“คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome) โรคทำงานหนักจนตาย มีอาการอย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยง ป้องกันได้หรือไม่
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “งานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย” แต่ความจริงแล้วนั้นตรงกันข้าม เพราะมีหลายเคสพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “งานหนักทำให้คนตายได้” โดยเฉพาะเคสล่าสุดที่มีพนักงานออฟฟิศชาวไทยคนหนึ่งฟุบหลับเสียชีวิตที่โต๊ะทำงานนานข้ามวันโดยไม่มีใครรู้ จึงทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวในสังคม เพราะที่ผ่านมาเรามักจะเห็นเคสเหล่านี้จากต่างประเทศ แต่เคสล่าสุดนี้เกิดขึ้นในไทยจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำให้หลายคนเริ่มกังวล
โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) คืออะไร
โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) หรือโรคทำงานหนักจนตาย เป็นอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เครียดสะสม จนทำให้เสียสุขภาพ และอาจเกิดอาการร้ายแรงที่นำไปสู่ชีวิต เช่น หัวใจวาย เป็นต้น
คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่พนักงานของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก จากนั้นก็มีพนักงานบริษัทเอเจนซี่ชื่อดังทนความเครียดจากการทำงานไม่ไหว จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง จึงทำให้หลายคนหันมาสนใจผลกระทบจากการทำงานหนักจนเกินไปมากขึ้น
ที่ผ่านมา คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นสังคมที่กดดันเรื่องการทำงานอย่างหนัก จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ ส่วนมากเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรที่สร้างความกดดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างหนักจนก่อให้เกิดความเครียดในการทำงาน รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปจนทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน บางรายกระทบถึงขั้นไม่มีเวลานอน ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการเหนื่อยล้าสะสมเป็นเวลานาน
...
อาการโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome)
หากมีอาการดังต่อไปนี้อาจแปลว่าเรากำลังป่วยเป็นโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) อยู่
- คิดหมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา เหมือนสมองไม่ได้พักผ่อน บางครั้งอาจเก็บไปฝัน
- ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
- ใช้เวลาในการทำงานเยอะมาก เริ่มงานเร็ว และเลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ไม่สามารถลางานได้ ไม่มีโอกาสลางาน หรือแทบไม่ได้ใช้วันลา ทั้งลาป่วย ลาพักผ่อน และลากิจ
- เคร่งเครียดจากการทำงาน ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน
- แทบไม่เคยใช้วันลาหยุด ไม่ว่าจะลาป่วย หรือลาพักร้อน
- นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- แทบไม่มีเวลาพักผ่อน จำไม่ได้ว่าได้พักผ่อนจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
- ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนที่เรารัก
อาการดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายเรื้อรังอื่นๆ ตามมา โดยข้อมูลจาก WHO เผยว่าคนในช่วงอายุ 45-74 ปี ที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด คือ โรคหัวใจ 42% และเส้นเลือดในสมอง 19%
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับ คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ไว้ดังนี้
- ปริมาณงานจำนวนมากที่ทำในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเหล่านี้ตามความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบัน ดังนั้นแนวคิดว่าการทำงานหนักจึงทำให้เป็นโรคนี้จึงถูกต้อง
- การสะสมความล้าเรื้อรังจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจได้ ดังนั้นการสะสมของความล้าเรื้อรังซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเวลาก่อนจะเกิดโรคแต่เป็นช่วงก่อนหน้านั้นซึ่งชัดเจนว่ามีการทำงานหนักเกินไป
- การประเมินความหนักของงานจะต้องตรวจสอบในสภาพงานเป็นเวลา 6 เดือนก่อนเป็นโรค และจะต้องประเมินว่างานที่หนักหรือความล้าที่สะสมมากนั้นทำให้เกิดโรคขึ้นจากการทำงานหนักเกินไป
- นอกจากนี้ จะต้องประเมินผลของปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชั่วโมงการทำงาน ความไม่สม่ำเสมอของงาน ข้อจำกัดในงาน ระบบงานกะ และสภาพแวดล้อมในงาน รวมทั้งความเครียดทางจิตใจที่เกิดจากงานด้วย
- ถ้าเน้นที่ชั่วโมงทำงาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมความล้า ถ้าพนักงานคนนั้น (1) ทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมงมากจนเห็นได้ชัด (โดยปกติคือทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมง) ในช่วง 1 เดือนก่อนเกิดโรค หรือ (2) ทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันนาน (โดยปกติคือทำงานล่วงเวลามากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน) มากผิดปกติ ระหว่างสองถึงหกเดือนก่อนเกิดโรค ดังนั้นงานนั้นสัมพันธ์กับโรคอย่างชัดเจน
- ถ้าชี้บ่งไม่ได้ว่ามีการทำงานล่วงเวลามากกว่าเดือนละ 45 ชั่วโมง ในช่วง 1-6 เดือนก่อนเกิดโรค ความสัมพันธ์ระหว่างงานกับโรคก็ไม่เกิดขึ้น จะบอกว่าโรคเกิดจากการทำงานได้ต่อเมื่อมีการทำงานล่วงเวลามากกว่าเดือนละ 45 ชั่วโมง
- ความดันโลหิตสูง การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจได้ ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยหลายอย่างจะเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพผู้ป่วย โรคที่มีอยู่เดิม และภาระงานที่มีมากขึ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของงานกับการเกิด คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ในกลุ่มคนเหล่านี้
...
วิธีป้องกัน คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome)
หากรู้ตัวว่าเริ่มมีพฤติกรรมการทำงานที่หนักเกินไป ไม่ว่าจะเป็น จำนวนชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป การทำงานล่วงเวลาที่ยาวนาน การโหมงานอย่างหนักเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ จนทำให้เกิดความเครียดแบบไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) ในอนาคตได้ หนทางป้องกันที่สามารถทำได้มีดังต่อไปนี้
- แบ่งเวลาเพื่อการพักผ่อนบ้าง
- ทำกิจกรรมชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือคนที่เรารัก
- พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีปัญหากับการนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- รู้จักการปล่อยวางความคิด
- ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน หรือคิดเรื่องงานที่บ้านมากจนเกินไป
...
หากรู้สึกว่าตนเองทำงานมากจนเกินความพอดี ควรรีบปรึกษาหัวหน้าเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่ารอให้เสียสุขภาพแล้วจึงค่อยคิดหาทางแก้
ข้อมูลอ้างอิง: Jobsdb.com, สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย