ไข่ขี้เกียจ กุเดทามะ (Gudetama) การ์ตูนเข้าใหม่ Netflix 2022 เป็นตัวการ์ตูน หรือ คาแรกเตอร์ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของเจนมิลเลเนียนชาวญี่ปุ่น สะท้อนถึงความขี้เกียจในจิตใจมนุษย์ โดยไข่ขี้เกียจกุเดทามะนี้ผ่านการประกวดการออกแบบได้ที่ 2 ปี 2013 แต่ทำรายได้มีมูลค่าทางตลาดสูงกว่าตัวละครที่ชนะเลิศในปีนั้น
ไข่ขี้เกียจ (Gudetama) คืออะไร ทำไมจึงกลายเป็นที่นิยม
การ์ตูนไข่ขี้เกียจกุเดทามะ (Gudetama) ออกแบบโดย เอมิ นางาชิมะ (Nagashima Emi) นักออกแบบตัวการ์ตูน ขณะนั้นเธออายุ 26 ปี และได้ส่งตัวการ์ตูนไข่ขี้เกียจประกวดแข่งขันค้นหาตัวละครใหม่ของซานริโอ (Sanrio) ในปี 2013 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ
ไข่ขี้เกียจกุเดทามะ (Gudetama) ชื่อมีที่มาจากคำว่า "กูเดกูเดะ" (ぐでぐで) มีความหมายถึงความขาดพลังงาน ไม่มีแรง และคำที่สองมาจากคำว่า “ทามาโงะ" (たまご) หมายถึง ไข่
ผู้ออกแบบไข่ขี้เกียจกุเดทามะ (Gudetama) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสังเกตลักษณะของไข่แดง บนไข่ขาว ขณะกำลังจะทำอาหารในมื้อหนึ่ง แล้วนำมาวาดภาพออกแบบแสดงความเกียจคร้านอันเป็นความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์ทุกคน ทำให้คาแรกเตอร์ของไข่ขี้เกียจนี้โดนใจคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ผู้ต้องผ่านความกดดันทางสังคม ทั้งการศึกษา และการทำงาน
ไข่ขี้เกียจ (Gudetama) เป็นลักษณะของตัวการ์ตูนรูปไข่แดงไม่มีคอ ไม่มีนิ้ว วาดด้วยลายเส้นง่ายๆ มีแขน มีขา ทำท่าทางได้เหมือนมนุษย์ อุปนิสัยชอบนอนตลอดทั้งวัน มีไข่ขาวเป็นเตียง และมีเบคอนเป็นผ้าห่ม สิ่งที่ไข่ขี้เกียจกุเดทามะชอบกิน คือ โชยุ ช่วยปลุกใจให้ไข่ขี้เกียจลุกขึ้นมากระตือรือร้นได้ชั่วครั้งชั่วคราว
ขี้เกียจจัง..
ความขี้เกียจในใจของชาวมินเลนเนียล
...
เมื่อพูดถึงตัวละครของซานริโอ (Sanrio) ทุกคนคงคิดถึง Hello Kitty แมวน้อยผูกโบที่ปรากฏบนสินค้าของที่ระลึก ทำรายได้อันดับหนึ่งของบริษัท รองลงมาคือมายเมโลดี้ (My Melody) โดยทั้งสองคาแรกเตอร์มีสีชมพู น่าจะเข้าถึงเพศหญิงมากกว่า แต่เมื่อกุเดทามะได้ปรากฏต่อสายตาประชาชนวงกว้าง คาแรกเตอร์ความขี้เกียจ ก็กลายเป็นตัวละครที่ทำรายได้อันดับ 3 ไล่ตามมาติดๆ
ความขี้เกียจเป็นสิ่งที่อยู่ในใจชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ ที่เติบโตมาท่ามกลางการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา แย่งกันสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเพื่อมีอนาคตที่ดี หรือแย่งกันเข้าทำงาน แย่งกันขึ้นรถไฟฟ้า และอื่นๆ ที่ปลูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น กุเดทามะจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทนการเอาตัวรอดในสังคมญี่ปุ่น
ไม่เพียงแต่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น คนชาติอื่นๆ ที่เติบโตท่ามกลางความเร่งรีบ และแย่งชิงทรัพยากร ก็มีความขี้เกียจเกิดอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์เช่นเดียวกัน
Gudetama เข้า Netflix 2022
ไข่ขี้เกียจ (Gudetama) เป็นซีรีส์การตูนฉายในโทรทัศน์ช่วงเช้าของญี่ปุ่น ช่วงปี 2014-2020 กว่า 1,000 ตอน และปัจจุบันกำลังเข้าฉายทาง Netflix ในเดือนธันวาคม 2022 นี้ ในชื่อกุเดทามะ ไข่ขี้เกียจผจญภัย ขึ้นเป็นอันดับ 2 ในมุมเด็ก
ภาพยนตร์ไข่ขี้เกียจผจญภัยใน Netflix จัดอยู่ในหมวดแนะนำสำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป ในกลุ่มภาพยนตร์ตลกขบขัน ตอนละ 10-12 นาที
นอกจากนี้ไข่ขี้เกียจยังเป็นคาแรกเตอร์ที่ใช้พิมพ์ลายสินค้า ทั้งหมอน เสื้อผ้า ตุ๊กตา หรือทำฟิกเกอร์ของเล่นที่เด็กและวัยรุ่นนิยมสะสม จึงเป็นคาแรกเตอร์ที่ทำรายได้ให้ซานริโออันดับต้นๆ
เรียบเรียง : สีวิกา ฉายาวรเดช