CUD Hackathon 2023 การแข่งขันประกวดนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนไทยผู้คิดค้นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ยั่งยืน
ประกาศผลผู้ชนะเลิศแล้ว จากงาน CUD Hackathon 2023 ที่จัดโดยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ที่จัดการประกวดนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สอดคล้องตามเป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG3) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรม เช่น IoT, AI, Robotics, Software on Devices หรือแอปพลิเคชันต่างๆ พร้อมเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอโมเดลธุรกิจด้วยการพิชชิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ฝึกการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) อีกด้วย
...
รางวัลชนะเลิศ ทีม Narcolepsycue
สำหรับงาน CUD Hackathon 2023 ได้เฟ้นหาเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศกว่า 150 ทีม คัดเลือกเหลือ 30 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทีม Narcolepsycue จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่คิดค้นอุปกรณ์ป้องกันการหลับในบนท้องถนน ได้รางวัลชนะเลิศจากงานนี้ไปครองได้สำเร็จ
เหตุผลที่คิดค้นอุปกรณ์นี้ขึ้นมา ก็เพราะมีรายงานพบว่าในไทยมีอุบัติเหตุบนถนนเฉลี่ย 1,614 รายต่อปี คิดเป็น 5.69% จากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด ดังนั้นการหลับในจึงส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด เช่น กรณีรถตู้มรณะ 11 ศพ ก็มีสาเหตุจากการหลับใน ประเทศไทยจึงควรยกระดับให้คนใช้ถนนมีคุณภาพชีวิตและมีความปลอดภัยที่สูงขึ้น มากกว่ามีเพียงแค่ป้ายเตือนการหลับในข้างถนน
“เราจึงได้สร้าง Narcolepsycue เป็นอุปกรณ์ป้องกันการหลับในบนท้องถนน ซึ่งมีการตรวจจับการหลับในที่มีความแม่นยำสูง และมีสเปรย์วาซาบิที่ช่วยปลุกคนขับให้ตื่นได้ทันที พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนผ่านไลน์เพื่อช่วยปลุกคนขับรวมทั้งส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังคนใกล้ชิดและหน่วยกู้ภัยในกรณีที่ปลุกด้วยสเปรย์แล้วไม่ได้ผล เพื่อให้รับมือกับอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว” น้องๆ จากทีม Narcolepsycue กล่าว
สำหรับการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เริ่มจากอินพุตซึ่งมีกล้องที่รับข้อมูลจากผู้ขับโดยตรง หลังจากที่ข้อมูลส่งมายังระบบตรวจจับแล้วจะมีการเช็กว่าผู้ขับมีการหลับตานานเกินกว่า 3 วินาที หรือกะพริบตาตั้งแต่ 6 ครั้งภายใน 3 วินาทีขึ้นไประบบจะถือว่าคนขับมีอาการง่วง จากนั้นสเปรย์วาซาบิก็จะทำงาน หากมีการพ่นสเปรย์ไป 2 รอบแล้วคนขับยังไม่มีอาการตื่นตัว ทางระบบจะมีการแจ้งเตือนไปยังไลน์ส่วนตัวของผู้ขับ
นอกจากการส่งแจ้งเตือนไปยังไลน์ของผู้ขับแล้ว ระบบยังมีการค้นหาสถานที่ใกล้เคียงให้อีกด้วย เช่น เมื่อพ่นสเปรย์ 1 ครั้งจะมีการส่งพิกัดร้านกาแฟใกล้ๆ กับผู้ขับขี่ได้เข้าไปแวะพัก ถ้าพ่น 2 ครั้ง จะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังครอบครัว ถ้าพ่น 2 ครั้งขึ้นไปแล้วยังไม่ตื่น จะมีการร่วมมือกับหน่วยกู้ภัยเพื่อให้ทราบตำแหน่งที่ตั้ง หากเกิดอุบัติเหตุจะได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ในส่วนของสเปรย์วาซาบินั้น ทางทีม Narcolepsycue ได้ทำการศึกษาพบว่าในวาซาบิมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนเกิดการตื่นตัวขึ้นได้แม้ว่ากำลังง่วงนอนอยู่ จึงได้คิดค้นสูตรนี้ขึ้นมาเอง โดยพัฒนาร่วมกันกับคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ
“เรามีการทดลองสเปรย์วาซาบิกับผู้ขับขี่ทั้งหมด 5 ราย ทุกรายบอกว่าสเปรย์วาซาบิทำให้ตื่นตัวได้ กลุ่มเป้าหมายคือบริษัทขนส่งและผู้ขับขี่ทั่วไป และอนาคตวางเป้าให้เป็นระดับโลก”
รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม RECiSE
ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม RECiSE จากโรงเรียนรอแยลปริ้นเซสวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ได้คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ
น้องๆ ทีม RECiSE ได้มองเห็นถึงปัญหาภาวะโรคต้อกระจกที่พบมากในผู้สูงอายุ แต่สังเกตได้ยากว่าใครเป็นโรคนี้บ้างหากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นก็สูญเสียการมองเห็นแล้ว ซึ่งรายงานจาก WHO เผยว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจกและสูญเสียการมองเห็นจะเพิ่มขึ้นเป็น 76 ล้านคน ประกอบกับการที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้วัยที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านคน ก็ยิ่งหมายถึงการเสื่อมสภาพที่ตามมา และเป็นเหตุผลที่นำไปสู่โรคต้อกระจก ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต
...
“ปัจจุบันมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคต้อกระจกอยู่ 3 แบบด้วยกัน แต่ทั้ง 3 แบบก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการใช้งานและยังมีราคาสูงมาก ซึ่ง รพ.สต. (โรงพยาบาลส่วนตำบล) และ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่มีความใกล้ชิดผู้สูงอายุและมีกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศไทย แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีที่ไหนใช้เครื่องมือดังกล่าว มีเพียงแค่ใช้วิธีตรวจวัดค่าสายตา ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคทางตาทั้งหมด เนื่องจากไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่เป็นประจำ”
...
ดังนั้นจึงพัฒนาแอปพลิเคชัน RECiSE ที่ใช้งานได้ทั้งบนแอนดรอยด์และไอโอเอส ที่ใช้เอไอวิเคราะห์ผลจนมีค่าความถูกต้องถึง 98% และยังสามารถแชตคุยกับแพทย์ได้ผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้ด้วย ซึ่งต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่คล้ายแว่นขยายเพื่อส่องตาผู้ป่วยแล้วนำมาเชื่อมกับแอปพลิเคชัน ด้วยการถ่ายรูปจอประสาทตาในดวงตาได้ จากนั้นเอไอจะวิเคราะห์ผลจากรูปจอประสาทตาที่ได้มา โดยในส่วนของอุปกรณ์เสริมนี้ยังผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทำให้อุปกรณ์นี้เป็นนวัตกรรมรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“เรามีการพัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลและเก็บพื้นที่จริง ด้วยการทดลองใช้งานกับตัวอย่างจำนวน 500 คน ซึ่งมีการวิเคราะห์ถูกต้องถึงร้อยละ 98 และตอนนี้ RECiSE กำลังอยู่ในขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายการไม่แบ่งแยก ให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือในตัวเมืองก็ตาม”
สำหรับแผนธุรกิจก็มีแผนที่จะนำ RECiSE ไปขายให้กับหน่วยงานสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เพื่อให้มีการแจกจ่ายไปยัง รพ.สต. (โรงพยาบาลส่วนตำบล) และ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) รวมถึงคลินิกจักษุแพทย์ทั่วประเทศไทย พร้อมทั้งมีแผนเพิ่มการลงทะเบียนในแอปเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อเทียบ RECiSE กับเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางด้านต้อกระจก จะเห็นว่ามีราคาที่ย่อมเยากว่า และสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า ทำให้มีการรักษาที่รวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ RECiSE จึงตอบโจทย์เรื่อง SDG3 (การพัฒนาที่ยั่งยืน) ที่ส่งเสริมสุขภาพของทุกคนทุกวัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาได้ เพราะเป้าหมายคือลดจำนวนผู้สูญเสียการมองเห็นจากภาวะต้อกระจกลง
...
นี่เป็นเพียงตัวอย่างความสามารถของเยาวชนไทยที่สามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทีมอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้รับรางวัลกลับไปแต่ก็ได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ และได้รับประสบการณ์ดีๆ เพื่อนำกลับไปพัฒนาผลงานของตนเองในอนาคต
ทั้งนี้ ภายในงาน CUD Hackathon 2023 มีการแจกรางวัลให้กับผู้เข้าแข่งขันรวมมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท โดยทีมชนะเลิศจะได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมบัตรเข้าชมงาน Techsauce Special Award Global Summit 2023 รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 15,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 10,000 บาท ทั้งนี้ บริษัทอาษา โปรดักชั่น จำกัด ขอสนับสนุนและมอบรางวัลเป็นแพ็กเกจ LICENSE อาษาเฟรมเวิร์กให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งสามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีเงินรางวัลพิเศษจากบริษัท อินโนเวทีฟ เอ็กเพอริเมนต์ (INEX) จำกัด ที่มอบให้แก่ทีมชมเชยอีกด้วย
ภาพ: เอกลักษณ์ ไม่น้อย