อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ เราจะได้ทราบกันแล้วว่า แชมป์โลกประจำทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2022 ที่มีประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพ บทสรุปสุดท้ายจะเป็นชัยชนะของใครระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินา และทีมชาติฝรั่งเศส
ความน่าสนใจของเกมนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งจะฟาดแข้งกันที่ Lusail Stadium เป็นเกมที่แฟนบอลทั่วทั้งโลกได้เห็นพร้อมกันว่า ฝรั่งเศสหรืออาร์เจนตินา ชาติใดกันแน่ที่จะได้แชมป์โลกเป็นสมัยที่ 3
แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ลองย้อนกลับไปที่แชมป์โลกทั้ง 2 ครั้งของทีมชาติฝรั่งเศส และทีมชาติอาร์เจนตินา เพื่อสืบเสาะ ค้นหา สิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะรายละเอียดที่น่าสนใจของชุดแข่งหลักในปีที่ทั้งอาร์เจนตินา และฝรั่งเศสได้แชมป์โลก
ทีมชาติอาร์เจนตินา ชุดแชมป์โลก 1978
การคว้าแชมป์โลกทั้ง 2 ครั้งของทีมชาติอาร์เจนตินา ต้องย้อนหลังกลับไปนานสักหน่อย เพราะเกิดขึ้นในปี 1978 และปี 1986 โดยรายละเอียดการคว้าแชมป์โลก สามารถอ่านเรื่องราวแบบเจาะลึกได้ที่
ควรต้องกล่าวด้วยว่า เสื้อแข่งของทีมชาติอาร์เจนตินาในปี 1978 ยังไม่มีความสลับซับซ้อนใดๆ มากนัก แม้จะเป็นช่วงที่ฟุตบอลกำลังเข้าใกล้กับความเป็นทุนนิยมแล้วก็ตาม
เสื้อแข่งของทีมชาติอาร์เจนตินา ชุดแชมป์โลกปี 1978 เป็นเสื้อแข่งในลักษณะที่แฟนบอลทั้งโลกคุ้นชินตาเป็นอย่างดี เพราะเป็นเสื้อแข่งที่มาในสีหลัก นั่นคือ สีฟ้า และสีขาว ซึ่งมีลักษณะเด่นจากธงชาติของประเทศอาร์เจนตินา และยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีของผ้าดังที่คุ้นชินในปัจจุบัน
...
เสื้อแข่งอาร์เจนตินาในปี 1978 พวกเขาใช้ผลิตภัณฑ์ของอาดิดาส โดยโลโก้ของอาดิดาสในเวลานั้นถูกเรียกว่า The Trefoil ก่อนที่กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนให้โลโก้อาดิดาสเปลี่ยนไปเป็น The Triangle ที่มีลักษณะคล้ายกับภูเขา โดยมีความนัยสื่อถึงความท้าทายของนักกีฬาที่จะต้องก้าวข้ามผ่านภูเขาอันสูงชัน ก่อนที่ได้สัมผัสกับความสำเร็จ
ปัจจุบัน โลโก้ The Trefoil ที่ทีมชาติอาร์เจนตินาเคยใช้นั้น ถูกนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มที่อาดิดาสเรียกว่า Adidas Originals ซึ่งจับตลาดสายแฟชั่น
ทีมชาติอาร์เจนตินา ชุดแชมป์โลก 1986
นี่คือเสื้อทีมชาติอาร์เจนตินาชุดประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะฟุตบอลโลกปี 1986 เป็นปีที่มีเรื่องราวให้น่าจดจำเป็นอย่างมาก ทั้งจากความสามารถอันเอกอุของดิเอโก มาราโดนา ตามด้วยลูกโหม่งที่ถูกเรียกอย่างโจษจันว่า หัตถ์พระเจ้า ในเกมที่พบกับทีมชาติอังกฤษ
หลังจากประตู Hand of God เกิดขึ้นเพียง 6 นาที มาราโดนาได้ยิงประตูที่สวยที่สุดลูกหนึ่งของฟุตบอลโลกด้วยการเลี้ยงผ่านนักเตะคนแล้วคนเล่าถึง 5 คน ได้แก่ ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์, สตีฟ ฮอดจ์, ปีเตอร์ รีด, เทอร์รี บุตเชอร์ และเทอร์รี เฟนวิค กินระยะทางมากถึง 66 หลา ก่อนบรรจงส่งบอลเข้าสู่ก้นตาข่ายผ่านมือ ปีเตอร์ ชิลตัน ซึ่งประตูนั้นได้กลายเป็นประตูแห่งศตวรรษของฟีฟ่า หรือ Goal of the Century ในปี 2002
จากทั้งสองประตูที่เกิดขึ้น เลอ กิ๊ป (L'Équipe) หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส ได้บรรยายความเป็นตัวตนของมาราโดนา ในเกมที่ชนะทีมชาติอังกฤษเอาไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ‘half-angel, half-devil’ ครึ่งหนึ่งของมาราโดนาไม่ต่างจากเทพบุตร แต่อีกด้านเขาไม่ต่างจากซาตาน
ชุดแข่งของทีมชาติอาร์เจนตินาในปี 1986 ใช้บริการชุดแข่งของเลอ ค็อก สปอร์ทิฟ (Le Coq Sportif) จากประเทศฝรั่งเศส โดยมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 1986 ที่ประเทศเม็กซิโก เริ่มต้นขึ้น สมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา ได้สั่งให้ผู้ผลิตนั่นก็คือ เลอ ค็อก สปอร์ทิฟ พัฒนาเสื้อแข่งรุ่นพิเศษ เน้นไปที่ความบางของเสื้อ และการระบายอากาศที่ดี เพราะการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนั้นมีอุณหภูมิที่สูงมาก
...
อย่างไรก็ตาม สมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา ลืมคิดไปว่า ถ้าหากในกรณีที่อาร์เจนตินาต้องเจอกับทีมชาติที่ใช้เสื้อหรือคู่สีที่ตรงกับเสื้อเหย้าสีฟ้า-ขาว ของอาร์เจนตินา ต้องทำอย่างไร เพราะเสื้อที่สั่งคัสตอมนั้น ถูกสั่งเฉพาะเสื้อเหย้า แต่เสื้อเยือนไม่ได้มีการสั่งการในเรื่องนี้
คราวนี้ปัญหาก็เกิดขึ้นในเกมที่พบกับทีมชาติอุรุกวัย ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เพราะคู่สีของทีมชาติอาร์เจนตินา และอุรุกวัย ใกล้เคียงกัน โดยเกมนั้นอาร์เจนตินาต้องสลับไปใส่ชุดเยือน ซึ่งเป็นสีน้ำเงินเข้ม ส่งผลให้เสื้อแข่งผู้เล่นอาร์เจนตินา และซุปเปอร์สตาร์อย่างดิเอโก มาราโดนา ต้องชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ และเนื้อผ้าของชุดเยือนที่หนากว่าชุดเหย้าเป็นอย่างมาก
กระทั่งในเกมรอบควเตอร์ไฟนัล อาร์เจนตินา ต้องพบกับทีมชาติอังกฤษ ซึ่งใส่เสื้อสีขาว ทำให้เสื้อแข่งของทั้งสองทีมเกิดการชนกันอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นแล้วในช่วง 48 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนที่เกมระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินา และอังกฤษ เริ่มต้นขึ้น ทีมงานเทคนิคที่เกี่ยวข้องด้านชุดแข่งขันต้องเร่งหาเสื้อสีฟ้าที่มีโลโก้ของเลอ ค็อก สปอร์ทิฟ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีความบาง และระบายอากาศได้ดี เหมือนกับชุดเหย้า
ในช่วงแรกทีมเทคนิคของทีมชาติอาร์เจนตินาไม่มั่นใจว่า ชุดสีน้ำเงินของเลอ ค็อก สปอร์ทิฟ ที่ได้มาเวิร์คหรือไม่เวิร์ค แต่เมื่อการปรากฏตัวของดิเอโก มาราโดนา ในห้องของทีมเทคนิค ปรากฏว่า มาราโดนากลับชอบเสื้อที่ทีมเทคนิคไม่มั่นใจในตอนแรก และมาราโดนายืนยันว่าต้องการใส่ชุดนี้ดวลกับทีมชาติอังกฤษ
...
จากนั้นทีมเทคนิคต้องใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงสุดท้ายทำงานด้วยความโกลาหล แน่นอนว่าการปักโลโก้ทีมชาติอาร์เจนตินาไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มาติดขัดตรงที่หมายเลขเสื้อ
สุดท้ายทีมชาติอาร์เจนตินา เอาตัวรอดจากปัญหานี้ได้ด้วยความช่วยเหลือจากทีมอเมริกันฟุตบอลในท้องถิ่น ที่มอบหมายเลขของทีมให้มาใช้งาน แม้ว่าจะไม่สวยงามมากนัก แถมยังมีกลิตเตอร์บนตัวเลข แม้ว่าจะแปลก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีให้ใช้ เพราะเวลาไม่เหลือให้พวกเขาอีกแล้ว
ทีมชาติฝรั่งเศส ชุดแชมป์โลก 1998
นี่คือชุดแข่งที่ทำให้ทีมชาติฝรั่งเศสไปถึงแชมป์โลกเป็นสมัยแรก อีกทั้งในรอบชิงชนะเลิศยังเป็นการถล่มหมายเลขหนึ่งของฟุตบอลโลกอย่างทีมชาติบราซิลลงอย่างราบคาบ 3-0
จุดที่น่าสนใจของเสื้อทีมชาติฝรั่งเศสในปี 1998 อยู่ตรงที่ เป็นเสื้อสีน้ำเงินตามสไตล์ของทีมชาติฝรั่งเศส ปกสีขาวที่มีเล่นลวดลายแบบเดียวกับธงชาติฝรั่งเศส จากนั้นบริเวณไหล่ไล่มาจนถึงแขนเสื้อมาพร้อมกับสัญลักษณ์ 3 แถบของอาดิดาส ปลายแขนเสื้อมีกุ๊นพร้อมกับสีน้ำเงิน-สีขาว-สีแดง ตามธงชาติฝรั่งเศสเช่นกัน
หน้าอกของตัวเสื้อมีขีดสีแดงขนาดใหญ่พาดอยู่ ไล่ระดับลงมาจะมีขีดสีขาวบางๆ จำนวน 3 ขีด ส่วนโลโก้ของอาดิดาส ใช้สัญลักษณ์ The Triangle ที่คุ้นเคยกันดีในปัจจุบัน
...
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากใครที่ติดตามทีมชาติฝรั่งเศสมานาน อาจรู้สึกผิดหวังในการออกแบบของเสื้อทีมชาติฝรั่งเศสในปี 1998 ก็ได้ เพราะว่าในภาพรวมอาดิดาสได้หยิบเอาเทมเพลตของเสื้อทีมชาติฝรั่งเศสในปี 1984 มาใช้เกือบทั้งหมด โดยมีการปรับแต่งเล็กน้อย
สุดท้าย เมื่อเสื้อแข่งทีมชาติฝรั่งเศสในปี 1998 ประสบความสำเร็จจนถึงขั้นเป็นแชมป์โลก ทำให้เสียงของความผิดหวังจึงค่อยๆ จางมลายหายไป
ทีมชาติฝรั่งเศส ชุดแชมป์โลก 2018
ชุดแข่งของทีมชาติฝรั่งเศส ประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เป็นผลิตภัณฑ์ของไนกี้ ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมกับทีมชาติฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบันปี 2022
การออกแบบของไนกี้ เน้นไปถึงการให้ความเคารพต่อธงชาติของฝรั่งเศส ซึ่งประกอบไปด้วยสีน้ำเงิน-สีขาว-สีแดง โดยจะปรากฏอยู่ที่บริเวณหลังคอเสื้อ
ด้านหน้าเป็นสัญลักษณ์ตราไก่สีขาว มีสัญลักษณ์ดาว 1 ดวงในฐานะแชมป์โลก 1 สมัย ตามด้วยบริเวณสาบเสื้อ และกระดุม ประทับคำขวัญของประเทศฝรั่งเศส "Liberté, Egalité, Fraternité" ซึ่งแปลว่า เสรีภาพ, ความเสมอภาค และภราดรภาพ
จากนั้นบริเวณไหล่จรดไปถึงแขนเสื้อของเสื้อมีการไล่ระดับอย่างสวยงาม เพื่อสื่อไปถึงเรื่องของความเร็ว
สิ่งที่น่าสนใจของเสื้อแข่งชุดนี้ อยู่ตรงที่ด้านหลัง เพราะตัวเลขของเสื้อนักเตะทุกคนได้หยิบเอางานสถาปัตยกรรมสไตล์ Art-deco อันลือชื่อของฝรั่งเศส ซึ่งมีจุดเด่นจากการใช้เส้นโค้งและเส้นตรง ที่มีความง่ายแต่เต็มด้วยพลัง ความแข็งแกร่ง และแสดงถึงความก้าวหน้า
อ่านเรื่องราวการคว้าแชมป์โลกของทีมชาติฝรั่งเศส จากปี 1998 และ 2018 ได้ที่: แชมป์โลกของฝรั่งเศส ชัยชนะของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เท่านั้นยังไม่พอ ทีมชาติฝรั่งเศสยังมีแนวคิดเรื่องความแตกต่าง เชื่อเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ คนอาหรับ คนมุสลิม หรือคนขาวก็ตาม จึงมีการสลักคำว่า Nos Differences Nous Unisset (ความแตกต่างได้รวมเราไว้เป็นหนึ่งเดียว) โดยต่อยอดแนวคิดนี้มาจากทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลก 1998
ในวันที่ทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์โลกปี 2018 อองตวน กรีซมันน์ นักเตะคนสำคัญจากทัวร์นาเมนต์นี้ที่รัสเซีย กล่าวว่า พวกเราอาจมีที่มาจากที่ที่แตกต่างกัน แต่พวกเราทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้มีแนวคิดเดียวกัน เชื่อแบบเดียวกัน มีหัวจิตหัวใจแบบเดียวกัน เราทุกคนเล่นเพื่อทีมชาติฝรั่งเศส เพื่อประเทศของพวกเรา ทันทีที่เราใส่เสื้อสีน้ำเงินของทีมชาติฝรั่งเศส เราจะทำทุกอย่างเพื่อกันและกัน
สุดท้ายเทพธิดาแห่งชัยชนะจะโปรยชัยชนะให้กับทีมใด อย่าลืมติดตามชมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2022 ฉบับกาตาร์ วันนี้ (18 ธันวาคม) เวลา 4 ทุ่ม.
อ้างอิง: Football Kit Archive, Futbol Retro, Museum of Jerseys, Dezeen