30 ปีที่แล้ว มีผู้บริจาคตัวอ่อนมนุษย์ แล้วถูกแช่แข็งไว้ ในวันนี้มีคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่สหรัฐอเมริกาได้เติมเต็มชีวิตคู่ เพราะตัวอ่อนนั้น ได้คลอดออกมาเป็นทารกแฝดที่เกิดจากตัวอ่อนแช่แข็งนานที่สุดในโลก

ศูนย์บริจาคตัวอ่อนแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา (National Embryo Donation Center) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาการการเกิดของมนุษย์ล่าสุดว่า มีทารกฝาแฝด 2 คนในครอบครัว ริดจ์เวย์ ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นทารกแฝดที่เกิดจากตัวอ่อนที่แช่แข็งมานานถึง 30 ปี ทำลายสถิติเดิม ที่เคยมีทารกของครอบครัวกิบสัน เกิดเมื่อ ปี ค.ศ. 2020 หรือ ปี พ.ศ. 2563 จากตัวอ่อนแช่แข็งนาน 27 ปี

ย้อนไปดูสถิติเดิม 27 ปี กันก่อน คือเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทารกน้อย ชื่อ มอลลี กิบสัน ได้คลอดออกมา จากคู่สามีภรรยา กิบสัน สหรัฐอเมริกา ที่รับบริจาคตัวอ่อนที่เก็บไว้มานาน 27 ปี หรือตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1992 หรือ ปี พ.ศ. 2535

ส่วนสถิติ 30 ปีล่าสุดนี้ คือในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทารกแฝดที่คลอดออกมา ชื่อว่า ลีเดีย และทิโมธี ก็เกิดจากพ่อแม่ครอบครัว ริดจ์เวย์ ที่รับบริจาคตัวอ่อน ที่เก็บจากคนอื่นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2535 นับรวมเวลาเท่ากับเป็นตัวอ่อนที่แช่แข็งมานานถึง 30 ปีเลยทีเดียว

ส่วนการเลือกตัวอ่อนของครอบครัวริดจ์เวย์นั้น มีรายงานข่าวระบุว่า ทั้งคู่ไม่ได้เลือกจากระยะเวลาการเก็บที่นานถึง 30 ปี แต่เลือกจากฐานข้อมูลที่ระบุไว้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ อายุ ความสูง น้ำหนัก ยีน และประวัติด้านสุขภาพ รวมไปถึงการศึกษา อาชีพ หนังเพลง ที่ชอบ

ถือเป็นความหวังของผู้ที่มีลูกยากในการใช้ตัวอ่อนมนุษย์ จากกลุ่มคนที่ใช้วิธีการทางการแพทย์ ที่ช่วยในการทำเด็กหลอดแก้ว ในการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ แต่ไม่ได้ใช้ตัวอ่อนนั้น แล้วเลือกที่จะบริจาคให้คนอื่นที่มีลูกยากเช่นกันแทน โดยทางเทคโนโลยีนั้นตัวอ่อนดังกล่าวถูกแช่แข็งในความเย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 200 องศา

...

ทั้งนี้ National Embryo Donation Center เป็นองค์กรเอกชนของกลุ่มคริสเตียน ที่เป็นศูนย์เก็บตัวอ่อนของมนุษย์ เพื่อส่งต่อให้ครอบครัวที่มีบุตรยาก โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่มารับบริจาคตัวอ่อนต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี โดยที่ผ่านมามีครอบครัวที่มีบุตรจากการรับบริจาคตัวอ่อนของศูนย์แล้ว 1,260 คน

ข้อมูลอ้างอิง : CNN และ BBC