“ทฤษฎี 21 วัน” เป็นทฤษฎีของ Dr. Maxwell Maltz ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนนิสัย หรือปรับพฤติกรรมตนเองใหม่ภายใน 21 วัน ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับความนิยมทั่วโลก เนื่องจากหลายคนนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เช่น ทฤษฎี 21 วัน ลดน้ำหนัก ทฤษฎี 21 วัน ออกกำลังกาย รวมถึงทฤษฎี 21 วันกับความรัก

ก่อนเข้าสู่ช่วงวาเลนไทน์ หรือเดือนเทศกาลแห่งความรัก จะเห็นได้ว่าทฤษฎี 21 วันกับความรักมักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างถึงในรูปแบบต่างๆ บนโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ โดยเชื่อกันว่าหากจีบคนที่ชอบติดต่อกันเป็นระยะเวลา 21 วัน ความรักจะสมหวัง หนุ่มสาวที่กำลังตามหาความรักหลายคน จึงได้นำทฤษฎี 21 วันไปปรับใช้ เพราะหวังให้รักเป็นจริงดังที่ฝัน แม้ว่าจะไม่มีใครยืนยันว่าทุกคนจะสมหวังหากใช้ทฤษฎีดังกล่าว

จุดเริ่มต้นทฤษฎี 21 วัน เปลี่ยนนิสัย แรงผลักดันของการเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้น

ทฤษฎี 21 วันคือ ทฤษฎีการเปลี่ยนนิสัยหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ จากการทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 21 วัน โดยทฤษฎีนี้ปรากฏในหนังสือ Psycho-Cybernetics ของ Dr. Maxwell Maltz ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน

จุดเริ่มต้นของทฤษฎี 21 วัน เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมของคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดในปี 1950 เช่น คนไข้จากการศัลยกรรมใบหน้า คนไข้จากอุบัติเหตุแขนขาด การศัลยกรรมจมูก เป็นต้น พบว่าคนไข้ใช้ระยะเวลา 21 วันในการปรับตัวให้คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

ในขณะเดียวกัน Dr. Maxwell Maltz ก็ได้สังเกตการสร้างนิสัยใหม่และปรับพฤติกรรมของตนเองในระยะ 21 วัน ก่อนจะเผยแพร่ทฤษฎีดังกล่าวลงในหนังสือ Psycho-Cybernetics ในปี 1960 จนมียอดขายกว่า 30 ล้านเล่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่หลายคนจะสนใจ หากจะสามารถเปลี่ยนชีวิตตนเองได้ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์

...

ดร. พิมพนิต คอนดี อาจารย์หมวดวิชาโทจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลนว่า “ทฤษฎี 21 วันเป็นทฤษฎีจากการอ้างของศัลยแพทย์ท่านหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงมีการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีในเชิงพฤติกรรม พบว่ามนุษย์จะสามารถสร้างพฤติกรรมจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 66 วัน หรือประมาณ 2 เดือน โดยจะสามารถทำพฤติกรรมนั้นๆ ได้อย่างอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น สร้างนิสัยการดื่มน้ำให้ได้วันละ 1 ลิตรทุกวัน ตลอด 66 วัน ก็จะคุ้นชินกับการดื่มน้ำวันละ 1 ลิตรทุกวัน โดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องดื่มน้ำ”

“Phillippa Lally” นักวิจัยด้านจิตวิทยาสุขภาพและทีม จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) ได้ศึกษาและทำการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์จากกลุ่มตัวอย่าง 96 คน ในระยะเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้ง 96 คน สามารถเปลี่ยนนิสัยใหม่ได้ เพียงแต่ระยะเวลาในการสร้างนิสัยหรือเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 18-254 วัน โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 66 วัน จึงจะถือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

“ทฤษฎี 21 วัน” ที่พึ่งในการตามหาความรักของคนหนุ่มสาว

ทฤษฎี 21 วัน ไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นแรงผลักดันในการเปลี่ยนนิสัยเท่านั้น แต่ยังปรับใช้ทฤษฎี 21 วัน ความรัก หรือการจีบคนที่ชอบ ดังวลีฮิตที่ได้ยินกันบ่อยครั้งว่า “เวลาจีบใครให้จีบ 21 วัน” ทำให้หนุ่มสาวตั้งแต่วัยเยาว์ไปจนถึงวัยตามหาคู่ชีวิตเลือกใช้ทฤษฎี 21 วัน จีบผู้หญิง หรือผู้ชายที่ตนเองชอบกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีการส่งเพลงรักให้ฟังตลอด 21 วัน การทักแชตเพื่อทำความรู้จักตลอด 21 วัน รวมไปถึงการซื้อขนม หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เป็นประจำตลอด 21 วัน ทั้งนี้ก็หวังให้อีกฝ่ายรู้สึกคุ้นชิน ผูกพัน จนเกิดเป็นความรัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงาน คลิปวิดีโอ หรือเป็นผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (Influencer) ได้ในชั่วข้ามคืน เมื่อมีการนำทฤษฎี 21 วันจีบผู้ชายหรือผู้หญิงที่ชอบมาสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ เนื้อหาในมิวสิกวิดีโอเพลง หรือแม้กระทั่งการทำคลิปวิดีโอลงบนแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่าสิบล้านคน กระแสทฤษฎี 21 วันกับความรักจึงไม่เคยจางหาย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการจีบติดต่อกัน 21 วัน ให้เข้ากับยุคสมัยและบริบทการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น

ดร. พิมพนิต ได้ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันมีทั้งภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่นำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้ เช่นเดียวกันกับการปรับหลักการดังกล่าวไปใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะทุกคนล้วนต้องการให้ชีวิตตนเองเปลี่ยนภายใน 21 วัน ทฤษฎีช่วยทำให้รู้สึกอุ่นใจ หากตั้งใจทำอะไรสัก 21 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่ได้สั้นหรือยาวนานเกินไป ก็หวังให้ทุกอย่างเปลี่ยนได้ใน 21 วัน เช่น การคุยกับคนที่ชอบต่อเนื่องกัน 21 วัน จนกลายเป็นความคุ้นชิน”

...

แม้ว่าทฤษฎีดังกล่าวจะเผยแพร่ตั้งแต่ปี 1960 ปัจจุบันผ่านมานานกว่า 60 ปี แต่ทฤษฎี 21 วันกับความรักก็ยังถูกพูดถึงและได้รับความนิยมเสมอมา โดยเฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรัก ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีการระบุรายละเอียดหรือการยืนยันว่าจะสามารถจีบคนที่ชอบได้ภายใน 21 วันหรือไม่ แต่เนื่องจากทฤษฎีดังกล่าวเป็นเสมือนแรงผลักดัน ที่พึ่ง และให้ความรู้สึกอุ่นใจ หลายคนจึงยังคงนำทฤษฎี 21 วันไปใช้อยู่เสมอ

รู้จักทฤษฎีความรัก ที่ทำให้มนุษย์ตกหลุมรักโดยไม่รู้ตัว

แม้ว่าทฤษฎี 21 วันจะไม่ได้ยืนยันถึงความรักที่สมหวัง แต่ทฤษฎีความรักเป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าความรักเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งทฤษฎีความรักในเชิงจิตวิทยามีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับมุมมอง การศึกษา และการวิจัย แต่หากจะพูดถึงทฤษฎีความรักสุดคลาสสิกที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก”

โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก อาจารย์จิตวิทยา ในมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ผู้คิดค้นทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก ได้ศึกษาเรื่องของความรักในทุกความสัมพันธ์ พบว่าความรักเกิดขึ้นจาก 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ความสนิทสนม (Intimacy) ความใคร่หลง (Passion) และความผูกพัน (Commitment) โดยองค์ประกอบเหล่านี้ไม่มีการแบ่งสัดส่วนที่แน่ชัด เพียงแต่หากความรักในครั้งนั้นๆ มี 3 องค์ประกอบร่วมกัน จะถือว่าเป็นรักในอุดมคติหรือรักที่สมบูรณ์แบบ

...

ดร. พิมพนิต ได้อธิบายเสริมเรื่องทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักไว้ว่า “ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแบบไม่หยุดนิ่ง แม้แต่ความรักของเรา วันนี้อาจจะรู้สึกถึงองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งมากกว่า เช่น หากได้พูดคุยเปิดใจเรื่องความรู้สึก ก็อาจจะมีความสนิทสนมมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมากหากจะเจอรักที่สมบูรณ์แบบ”

ความรักจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นกับทุกความสัมพันธ์ เพียงแค่มีความผูกพันก็อาจเกิดเป็นความรักแบบคนในครอบครัว หรือหากมีความสนิทสนมกับความผูกพันก็อาจจะเกิดเป็นรักแบบมิตรภาพ ในขณะเดียวกัน เพียงแค่สบตาหนึ่งครั้ง ก็สามารถเกิดเป็นรักแรกพบที่มีความใคร่หลงได้เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดความรู้สึกชอบ รัก จนนำไปสู่การจีบคนที่ชอบด้วยทฤษฎี 21 วัน เพื่อสร้างความสนิทสนม ผูกพัน หรือความเคยชิน

มุมมองผู้ผิดหวัง “ทฤษฎี 21 วัน” ฉุดขึ้นจากฝันร้าย

วาเลนไทน์เป็นวันแห่งความรัก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวัง ในทางกลับกัน หลายคนได้รับเลือกให้เป็นผู้ผิดหวังซ้ำๆ ทฤษฎี 21 วัน อกหักหรือผิดหวัง ก็อาจจะเป็นตัวช่วยเยียวยาหัวใจให้ดีขึ้นตามลำดับ โดยอาจจะลองสร้างนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ที่ดีขึ้น เช่น ฟังเพลงเพื่อเยียวยาหัวใจตลอด 21 วัน ออกกำลังกายติดต่อกัน 21 วัน เพื่อให้ลืมความเศร้า หรือกินข้าวคนเดียว 21 วัน เพื่อสร้างนิสัยใหม่ให้เกิดความคุ้นชิน

...

ดร. พิมพนิต ให้ความเห็นต่อว่า “การมูฟออน ถ้าพูดถึงในเรื่องพฤติกรรมคือ จะมีพฤติกรรมซ้ำเดิมกับคนเดิม แต่เมื่อคนนั้นไม่อยู่แล้ว อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลักการเดิมซ้ำๆ เพียงแต่ทดแทนพฤติกรรมเดิม เช่น เมื่อจะต้องโทรศัพท์หาเขา อาจจะโทรศัพท์หาเพื่อนแทน หากทำซ้ำๆ อาจจะช่วยได้และจะดีขึ้นเองตามลำดับเพียงแต่ยังคงความรู้สึกแย่อยู่บ้าง”

ทฤษฎี 21 วัน มูฟออนอาจจะใช้ไม่ได้ผล จนต้องมูฟออนเป็นวงกลมอย่างที่ใครเขาบอกไว้ หรือบางคนอาจจะใช้เวลานานกว่า 21 วัน เพราะบางครั้งทฤษฎี 21 วัน ช่วยเปลี่ยนนิสัย แต่อาจจะไม่ช่วยให้เปลี่ยนใจจากคนที่ชอบ

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือสร้างนิสัยเกิดขึ้นตั้งแต่ 18-254 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 66 วัน ดังนั้นเมื่อใช้ทฤษฎี 21 วันกับความรัก บางคนอาจจะสมหวัง ความรักเบ่งบานด้วยองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง บางคนก็อาจจะพานพบกับความผิดหวัง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเศร้าเสียใจ เพียงแค่ให้โอกาสตนเองและพยายามต่อไป บางทีอาจเปลี่ยนจากคนแปลกหน้าเป็นคนรักที่ผูกพันในวันที่ 254 ก็ได้เช่นกัน

เรื่อง : สตรีรัตน์ ฤกษ์บางพลัด
กราฟิก : Varanya

ที่มาของข้อมูล :