จากข่าวชายชาวเกาหลีใต้เสียชีวิตจากเชื้ออะมีบากินสมองหลังจากมาเที่ยวประเทศไทย ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าอะมีบาคืออะไร และเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์จริงหรือไม่

อะมีบา คืออะไร

อะมีบา หรือ เชื้ออะมีบา เป็นสัตว์เซลล์เดียวประเภทโปรโตซัว (protozoa) ชนิดหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีขนาดใหญ่กว่าแบคทีเรียไม่มากนัก อะมีบาสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง อะมีบาบางชนิดก่อให้เกิดโรคในคนได้ เป็นอะมีบาที่อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติตามแหล่งน้ำ ดิน โคลนเลน มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ (Naegleria fowleri) และสายพันธุ์อะคันธามีบา (Acanthamoeba)

อะมีบา สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ (Naegleria fowleri)

เป็นอะมีบาที่พบครั้งแรกใน พ.ศ. 2508 แต่มีรายงานว่าพบในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 และยังพบได้ในเขตร้อนหรือเขตอบอุ่นเกือบทั่วโลก ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย ยุโรป เอเชียและแอฟริกาใต้ ในประเทศไทย มีการสำรวจจากแหล่งน้ำในหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานีและศรีสะเกษ และจากแหล่งน้ำขังในเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดปทุมธานี และสมุทรปราการ

อะมีบา สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส พบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป ยกเว้นน้ำกร่อยหรือทะเล ติดต่อสู่คนได้โดยการสำลักน้ำ หรือหายใจเอาฝุ่นที่มีเชื้อเข้าไปและผ่านไปยังสมองแล้วแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ และถูกทำลาย มักติดเชื้อในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุน้อย และมีประวัติว่ายน้ำ ก่อนเกิดอาการ 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 14 วัน เริ่มแรกผู้ป่วย จะมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ การได้กลิ่นเสียไป ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หลังแข็ง ชัก ในวันที่ 4 หรือวันที่ 5 ผู้ป่วยเริ่มไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตภายใน 1-2 วันถัดมา

...

อย่างไรก็ตาม หากมีการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างถูกต้องและรวดเร็วอาจช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้โดยการให้ยา amphotericin B และ miconazole เข้าเส้นเลือดดำ และเข้าโพรงสมอง ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือเล่นน้ำในแหล่งน้ำขัง หรือน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ระวังการสำลักน้ำ ในสระว่ายน้ำควรกรองน้ำให้สะอาด และตรวจสอบสม่ำเสมอ อย่าให้มีรอยแตกร้าว เพื่อป้องกันเชื้ออะมีบาขึ้นสมอง

อะมีบาก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือที่เรียกว่าอะมีบากินสมองได้
อะมีบาก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือที่เรียกว่าอะมีบากินสมองได้


อะมีบา สายพันธุ์อะคันธามีบา (Acanthamoeba)

อะมีบา สายพันธุ์อะคันธามีบา พบครั้งแรกใน พ.ศ. 2501 สามารถพบได้เกือบทั่วโลก ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา และออสเตรเรีย ส่วนในประเทศไทยมีการสำรวจพบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในจังหวัดนครราชสีมา อะมีบา สายพันธุ์อะคันธามีบา ที่ทำให้เกิดโรคในคนมี 7 สายพันธุ์ ดำรงชีวิตเป็นอิสระในน้ำ ดิน โคลนเลน เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส พบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป รวมทั้งน้ำกร่อย และน้ำทะเล เข้าสู่ทางร่างกายโดยผ่านทางผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังและตาอักเสบ การติดเชื้อที่ไซนัส ส่วนการติดเชื้อที่สมอง คาดว่าเชื้อมาตามกระแสเลือด มักติดเชื้อในผู้ที่สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ส่วนในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงมีอาการติดเชื้อได้น้อย

อะมีบาทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ดิน โคลน เลน
อะมีบาทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ดิน โคลน เลน

สำหรับระยะฟักตัวของอะมีบาชนิดนี้ไม่แน่นอน อาจนานกว่า 10 วัน หรือเรื้อรังนานเป็นเดือน การติดเชื้อเป็น แบบกึ่งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง อาการเริ่มแรก คล้ายกับอาการของไข้หวัด มีเจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาการของ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ต่อมาอาการคล้ายโรคฝีหรือเนื้องอกในสมอง ได้แก่ ชัก สับสน ประสาทหลอน มึนงง ง่วงซึม และเสียชีวิตหลังจากเริ่มมีอาการประมาณ 3 สัปดาห์

การวินิจฉัยทำได้ด้วยการตรวจจากน้ำไขสันหลัง หรือการตรวจพยาธิวิทยา จากการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หรือการตรวจหาแอนติบอดี ในรายที่มีการติดเชื้อที่ตา หรืออวัยวะอื่นๆ ควรรีบทำการรักษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่สมอง ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรทำความสะอาดเลนส์ด้วยน้ำยาที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ในขณะว่ายน้ำ ถึงแม้ว่าอะมีบาจะไม่ใช่โรคติดต่อและโอกาสที่จะติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตมีน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะหากได้รับเชื้ออะมีบาแล้ว โอกาสที่จะรอดมีน้อยมาก.

...