“มูเตลู” หรือ ธุรกิจสายมู กลายเป็นกระแส และเทรนด์ใหม่ของธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อยู่คู่กับมนุษย์มานานนับพันๆปี

Clude Levi–Strauss นักมานุษยวิทยา ชาวอังกฤษ เคยให้ความเห็นว่า วิชาความรู้ของมนุษย์ในอดีตก่อนที่วิทยาศาสตร์แบบตะวันตกจะกำเนิดขึ้นต่างต้องพึ่งพาไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ วิชาการเดินเรือ พฤกษศาสตร์ หรือแม้แต่ สมุนไพรรักษาโรค ล้วนมีวิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาปรับใช้กับความรู้ใหม่ในปัจจุบัน

วารสาร The Knowledge ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เล่มล่าสุด ประมวลกระแสมูเตลูในมิติต่างๆไว้ได้น่าสนใจ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามต่อกระแสความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ ในสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ที่อาจทำให้ผู้คนรู้สึกอ่อนไหว ขาดความมั่นใจ ทำให้ความเชื่อทางไสยศาสตร์เข้ามาเติมเต็มความเชื่อมั่น จนกลายเป็นสิ่งที่สินค้าและบริการต่างๆมาเป็นจุดขายสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปีละ หลายหมื่นล้านบาท

...

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อย่างเช่น ธุรกิจตัวเลขมงคลที่มีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือมูลค่าการท่องเที่ยวที่เกิดจากการเดินทางไปทำบุญขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปี 2562 ที่สูงถึง 10,800 ล้านบาท และมูลค่าธุรกิจในแวดวงโหราศาสตร์ที่โตแบบก้าวกระโดดถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี

ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ที่ศาสตร์ “มูเตลู” ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้ประเทศ อย่างสูง ในฮ่องกง ศาสตร์ฮวงจุ้ย ถือเป็นศาสตร์ที่ทำเงินมหาศาล โดยค่าปรึกษาซินแสเกี่ยวกับการซื้อที่อยู่อาศัยหรือตั้งบริษัทสูงถึง 8 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อตารางฟุต และอาจสูงถึง 30 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อตารางฟุตในโครงการระดับไฮเอนด์ ยังไม่รวมรายได้ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปฮ่องกงเพื่อไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และซื้อเครื่องรางของขลังกลับมาบูชา เป็นเงินมหาศาลในช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวบูมสุดๆ

ความเชื่อสายมูเตลูยังขยายตัวไปสู่ธุรกิจแฟชั่น แม้แต่แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงของฝรั่งเศส อย่าง Van Cleff & Arpels ที่มากับสโลแกน “ถ้าอยากมีโชค คุณก็ต้องเชื่อในโชค” ซึ่งมาจากความเชื่อเรื่องโชคที่นำมาใช้ใน Alhambra คอลเลกชันจิวเวลรีรูปใบโคลเวอร์สี่แฉกที่อยู่คู่แบรนด์มานานกว่า 50 ปี และเป็นที่รู้กันดีว่า ใบไม้ชนิดนี้คือสัญลักษณ์ของความโชคดีในวัฒนธรรมตะวันตก หรือแม้แต่เทรนด์การผลิตสินค้าของจีนในปัจจุบัน ที่มักผูกเรื่องความโชคดีไว้กับสินค้าด้วย ภายใต้คอนเซปต์ “Lucky & Luxury” ด้วย

และเช่นเดียวกับอีกหลายๆประเทศ ที่มีเครื่องรางของขลังซึ่งเป็นแฟชั่นเฉพาะของตัวเองในแต่ละประเทศ อาทิ ดวงตาปิศาจ ของ ประเทศตุรกี ที่เรียกว่า Nazar Amulet ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนี้มานานกว่าหลายพันปี ในชื่อของ Evil Eye มีคุณสมบัติในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆต่อต้านพลังลบ ซึ่งวันนี้ ได้กลายเป็นแฟชั่นและเป็นแรงบันดาลใจในโลกแฟชั่นของนักออกแบบและคนดังระดับโลก อย่าง Beyonce, Kim Kardashian และ Gigi Hadid ฯลฯ

...

ถุงโชคดีโอมาโมริ (Omamori) ของญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องรางของขลังที่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวซึ่งไปเที่ยวญี่ปุ่นชื่นชอบ เวลาไปญี่ปุ่นเราจึงเห็นวัยรุ่นญี่ปุ่นใช้ถุงโอมาโมริห้อยกระเป๋าหรือพกติดตัว โดยโอมาโมริและการขอพรจะแตกต่างกันไปตามวัด หรือศาลเจ้าต่างๆ

ในยุโรปและอเมริกา มี Rabbit’s Foot พวงกุญแจเท้ากระต่ายให้โชค โดยเชื่อว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ตื่นตัว ว่องไว ให้โชคลาภ ขนาดประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ก็เคยนำ Rabbit’s Foot มาติดตัวเพื่อให้โชคดีมาแล้ว

นอกจากนี้ สัตว์บางชนิดได้ถูกอุปโลกน์เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี เช่น Myanmar Owl หรือนกฮูกคู่ตาโตนำโชค ที่เคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์นำโชคในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 ในปี 2556 มาแล้ว หรือเจ้าแมวน้อยมาเนกิ เนะโกะ (Maneki Neko) หรือแมวกวักนำโชค ที่ใครไปญี่ปุ่นก็อดไม่ได้ที่จะซื้อเป็นของที่ระลึกกลับมา

...

ในระยะหลัง ผลิตภัณฑ์และสินค้าสายมู มีความแปลกใหม่ขึ้นเรื่อยๆ แฟชั่นสีมงคล เสื้อ Supreme x หลวงพ่อคูณ ในคอลเลกชัน Spring/Summer 2021 หรือ เลขศาสตร์เสริมดวงชะตา, เครื่องประดับมงคล, ศัลยกรรมความงามเพื่อเสริมโหงวเฮ้ง, วอลเปเปอร์มงคลในโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่ความนิยมไหว้ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ กุมารทอง หลวงพ่อเต๋ หลวงพ่อแย้ม ฯลฯ

เรียกว่าถึงจะมีเมตาเวิร์สแต่ความเชื่อในมูเตลูก็ไม่เคยกระแสตก เพราะแม้แต่ Nicole Mann นักบินอวกาศหญิงเชื้อสายอินเดียนแดง ก็ยังพกเครื่องรางของขลังที่แม่ให้ไว้ตั้งแต่เด็กขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เพราะเชื่อว่าเครื่องรางจะช่วยดักจับ ความฝันและไม่ทำให้เธอฝันร้าย และยังช่วยปกป้องอันตรายจากการเดินทางในอวกาศด้วย.