“เสียง” เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่สะท้อนบุคลิกและตัวตนของเรา แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราสามารถปรับเสียงที่มีมาตั้งแต่เกิดให้ดีขึ้นและเปลี่ยนชีวิตของเราได้ แค่เพียงออกเสียงให้ถูกวิธี
รภัทร แก้วมีชัย หรือ “ครูมิ้น” นักร้อง นักแต่งเพลง และครูสอนการฝึกเสียง ผู้ดำเนินรายการ "Sounds Good!" - เพราะเสียงข้างใน ต้องใช้หัวใจฟัง ทางช่อง Thairath Podcast โดยไทยรัฐพลัส เผยกับไลฟ์สไตล์ ไทยรัฐออนไลน์ว่า "เสียง" มีผลต่อบุคลิกภาพและความน่าเชื่อถือแล้วยังสะท้อนไปถึงตัวตนและการศึกษาของแต่ละบุคคลได้ หากมีการฝึกใช้เสียงที่ถูกวิธี ก็ช่วยเปลี่ยนชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าเสียงนั้นมีผลต่อบุคลิกภาพโดยรวมของเราได้อย่างไร ลองนึกถึงภาพคนที่แต่งตัวดี หน้าตาดี แต่เมื่อเอ่ยเสียงออกมากลับมีเสียงเล็กแหลมหรือเสียงแหบเสียงเบาฟังดูไม่มีพลัง ก็ทำให้บุคลิกภาพโดยรวมดูไม่น่าเชื่อถือ ในทางกลับกัน คนที่แต่งตัวธรรมดาหรือแต่งตัวโทรม แต่เสียงที่เปล่งออกมาทุ้มแน่นฟังดูมีพลัง ก็ทำให้ภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“เคยมีงานวิจัยจากต่างประเทศบอกว่าคนส่วนใหญ่มักจะโหวตให้กับนักการเมืองที่มีโทนเสียงต่ำมากกว่าคนที่มีโทนเสียงสูง เนื่องจากเป็นโทนเสียงที่แสดงถึงความจริงจังและน่าเชื่อถือมากกว่า” ครูมิ้น ยืนยันกับเราด้วยงานวิจัย
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า “เสียง” เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด คงไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเรารู้หลักการออกเสียงที่ถูกวิธีและมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยแก้ไขเสียงเดิมของเราให้ดีขึ้นและน่าเชื่อถือขึ้นได้
...
ครูมิ้นบอกว่าที่ผ่านมาเคยเจอลูกศิษย์หลายคนออกเสียงผิดวิธี ทำให้มีเสียงเล็กแหลม ฟังดูเหมือนเสียงเด็กตลอดเวลาทั้งที่ความจริงอายุไม่เด็กแล้ว
"มีนักเรียนที่มีอายุแล้ว แต่มีเสียงเล็กแหลม ก็มาบ่นว่า เพื่อนบอกว่าทำไมเวลาพูดแล้วดูเหมือนดัดจริต ซึ่งมันก็มาจากการที่เขาไม่ยอมรับว่า พอโตขึ้นแล้ว อวัยวะที่ใช้ออกเสียงก็เติบโตขึ้นตาม เสียงเราก็จะไม่เหมือนกับตอนที่เราเด็กๆ" ครูมิ้นกล่าว และเสริมว่าเราควรเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ใหม่ เพราะการออกเสียงให้ถูกวิธี เลือกใช้เสียงตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับตัวเอง ก็ช่วยปรับภาพลักษณ์ให้ดูดีขึ้นได้
สำหรับวิธีการออกเสียงที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตได้นั้น ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วิธีการหายใจให้ถูกต้องด้วยการหายใจเข้าก่อนที่จะพูดเปล่งเสียงออกมา ขณะพูดควรมีการเว้นระยะเพื่อหายใจ ฝึกใช้น้ำเสียงที่คมชัด ควบคู่ไปกับการฝึกฝนกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องในการออกเสียงอย่างสม่ำเสมอ ก็ทำให้การพูดและการออกเสียงของเราน่าฟังขึ้น
“การฝึกสมาธิและโยคะ มีส่วนช่วยให้เราหายใจได้ลึกขึ้น เพราะเป็นการกำหนดลมหายใจที่ถูกต้องจึงอาจช่วยให้เราออกเสียงได้ดีขึ้น”
ขณะเดียวกัน ครูมิ้นก็ยอมรับว่าปัญหาเรื่องเสียงบางอย่างก็อาจเริ่มต้นจากปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการออกเสียงได้หากไม่ได้รับการรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาหลักที่เกิดขึ้นเสียก่อน เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคเส้นเสียงอักเสบ อาการไอ หวัด ไปจนถึงโรคทางประสาทหรือทางจิตที่ส่งผลกระทบต่อการออกเสียง ดังนั้นคนที่มีปัญหาจากโรคเหล่านี้ควรไปทำการรักษาจึงจะมาฝึกเรื่องการออกเสียง
“นักเรียนบางคนมาด้วยปัญหา 'เสียงขาด' ตอนแรกก็งงว่าเสียงขาดคืออะไร ก็ลองให้ทำแบบฝึกหัด ปรากฏว่า เสียงไม่ได้ขาด แต่เป็นปัญหาทางใจที่ส่งผลต่อการพูด เช่น เขาจะพูดว่าคำว่า "ข้าวมันไก่" จะออกเสียงว่า "ข้าว-มัน-ก-ไอ่" แต่พอให้ออกเสียงว่า ข้าว - มัน - ไก่ แยกกัน ก็ออกได้ทุกคำ เลยคิดว่างั้นแสดงว่าไม่ใช่อาการทางเสียงละ แต่เป็นอาการทางอื่น”
นอกจากนี้ การเลือกใช้โทนเสียงที่เหมาะสมกับสถานการณ์ก็จะช่วยให้หลายๆ อย่างรอบตัวดีขึ้นได้ เช่น การใช้โทนเสียงที่อ่อนหวานเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นก็จะทำให้คนฟังรู้สึกเต็มใจช่วยมากขึ้น หรือการใช้โทนเสียงต่ำในการสื่อสารกับคนจำนวนมากก็สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้พูดได้ ขณะเดียวกัน การใช้โทนเสียงที่สูงขึ้น บวกกับพลังงานในการพูด ก็สามารถดึงดูดความสนใจจากคนฟังได้เป็นอย่างดี
"คนที่มาเรียนหลายคน บางคนมีปัญหาว่า คุมลูกน้องไม่อยู่ เมื่อมาฟังส่วนของการออกเสียง ก็มาจากโทนเสียงที่ดูใจดีเกินไป หรือออกเสียงแผ่วๆ ก็เลยทำให้คุมผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ (หัวเราะ) หรือบางคนก็มาเรียนด้วยปัญหาที่ว่า ลูกน้องบอกว่า ดุมาก ทำไมถึงดุขนาดนั้น"
...
ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมองข้ามเรื่อง “เสียง” ทั้งที่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และส่งผลต่อการใช้ชีวิตไปจนถึงบุคลิกภาพของเรา การมีเสียงที่ดีไม่ได้หมายถึงแค่มีเสียงออกมาให้ได้ยิน แต่เป็นเสียงที่มีพลังและน่าฟัง ที่ไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนบุคลิกให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้ด้วย