The Last of Us ซีรีส์แนวดิสโทเปียที่สร้างจากวิดีโอเกมระดับตำนานในชื่อเดียวกัน เล่าเรื่องราวของตัวละครหลักอย่าง "โจเอล" และ "เอลลี่" ที่ต้องเดินทางผจญภัยไปยังอีกฝั่งของประเทศ หลังเกิดเหตุการณ์เชื้อรามรณะระบาดอย่างรุนแรงจนเปลี่ยนผู้ติดเชื้อให้กลายเป็นซอมบี้ ถูกนำมาสร้างเป็นออริจินัลซีรีส์ของ HBO ซึ่งทยอยปล่อยให้ชมสัปดาห์ละ 1 อีพี ขณะนี้มีคะแนนรีวิวจากผู้ชมผ่าน IMDB สูงถึง 9.3/10 คะแนน

นอกจากกระแสความดังของตัวซีรีส์แล้ว เพลงประกอบอย่าง "Never Let Me Down Again" ซึ่งเป็นเพลงยุค 80s ของวง Depeche Mode ก็ได้ถูกนำกลับมาชุบชีวิตอีกครั้ง โดยเปิดขึ้นในช่วงท้ายของอีพี 1 ทำให้บทเพลงนี้มียอดสตรีมมิงเพิ่มจากเดิมถึง 3 เท่าในเพียงชั่วข้ามคืน ช่องยูทูบของวง Depeche Mode ถึงกับต้องเพิ่มรายละเอียดในชื่อมิวสิกวิดีโอเพลงว่า "Heard on Episode 1 of The Last Of Us"

แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเพลงสากลเก่าๆ มาใช้ประกอบซีรีส์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเพลงที่จะประสบความสำเร็จและถูกพูดถึงในวงกว้าง สำหรับ "Never Let Me Down Again" ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในฐานะเพลงประกอบซีรีส์ที่ปิดฉากจบของอีพี 1 ได้อย่างงดงาม และมียอดสตรีมมิงเพิ่มขึ้นถึง 377 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งผู้ชมยังนำไปตีความกันต่อว่ามีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องในซีรีส์ The Last of Us อย่างไรบ้าง

ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ เสพย์สากล เพจดนตรีชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 600,000 คน เกี่ยวกับความน่าสนใจของเพลงยุค 80s และการคืนชีพให้ "Never Let Me Down Again" ในฐานะเพลงประกอบ The Last of Us ซีรีส์ที่น่าจับตามองอยู่ในขณะนี้ 

...

รู้จัก "Never Let Me Down Again" เพลงยุค 80s ของวง Depeche Mode 

Depeche Mode คือ วงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ จาก Essex ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งวงขึ้นในปี 1980 เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในวงดนตรีกระแสนิวเวฟของยุค 80s ปัจจุบันมีสมาชิก 2 คน ได้แก่ Dave Gahan และ Martin Gore (ส่วน Andy Fletcher มือคีย์บอร์ดเพิ่งเสียชีวิตในวัย 60 ปีเมื่อปีที่แล้ว) นับตั้งแต่ก่อตั้งวงจนถึงปัจจุบัน พวกเขาออกอัลบั้มมาแล้วทั้งหมด 14 อัลบั้ม สามารถขายได้ทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านก๊อบปี้ โดยอัลบั้มชุดใหม่ล่าสุดอย่าง Memento Mori จะเป็นอัลบั้มลำดับที่ 15 ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในเดือนมีนาคมปีนี้

"Never Let Me Down Again" เป็นหนึ่งในแทร็กจากอัลบั้ม Music for the Masses ของวง Depeche Mode ปล่อยให้ฟังครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1987 ถือเป็นหนึ่งในเพลงโปรดของแฟนๆ และทางวงยังเคยนำเพลงนี้มาแสดงสดผ่านรายการของ MTV อีกด้วย มีความโดดเด่นด้วยเสียงซินธิไซเซอร์ (Synthesizers) ในส่วนเนื้อหาเพลงสามารถตีความได้หลายแบบ ทั้งเรื่องการเดินทางขึ้นเครื่องบินเพื่อไปทัวร์คอนเสิร์ตกับเพื่อนร่วมวง การใช้คำแสลงสื่อถึงยาเสพติด รวมทั้งบางคนก็อาจตีความว่าเป็นเพลงที่ซ่อนเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศของ LGBT

จุดเด่นเพลงยุค 80s และการเข้ามาของ MTV สร้างความฉูดฉาดให้โลกดนตรี

ทางด้าน คุณกล้าม แอดมินเพจเสพย์สากล ให้ความเห็นกับไทยรัฐออนไลน์ว่า เราอาจไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเพลงสากลยุค 80s ถูกนิยามว่าเป็นดนตรีแบบใด เพราะมันมีความหลากหลายสูง อย่างเช่นวงดนตรีร็อกแนวแฮร์แบนด์ (Hair band) ที่มือกีตาร์จะโซโล่กันเยอะๆ มีการใช้เทคนิคดนตรีที่หวือหวา สีสันแปลกใหม่ และมีแฟชั่นสะดุดตา ถือว่าเป็นยุคที่ฉูดฉาดมาก ขณะที่อีกแนวคือวงดนตรี "นิวเวฟ" (New Wave) หรือวงคลื่นลูกใหม่ ที่นิยมใช้เสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านซินธิไซเซอร์ ซึ่ง Depeche Mode ก็นับเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ถือกำเนิดขึ้นในยุค 80s (อ่านเพิ่มเติม ย้อนมองตำนาน Depeche Mode เจ้าพ่อแห่งดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ตลอดกาล)

"นิวเวฟเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกแทนภาพรวมของยุคดนตรีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันหากเราพูดถึงนิวเวฟ คนก็มักจะนึกถึงสีสันของดนตรียุค 80s เพราะมีความโดดเด่นและจัดจ้านที่สุด เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของดนตรีซินธิไซเซอร์ ศิลปินก็จะเน้นถึงการแสดงออกทางตัวตนและความอิสระทางดนตรี ฟรอนต์แมนผู้ชายจะแต่งตัวด้วยแฟชั่นที่ไม่จำกัดเพศ เช่น ใส่เสื้อเอวลอย โชว์สะดือ กางเกงขาบาน มีท่าเต้นเหมือนผู้หญิง ไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นชายที่ขึงขังดุดันเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกแง่หนึ่ง วงดนตรีนิวเวฟในยุคนั้นมักกลายเป็นสนามอารมณ์และถูกเหยียดจากกลุ่มชายแท้ ทำให้หลายคนอาจจะชื่นชอบดนตรีลักษณะนี้ แต่กลับไม่กล้าแสดงออกมากนัก"

เมื่อถามถึงสัญญาณสำคัญที่เปลี่ยนดนตรียุค 80s ให้มีความฉูดฉาดมากขึ้น เสพย์สากลมองว่า "ตัวแปรสำคัญคือการกำเนิดสื่อโทรทัศน์ที่ชื่อว่า MTV ในปี 1981 เพราะจากเดิมที่ทุกคนฟังดนตรีผ่านแผ่นเสียง เมื่อถึงยุคที่มีมิวสิกวิดีโอ มีภาพและสื่อวิดีโอเข้ามาเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง ก็ยิ่งทำให้วงดนตรีในยุค 80s ได้รับอานิสงส์จากส่วนนี้ การทำตัวฉูดฉาดทั้งด้านดนตรี แฟชั่น และการแสดงออก ก็ยิ่งผลักดันให้ปรากฏการณ์นิวเวฟของดนตรีซินธิไซเซอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า ซินธ์ป๊อป โด่งดังขึ้นมา"

...

"Never Let Me Down Again" ขึ้นแท่นอันดับ 1 เนื้อเพลงยอดนิยม-ยอดสตรีมมิงพุ่ง 377 เปอร์เซ็นต์

จากกระแสความนิยมของซีรีส์ The Last of Us ที่ฉายผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง HBO โดยในประเทศไทยกำหนดฉายอีพีแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากจบอีพี 1 ในชื่อตอน "When You're Lost in the Darkness" ก็ส่งผลให้บทเพลงประกอบอย่าง "Never Let Me Down Again" เข้าไปครองใจคนดู พิสูจน์ได้จากยอดสตรีมมิงเพลงในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในคืนเดียวอย่างมีนัยสำคัญ

Billboard รายงานว่า ทันทีหลังจากที่ซีรีส์ The Last of Us อีพี 1 จบลง ก็พบว่าความถี่ในการสตรีมมิงเพลง "Never Let Me Down Again" มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก จาก 26,000 ครั้ง เพิ่มไปถึง 83,000 ครั้งในวันถัดมา โดยตลอดทั้งสัปดาห์นั้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกามียอดสตรีมอย่างเป็นทางการรวมกันราว 552,000 ครั้ง ถือว่าสูงกว่าสัปดาห์ก่อนที่ซีรีส์จะฉายถึง 210 เปอร์เซ็นต์

...

ไม่เพียงเท่านั้น ทางด้าน Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงรายใหญ่ก็รายงานว่าหลังจาก The Last of Us อีพี 1 จบลง ยอดฟังและยอดสตรีมเพลง "Never Let Me Down Again" ของวง Depeche Mode ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 377 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่ซีรีส์จะฉาย แถมในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังขึ้นแท่นเพลงอันดับ 1 ที่ผู้มีค้นหาเนื้อเพลงมากที่สุด เก็บช้อมูลโดยเว็บไซต์ LyricFind Global และ LyricFind U.S. ของ Billboard

"Never Let Me Down Again" กลายเป็นเพลงที่มีผู้ค้นหาเนื้อเพลงมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา หลังจาก The Last of Us อีพี 1-2 ออกฉายผ่าน HBO

...

ผู้กำกับฯ เพิ่มฉากรหัสลับวิทยุใน The Last of Us ชุบชีวิตเพลงเก่ายุค 80s 

อีกหนึ่งฉากสำคัญของซีรีส์ The Last of Us อีพี 1 คือฉากถอดรหัสวิทยุ ซึ่งเป็นฉากที่ทางด้าน Craig Mazin ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์เพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากในวิดีโอเกม เมื่อตัวละคร "เอลลี่" เจอวิทยุเครื่องหนึ่งในอพาร์ตเมนต์ร้าง โดยข้างๆ วิทยุมีหนังสือรายชื่อเพลงฮิต (The Billboard Book of Number 1 Hits) วางไว้ พร้อมกับกระดาษโน้ตที่คาดว่าเป็นโค้ดรหัสลับบางอย่าง ระบุว่า

B/F
60 - NOTHING IN (ไม่มีของในสต๊อก)
70 - NEW STOCK (มีสต๊อกใหม่)
80 - ✘ (รูปกากบาทสีแดง)

เอลลี่ตีความว่าตัวเลข 60, 70 และ 80 น่าจะหมายถึงดนตรีในแต่ละยุค เนื่องจากเห็นหนังสือรวมเพลงฮิตวางอยู่ข้างๆ แต่ในส่วนของรหัสลับกากบาทสีแดง เอลลี่ยังไขปริศนาไม่ได้ในทีแรก จนกระทั่งตอนที่ "โจเอล" นอนหลับ วิทยุก็มีเสียงเพลง "Wake Me Up Before You Go-Go" ของวง Wham! ดังขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงยุค 80s ที่ปล่อยให้ฟังในปี 1984 เอลลี่ได้บอกโจเอลว่าเพลงนี้ดังขึ้น ในขณะที่โจเอลมีสีหน้ากังวล เธอจึงคิดว่าเพลงยุค 80s น่าจะหมายถึงมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น

หลังจากที่พวกเขาเดินทางมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไป เบื้องหลังพวกเขาก็มีเสียงเพลงจากวิทยุดังขึ้น เพลงนั้นก็คือ "Never Let Me Down Again" ของวง Depeche Mode ซึ่งเป็นเพลงจากยุค 80s ที่ปล่อยในปี 1987 นั่นเอง สอดคล้องกับการไขรหัสลับของเอลลี่ ที่เธอบอกว่าเพลงยุค 80s หมายถึง "Trouble" (ปัญหา, ความทุกข์, ความลำบาก) ที่อาจสามารถตีความได้ว่า มีใครบางคนส่งสัญญาณรหัสลับถึงกลุ่มของโจเอลและเอลลี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโค้ดที่ใช้เตือนถึงอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า...

ภรรยาของผู้กำกับฯ คือคนให้ไอเดียเพลงประกอบซีรีส์ The Last of Us

Craig Mazin ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ The Last of Us เป็นคนตัดสินใจเลือกใช้เพลง "Never Let Me Down Again" ของวง Depeche Mode เป็นเพลงประกอบซีรีส์ โดยให้เหตุผลว่า นี่คือเพลงที่จะเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์และการเดินทางผจญภัยของ 2 ตัวละครหลักอย่าง "โจเอล" และ "เอลลี่" ได้เป็นอย่างดี

ผู้กำกับฯ เผยว่า ผู้ที่ให้ไอเดียในการเลือกใช้เพลงนี้ก็คือ เมลิซซ่า ภรรยาของเขาเอง "เธอเป็นสารานุกรมของดนตรียุค 80s ผมเลยบอกเธอว่าต้องการเพลงที่หลายคนรู้จัก แต่อาจไม่ได้ฟังมานานแล้ว ผมต้องการเพลงที่เต็มไปด้วยบริบทที่มีความหมาย สื่อถึงลางสังหรณ์ อยากใช้เป็นเพลงที่ดังออกมาจากวิทยุ หลังจากนั้นเธอก็พูดขึ้นมาว่า Never Let Me Down Again"

ทันทีที่ได้ยินชื่อเพลงนี้ เขาก็ตัดสินใจเลือกใช้มาเป็นเพลงประกอบซีรีส์ The Last of Us ทันที เนื่องจากมองว่าเป็นเพลงที่มีการผสมผสานของดนตรีที่ทั้งสนุกสนาน และมีเนื้อเพลงที่มืดมน รู้สึกได้ว่าเพลงนี้จะเป็นตัวแทนถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวละครหลักได้เป็นอย่างดี และเป็นไปตามคาด หลังจากอีพี 1 จบลง เพลง "Never Let Me Down Again" ก็มียอดสตรีมมิงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าภายในวันเดียว

ความลงตัวของเพลง "Never Let Me Down Again" ในซีรีส์ The Last of Us

ชื่อวง Depeche Mode มาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึง Fast Fashion หรือสิ่งที่มาไวไปไว พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็นวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ มีเพลงที่โด่งดังอย่าง "Enjoy the Silence" และ "Personal Jesus" ซึ่งเพลง "Never Let Me Down Again" ที่ถูกนำมาใช้ประกอบซีรีส์ The Last of Us ถือว่าเป็นเพลงที่มีระดับความนิยมกลางๆ แต่กลับมีความโดดเด่นด้านดนตรีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อถูกเลือกมาใช้ประกอบซีรีส์เรื่องนี้

เสพย์สากล กล่าวว่า "Depeche Mode เป็นวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ความหม่นเข้ามาเยอะอยู่เหมือนกัน เพราะปกติเมื่อเราพูดถึงวงยุค 80s ก็มักจะนึกถึงดนตรีสีสันฉูดฉาด เช่นเพลง Wake Me Up Before You Go-Go ของวง Wham! ที่เป็นเพลงจีบสาวไปเลย แต่สำหรับดนตรีของวง Depeche Mode กลับมีความดาร์ก หม่น และความไม่น่าไว้วางใจอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเพลงดังของวงอย่าง Enjoy the Silence ที่ดนตรีดาร์กอย่างชัดเจนไปเลย

แต่ในส่วนของเพลง Never Let Me Down Again ที่ใช้ประกอบซีรีส์ หากอ่านแค่เนื้อเพลงจะรู้สึกเป็นเพลงสดใสมาก แต่เมื่อฟังจังหวะและทำนองเพียงแค่ท่อนแรก ผมรู้สึกว่ามันสร้างอารมณ์ให้เรารู้สึกว่าสถานการณ์บางอย่างกำลังย่ำแย่ เสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวที่ทำให้เพลงนี้รู้สึกถึงบรรยากาศอันตราย ซึ่งจริงๆ จุดเด่นของการใช้เสียงซินธิไซเซอร์ก็คือเราสามารถสร้างทั้งดนตรีที่สดใส หรือดาร์กหม่นขึ้นมาก็ได้"

นอกจากนี้แล้วเมื่อเพลงถูกนำมาใช้ประกอบซีรีส์ ก็อาจต้องมองในเนื้อหาที่เข้ากับตัวซีรีส์ แน่นอนว่าเพลง "Never Let Me Down Again" อาจสามารถตีความได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง เรื่องยาเสพติด และเรื่องเพศ แต่เมื่อมาอยู่ในบริบทของ The Last of Us ก็สามารถใช้เป็นตัวแทนของซีรีส์เล่าเรื่องราวการผจญภัยของกลุ่มคนที่ต้องร่วมหัวจมท้ายกันตลอดทั้งเรื่อง เจอทั้งอุปสรรค ความยากลำบาก ความทุกข์ ความเศร้า และความสูญเสียมากมาย ซึ่งเหมือนอย่างที่ทางผู้กำกับฯ Craig Mazin ได้กล่าวไว้ว่า นี่คือบทเพลงที่สะท้อนความสัมพันธ์ของ 2 ตัวละครหลักได้อย่างชัดเจน

เสพย์สากล ยังกล่าวเสริมอีกว่า "ไม่สำคัญว่าเพลงนี้มีนัยใดแอบแฝง แต่สำคัญที่เลือกนำมาใช้ในบริบทไหนมากกว่า เพราะเพลงเป็นตัวกำหนดบรรยากาศ เราสามารถตีความหมายใหม่ได้ ซึ่งชื่อเพลง Never Let Me Down Again แปลว่า อย่าทำให้ฉันผิดหวัง ผมมองว่าตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้ผิดพลาดมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโจเอลรู้สึกผิดที่ทำให้ลูกสาวเสียชีวิต หรือเอลลี่ที่ต้องสูญเสียเพื่อนสนิท ทุกตัวละครล้วนมีความหลัง ดังนั้นพวกเขาไม่อยากจะผิดพลาด หรือทำให้ใครต้องผิดหวังเสียใจอีกแล้ว ซึ่งถือว่าการเลือก Never Let Me Down Again มาใช้ประกอบนั้น สามารถแทนบาดแผลของตัวละครหลักได้ดีทีเดียว"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีรีส์ The Last of Us จะฉายเพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น แต่กระแสตอบรับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เห็นได้ชัดจากจำนวนตัวเลขการสตรีมฟังเพลงประกอบที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า ซึ่งหากมองในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนได้ว่าทุกอย่างล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ผ่านการคิดและวางแผนมาแล้วอย่างดี เพื่อให้เกิดการตีความใหม่และข้อถกเถียงในกลุ่มผู้ชม ซึ่งจะส่งผลให้ซีรีส์เรื่องนี้มีกระแสและถูกพูดถึงต่อไปอีกเรื่อยๆ นั่นเอง.

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
กราฟิก : Sathit Chuepphanngam

ที่มาของข้อมูล : billboardcosmopolitan

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง