลา ไม่ใช่ในแง่ไสยศาสตร์ แต่เป็นการให้ความเคารพ เหมือนเราทำเรื่องของใครก็ตาม เราก็ต้องให้ความเคารพเขาเหมือนญาติผู้ใหญ่ ผมจับดาบที่รูปปั้นท่านแล้วพูดว่า "ผมขออนุญาตนะคุณตา ถ้าคุณตาเลือกผม ขอให้ผมได้ทำจนจบโปรเจกต์" ผมพูดสิ่งนี้ไปจนผ่านมาถึงภาค 3 ลูกชายของขุนพันธ์ ซึ่งทุกวันนี้เขาเป็นร่างทรงคุณพ่อเวลาทำพิธีศาลหลักเมืองที่นครศรีฯ บอกกับผมว่า "คุณตาเลือกโขมนะ เขาเลือกเรา ไม่งั้นคงไม่ได้ทำมานานขนาดนี้" หรือระหว่างถ่ายทำมีฉากเสี่ยงอันตราย ผมจะเอารูปขุนพันธ์ไปวางไว้ จุดธูปบอกกล่าวท่านว่า คุณตาช่วยผมด้วยนะ ตอนถ่ายทำที่มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคแรกๆ ยิงปืนไม่ออก หลังจากจุดธูปบอกกล่าวเท่านั้นแหละ จู่ๆ ปืนก็ยิงออกซะงั้น (หัวเราะ)

ปกติเป็นคนเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ หรือมูเตลูไหม?

ก้องเกียรติ : มีคนถามเยอะว่า เฮ้ย! พี่ทำเรื่องแบบนี้ พี่เชื่อมูเตลูหรือเปล่า พี่เป็นสายไสยศาสตร์ไหม เอาจริงๆ นะ ผมเป็นคาทอลิก นับถือศาสนาคริสต์ แต่เราเป็นคนทำหนัง รู้สึกสนุกในฐานะที่ไม่ต้องบอกตัวเองว่าเราเชื่อ หรือไม่เชื่อ แต่เราตั้งตัวเองเป็นคนที่ไม่รู้ คล้ายๆ กับนักเดินทางที่รู้สึกสนุกไปหมด สนุกที่จะรู้ โดยไม่ต้องไปอยู่ในกรอบของความจริงหรือไม่จริง เพียงแต่เราจะทำอะไรก็ต้องมีเหตุผลมารองรับด้วย ทำให้บางครั้งเรื่องของไสยศาสตร์บางอย่าง มันก็ก้ำกึ่งระหว่างว่าเป็นไสยศาสตร์หรือความบังเอิญ

ยกตัวอย่าง เรื่องที่คนเล่าต่อๆ กันมาว่า ขุนพันธ์หายตัวได้ เรามีการเล่าฉากนี้แต่เป็นในรูปแบบที่ว่า สาเหตุที่ยามที่อยู่ตรงนั้นมองไม่เห็นขุนพันธ์ อาจเพราะฝุ่นปลิวเข้าตาพอดี ในจังหวะนั้นขุนพันธ์เดินออกไป กลายเป็นเรื่องที่สร้างเงื่อนไขก้ำกึ่งว่าอภินิหารหรือเปล่า แต่ด้วยประเภทของหนังที่เราทำในแง่ความบันเทิง อาจจะบันเทิงคดี แน่นอนการเสริมเรื่องอภินิหารคือเพิ่มความสนุก แต่หากเอาแว่นตาของฟิสิกส์มาตอบคำถาม ก็คงกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ผมเป็นคนทำหนังไม่ใช่นักวิชาการ หนังเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยให้คุณงมงายหรือไม่งมงายหรอก นอกจากมันจะปั่นราคาพระเครื่องบางอย่างขึ้น 

เหมือนเราดูหนังเรื่องซุปเปอร์แมน แล้วคิดว่าเราบินได้จริงไหมล่ะ ถ้าคุณคิดว่าบินได้จริง แล้วคุณกระโดดออกไป คุณน่ากลัวแล้วล่ะ (หัวเราะ) ไม่เกี่ยวกับหนังแล้ว เราทำเพื่อความบันเทิง แต่ในความบันเทิงนั้นมีแก่นสารที่อยากจะสื่อสารออกพูด หนังขุนพันธ์ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเรื่องแต่งที่ประเด็นของหนังพูดเรื่องจริง เรื่องปัญหาในสังคมเป็นเรื่องจริง เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องจริง เรื่องปัญหาคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องจริง ส่วนเนื้อเรื่องคือเรื่องแต่งเพื่อความบันเทิง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ

หากขุนพันธ์เปรียบเป็นฮีโร่ที่ต้องทำภารกิจปราบคนชั่วให้สำเร็จ คิดว่าในสังคมเรายังต้องการฮีโร่หรือเปล่า แล้วฮีโร่ในมุมมองคุณ ต้องเป็นคนแบบไหน?

ก้องเกียรติ : เราต้องการคนยืนหยัด เราต้องการคนที่กล้ายืนขึ้น แน่นอนว่าความดีขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมอง แต่ในสังคมมันจะมีระดับความดีหนึ่งที่เป็นเอกฉันท์ว่า นี่แหละเรียกว่าดี แล้วแต่จะดีมาก ดีน้อย เลวมาก เลวน้อย เหมือนที่มีคนบอกว่าขุนพันธ์ยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง วันดีคืนดี หนังบอกว่าแล้วถ้ากฎหมายมันรับใช้คนชั่วล่ะ คุณจะยังยึดกฎหมายนี้อยู่ไหม ถ้าขุนพันธ์ไม่ยืนหยัด ขุนพันธ์ก็จะไม่ยึดเลย แต่บางครั้งคนสร้างกฎหมายก็คอร์รัปชันเสียเอง สำหรับขุนพันธ์แล้ว ต่อให้เป็นโจรที่อยู่ในชุดตำรวจหรือชุดข้าราชการ ท่านก็ยืนยันว่า "กูจะจับมึง" นี่คือการยืนหยัดเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องและความศรัทธา สังคมมันต้องมีไม้บรรทัดหลวมๆ สักอัน ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ ส่วนเรื่องรสนิยมปลีกย่อย หรือทัศนคติ ก็ว่ากันไป

ย้อนมาถามว่า สังคมเราต้องการฮีโร่ไหม จริงๆ ฮีโร่มันเป็นอุดมคติชน ฮีโร่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อจุดประกายความเป็นฮีโร่ในตัวผู้คนมากกว่า ตัวละครถูกสร้างมาแบบนั้น พูดลึกๆ ก็คือ หนังฮีโร่มันว่าด้วยเรื่องมนุษยนิยมที่ให้คุณค่ากับมนุษย์ ในการมีมนุษย์สักคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อกระตุ้นความรู้สึกคนส่วนใหญ่ว่า เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แม้คุณอาจจะไม่มีพลังพิเศษอะไรก็ตาม แต่เมสเสจที่เขาทำ ความกล้าหาญที่เขาทำ มันพร้อมที่จะกระตุ้นเตือนอุดมคติของเรา หวังว่าจะมากระตุ้นความเป็นมนุษย์ในตัวเราบ้าง

เมื่อนับเวลาที่ทุ่มเทให้กับโปรเจกต์นี้ เท่ากับเวลา 1 ใน 4 ของชีวิตคุณมีความเกี่ยวข้องกับขุนพันธ์ ถ้าเช่นนั้นมองว่า "จิตวิญญาณของหนังขุนพันธ์" คืออะไร?

ก้องเกียรติ : จิตวิญญาณของขุนพันธ์คือสปิริตของคนทำหนังไทย ทั้งในแง่รูปธรรมและนามธรรม ในแง่รูปธรรมคือผมตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นโพสต์โมเดิร์นในการนำขนบของหนังไทยแบบระเบิดภูเขา เผากระท่อม ความ Old school บางอย่างมาเล่าในดีไซน์ใหม่ๆ ใส่สำเนียงใหม่ๆ ลงไป เพราะฉะนั้นการสร้างหนังขุนพันธ์คือการทริบิวต์รูปแบบหนึ่ง

ส่วนในแง่ของรูปธรรมอีก ผมพยายามนำนักแสดงรุ่นเก่า เช่น ดาวร้าย หรือกระทั่งทีมงานในทุกสัดส่วน เช่น คุณอังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา หรือนักแสดงรุ่นเก่าหลายคนล้มหายตายจากกันไป เอาใครที่ไหวก็ไหว ในภาค 2 มี คุณเป้า-ปรปักษ์ ซึ่งตอนนั้นแกล้มละลาย แกมาเล่นในหนังเรื่องนี้ เล่นเสร็จเสียชีวิต แต่อย่างน้อยผมก็ภูมิใจที่พี่ได้บันทึกเรื่องราวของคนเหล่านี้ในวงการหนังที่ผมเติบโตมากับเขา ผมได้ให้โอกาสเขากลับมาทำงานอีกครั้ง

แม้กระทั่งทีมงานเจเนอเรชันใหม่ ผมก็พยายามจะถ่ายทอดสิ่งนี้ว่ามันคือจิตวิญญาณ ว่านี่คือการทริบิวต์ นี่คือการบูชาครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นรากเหง้าหนังไทย เพราะหนังขุนพันธ์แบบนี้ก็ไม่ค่อยมีใครทำแล้ว ในส่วนของหนังไทยรุ่นใหม่ๆ สำเนียงใหม่ๆ ผมก็ชื่นชม ให้เดินต่อไปในทิศทางข้างหน้า

นอกเหนือจากความศรัทธา การสร้างหนังขุนพันธ์ก็เปรียบเสมือนการส่งต่อสปิริตไปยังคนรุ่นหลัง?

ก้องเกียรติ : เบื้องหลังขุนพันธ์คือชีวิตของคนทำหนัง ขุนพันธ์มีอาคมเป็นอาวุธ ผมก็มีกล้อง มีหนัง มีภาพ เป็นอาวุธ อันนี้เป็นไสยศาสตร์ของผมที่จะนำเสนอออกไป ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของสื่อที่พึงกระทำ แม้จะสร้างหนังพีเรียด แต่ต้องสามารถสั่นสะเทือนปัจจุบันได้ ยกตัวอย่างขุนพันธ์ 3 เล่าสภาพการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผ่านมาร้อยกว่าปีแล้ว แต่มองดูในปัจจุบันนี้แทบไม่ต่างกันเลย

ดังนั้น สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา แต่เราทำเพื่อส่งต่อ เหมือนสิ่งที่ขุนพันธ์ทำก็เพื่อส่งตัวความศรัทธาและการยึดมั่นในความดี ในสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความถูกต้องให้คนรุ่นหลังดูเป็นแบบอย่าง ผมเลยมาทบทวนว่า แล้วจิตวิญญาณในการทำหนังขุนพันธ์คืออะไร มันไม่ใช่หนังที่เกิดขึ้นโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ แต่มันเกิดขึ้นโดยคนทำหนังทุกคน ที่กระโดดเข้ามาร่วมโปรเจกต์ ทุกคนเต็มที่กับมันจริงๆ เพื่อที่เราจะได้เห็นมหรสพเรื่องหนึ่ง การทำเพลงประกอบเราก็ใช้วิธีแบบเดียวกับที่หนัง Avatar ทำ อัดแบบวงออร์เคสตรา ซึ่งหนังไทยสมัยนี้เขาใช้โปรแกรมอัดกันหมดแล้ว

หนังขุนพันธ์จึงเกิดขึ้นได้จากพลังยุทธ์และพลังใจของคนทำหนังกลุ่มหนึ่ง ที่อยากจะทำให้หนังไทยแบบที่ไม่ได้เห็นมานาน ให้คนดูได้กลับมาเห็นอีกครั้ง ที่หลายคนพูดว่าหนังไทยตายแล้ว เรากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ นอกจากยังไม่ตาย เรายังคงกระโดดโลดเต้นอยู่ในมัลติเวิร์สนี้อย่างสง่างาม ก็ขอกำลังใจไปดูพวกเขากันหน่อย ไม่ใช่แค่ผมจริงๆ แต่คือกลุ่มคนทำหนังที่พร้อมเสนอสิ่งเหล่านี้ให้คนไทยได้ชม

สุดท้ายนี้ มองว่า "ขุนพันธ์ 3" จะมอบข้อคิดอะไรกลับคืนแก่คนดู?

ก้องเกียรติ : ในตัวอย่างภาค 3 ตัวละครของอาจารย์ขุนพันธ์ได้พูดว่า "ไม่มีอะไรคงกระพันตลอดไป ทุกอย่างมีเสื่อม" ผมว่านี่คือกฎธรรมชาติและสัจธรรมอย่างหนึ่ง ขุนพันธ์ที่ถูกขนานนามว่าคงกระพันชาตรี แต่เขาก็ต้องมีเสื่อมสลายตามวันเวลาเป็นธรรมดา ขุนพันธ์ภาคนี้จึงมีความเป็นมนุษย์มากๆ เชื่อว่าจะมอบข้อคิดดีๆ คืนกลับแก่ผู้ชมได้ครับ

เรื่องย่อ "ขุนพันธ์ 3" บทสรุปหนังไทยไตรภาค 10 ปี

หลังจากที่ "ขุนพันธรักษ์ราชเดช" (รับบทโดย อนันดา เอเวอริงแฮม) สามารถปราบโจรร้ายอัลฮาวียะลู, เสือฝ้าย และเสือใบได้สำเร็จ กลับต้องเผชิญกับการถูกเพ่งเล็งว่าอาจแปรพักตร์ไปอยู่ฝั่งโจร ขุนพันธ์จึงตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขกับภรรยาที่บ้านเกิด ที่นครศรีธรรมราช

ทว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองระส่ำระส่าย ข้าวยากหมากแพง และดันมีเหตุการณ์ 3 บุคคลสำคัญทางการเมืองที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ท่ามกลางใบสั่งล่าตัว 2 เสือร้ายที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่าง "เสือมเหศวร" (รับบทโดย มาริโอ้ เมาเร่อ) และ "เสือดำ" (รับบทโดย ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ที่ต่างต้องการเด็ดหัวขุนพันธ์ ในขณะที่ความคงกระพันของขุนพันธ์เอง ก็ค่อยๆ เสื่อมสลายลงทีละน้อย จนกลายเป็นเปลี่ยนสถานะจากผู้ล่ามาเป็นผู้ไล่ล่าเสียเอง

ขุนพันธ์ 3 มีกำหนดเข้าฉายวันไหน?

สำหรับหนังไทยเรื่อง "ขุนพันธ์ 3" เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป

เรื่อง : Tatiya K.
กราฟิก : Sathit Chuephanngam