ประวัติ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มีผลงานกวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลมาแล้วหลายรางวัล และล่าสุดได้รับรางวัลซีไรต์ ในปี 2565 ประเภทกวีนิพนธ์ จากหนังสือเรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้”
“ปาลิดา ผลประดับเพ็ชร์” นับเป็นนักเขียนหญิง คนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ ซึ่งนักเขียนหญิงคนแรกที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว คือ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” จากกวีนิพนธ์เรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” เมื่อปี 2532
สำหรับประวัติของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เกิดที่แม่กลอง เมื่อปี 2529 และเติบโตที่จังหวัดเพชรบุรี การศึกษา จบปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2551 ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา 2556
ประสบการณ์การทำงาน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 8 ปี ปัจจุบันอยู่กับครอบครัวที่ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ตีพิมพ์บทกวีนิพนธ์เล่มแรกของตัวเองหลังลาออกจากงานประจำได้ 10 เดือน และปัจจุบันทดลองใช้ชีวิตเป็นอิสระจากงานประจำ
สำหรับผลงานงานเขียนที่ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เคยได้รับรางวัล เช่น
- รางวัล รองชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “ดำเนินทราย” การประกวดวรรณกรรม (ประเภทบทกวี) “รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561
- รางวัล รองชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “มิได้อุทธรณ์” การประกวดบทกวี “รางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561
- รางวัล ชมเชย ผลงานเรื่อง “แล้วเธอล่ะเป็นใครในเมืองนี้” การประกวดวรรณกรรม (ประเภทบทกวี) “รางวัลพานแว่นฟ้า” ประจำปี 2561
- รางวัล ชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “จนกว่าชีวิตจะนิทรา” การประกวดวรรณกรรม (ประเภทบทกวี) “รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี” ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562
- รางวัล รองชนะเลิศ ผลงานเรื่อง “คนถางทาง” การประกวดวรรณกรรม (ประเภทบทกวี) “รางวัลพานแว่นฟ้า” ประจำปี 2562
- รางวัล ชมเชย ผลงานเรื่อง “เราอยู่ตรงนี้นานเกินไปแล้ว” การประกวดวรรณกรรม (ประเภทบทกวี) “รางวัลพานแว่นฟ้า” ประจำปี 2563
...
ผลงานล่าสุด ที่ “ปาลิดา ผลประดับเพ็ชร์” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) หรือรางวัลซีไรต์ 2565 ประเภทกวีนิพนธ์ จากหนังสือเรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” นี้ คณะกรรมการตัดสินได้อ่านคำประกาศไว้ตอนหนึ่งว่า
“กวีเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนอย่างละคร แบ่งบทตอนอย่างมีสัมพันธภาพ ใช้ท่วงทำนองโรแมนติกตัดกับสัจนิยม ด้วยน้ำเสียงประชดเสียดสี เพื่อเร้าอารมณ์และกระตุ้นความนึกคิด ถ้อยคำในบทกวีน้อยแต่มาก ง่ายแต่งาม ลึกซึ้งทั้งความหมายและอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งยังใช้ศิลปะสองแขนง คือ บทกวีกับภาพวาดมาสอดประสานกันเพื่อนำเสนอความคิดร่วมสมัยและสากล สื่อน้ำเสียงที่มีความหวัง มุ่งยกระดับจิตใจให้ใคร่ครวญถึงความอ่อนโยนที่โลกพึงมีต่อเราและเราพึงมีต่อโลก
อ้างอิงข้อมูล และ ภาพ : เว็บไซต์ seawrite.com , เพจเฟซบุ๊ก เคล็ดไทย และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์