เบาหวานจัดเป็นผู้ร้ายตัวสำคัญใครเป็นแล้วก่อให้เกิดผลร้าย ทั่วร่างกาย ทุกอวัยวะ และถ้าคุมไม่ดี ทั้งตาบอด ไตวาย เส้นเลือดตีบตันทั้งหัวใจสมอง จนกระทั่งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่นๆ ขาดำ เท้าดำ มือเท้าชา จากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงผิวหนังและเส้นประสาทได้พอเพียง
และเบาหวานยังเกิดภาวะวิกฤติ เนื่องจากกลายเป็นคนเปราะบางเกิดมีสภาวะทำให้เครียด เช่น จากการติดเชื้อ โดยการที่เกิดมีน้ำตาลสูงเป็นหลายร้อย (hyperosmolar) โดยที่จะมีเลือดเป็นกรดและมีคีโตน (diabetic ketoacidosis) อยู่ด้วย หรือไม่ก็ตาม ทำให้หมดสติ ช็อก ตาย ถ้าช่วยไม่ทัน
และอีกทั้งเบาหวานยังเป็นโรคกรรมพันธุ์ ถ่ายให้ลูกหลานได้ถ้วนหน้า
ที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือเบาหวานทำให้เป็นสมองเสื่อมได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้นกว่าปกติ
จากรายงานต่างๆที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดสมองเสื่อมทุกชนิด เพิ่มขึ้นได้ถึง 73% และความเสี่ยงที่จะเกิดสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ สูงขึ้น 56% และสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจากเส้นเลือดตีบตันทั่วสมอง (vascular dementia) เพิ่มขึ้น 127%
...
ยาที่ใช้รักษาเบาหวาน โดยที่ต้องควบคุมความประพฤติ ปฏิบัติตัวให้ดี ในการกินอาหารร่วมไปด้วย มีมากมายหลายหลากชนิดที่ออกมาในระยะหลังต่างก็เริ่มมีราคาแพงมหาศาล และยังต้องควบใช้หลายตัวด้วยกัน นัยว่า ช่วยกันต่อสู้หลายกลไก โดยไม่เกิดความเสี่ยงมากที่ทำให้น้ำตาลตกต่ำจนหมดสติไม่รู้ตัว และทำให้ระดับน้ำตาลลดลงรวมทั้งค่าน้ำตาลสะสมดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้ชัดเจน
แม้จะเริ่มมีรายงานในวารสาร Neurology ปี 2021 เกี่ยวกับการใช้ยา DPP-4 inhibitors (กลุ่ม gliptins) ในคนที่เป็นเบาหวาน แล้วทำการตรวจด้วย PET scan โดยพบ มีการสะสมของโปรตีนอมิลอยด์ (amyloid) น้อยกว่า และแต้มคะแนนการทดสอบ MMSE ลดลงหรือเลวลง 0.87 แต้ม เทียบกับ 1.65 แต้มต่อปีในกลุ่มไม่ใช้ยานี้ แต่ผลสรุปอย่างไรก็ตามยังไม่ชัดเจนนัก ทั้งนี้ คะแนนที่เห็นนั้นใครที่ทำการตรวจหรือรับการตรวจด้วยแบบทดสอบนี้ดูจะไม่ค่อยมีความหมายเท่าใดนัก
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นที่มาให้มีการเสาะหา ยาเบาหวาน โดยเฉพาะที่เคยใช้กันมานาน รับทราบสรรพคุณ รวมทั้งผลข้างเคียงและไม่แพง ว่าจะมีผลในการลดสมองเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานหรือไม่
ทั้งนี้ โดยที่มีกลไกขัดขวางภาวะสมองเสื่อมด้วย โดยยาในกลุ่มแรกคือ glitazones หรือ thiazolidinediones ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ peroxisome proliferator activated–receptor gamma (PPAR–gamma) ดังนั้น จะช่วยบรรเทาภาวะดื้ออินซูลิน
ยาในกลุ่มนี้ rosiglitazone (Avandia) ที่ขึ้นทะเบียน จาก อย. สหรัฐฯในปี 1999 และ European Medical Agency (EMA) ในปี 2000 แต่ EMA สั่งระงับในปี 2010 จากผลข้างเคียงที่มีน้ำคั่ง หัวใจวาย และ อย. สหรัฐฯในปี 2011 ระบุให้ใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลควบคุมไม่ได้ ด้วยยาอื่นๆ และในขณะเดียวกันไม่ต้องการใช้ยาอื่นๆที่มีในกลุ่มนี้
ทั้งนี้ ยาในกลุ่มนี้ที่ยังคงใช้จนกระทั่งถึงปัจจุบันคือ pioglitazone ซึ่งยังมีการใช้แพร่หลาย โดยยาตัวนี้เป็นที่จับตาและเป็นที่สนใจมากมาย โดยมีรายงานถึงประโยชน์ในการลดความเสี่ยงสมองเสื่อมในเบาหวาน เช่น รายงานในปี 2014 พบหลักฐานในหนูทดลองว่าช่วยขจัดการสะสมของโปรตีน เบตา อมิลอยด์ ลดการอักเสบในสมองและปรับ beta secretase-1 promotor activity และจากการติดตามการใช้ยานี้กับประชาชนในประเทศเยอรมนีมีแนวโน้มว่ายานี้อาจจะมีผลช่วยลดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้
ยาเบาหวานตัวที่สองซึ่งเป็นยาโบราณแท้คือ metformin มีรายงานในปี 2020 ในวารสาร Diabetes Care พบว่า สามารถลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมลงได้ แม้ประชากรศึกษาจะมีไม่มากนักก็ตาม
รายงานล่าสุดเป็นรายงานขนาดใหญ่โตจาก university of California Los Angeles และ university of Arizona and Phoenix VA health care system ในวารสาร British Medical Journal (BMJ) Open Diabetes Research and Care วันที่ 11 ตุลาคม 2022
ความสำคัญของรายงานนี้อยู่ที่เป็นการติดตามสถานการณ์ของคนเป็นเบาหวานในสภาพความเป็นจริง real world data จากข้อมูลในเวชระเบียน และมีการติดตามคนป่วยเหล่านี้ ซึ่งเป็นทหารนอกประจำการและใช้ข้อมูลในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ของ veterans affairs health care system โดยการศึกษา ติดตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2001 ถึง 31 ธันวาคมปี 2017 อายุขณะที่เริ่มทำการติดตามนั้นอยู่ที่ 60 ปี หรือสูงกว่าและทุกคนไม่มีสภาวะของสมองเสื่อม โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาเบาหวานชนิด sulfonylurea (SU) อย่างเดียว กลุ่มที่ได้ metformin (MET) อย่างเดียวและกลุ่มที่ได้ thiazolidinedione (TZD) อย่างเดียว
...
ประชากรจำนวนทั้งหมด 559,106 คนโดยมีอายุเฉลี่ยที่ 65.7 ปี (SD8.7) พบอัตราของการเกิดสมองเสื่อมทุกประเภทอยู่ที่ 8.2 รายต่อ person-years หลังจากที่ให้การรักษาอย่างน้อยหนึ่งปี
กลุ่ม TZD จะลดโอกาสของสมองเสื่อมทุกประเภทลงได้ 22% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม MET และลดลงได้ 11% ในกลุ่มที่ได้ทั้ง MET และ TZD แต่ในกลุ่มที่ได้ SU อย่างเดียวกลับมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม MET
คณะผู้วิจัยได้สรุปและชี้ให้เห็นว่า คนป่วยเบาหวานที่ได้ SU ตั้งแต่เริ่มต้นและถ้าคุมไม่ได้และใช้ร่วมกับ MET หรือ TZD น่าจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดสมองเสื่อมลงได้จาก SU และต่อจากนี้คงต้องคำนึงว่าการใช้ยาโบราณเหล่านี้ตั้งแต่ต้นคือ TZD และ MET น่าจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าโดยเป็น repurpose drug
อย่างไรก็ตาม การศึกษายังมีข้อจำกัดในเรื่องรายละเอียดของโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าในเวชระเบียนจะมีข้อมูลต่างๆค่อนข้างสมบูรณ์ก็ตาม นอกจากนั้น การวินิจฉัยสมองเสื่อมยึดถือตามคำวินิจฉัยในเวชระเบียน ข้อมูลการแพทย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น
แต่ถึงแม้จะมีข้อจำกัด แต่ผลที่ได้ดูคล้องจองกับกลไกของยาที่จะพึงมี ในการขัดขวางการก่อตัว ก่อโรคของสมองเสื่อมและการที่สามารถลดการอักเสบ รวมทั้งต่อต้านการดื้ออินซูลินยังทำให้สมองมีการปรับสภาพ เข้าสู่สมดุลได้ง่ายขึ้น
พวกเราคงต้องใส่ใจต่อสุขภาพ อาหารการกินและออกกำลัง ตั้งแต่ยังเด็กหรือเป็นวัยรุ่น เพราะจะสามารถป้องกันการเกิดโรคต่างๆได้ชะงัด ไม่ใช่เมื่อเป็นไปแล้ว โรคดำเนินไปจนกระทั่งเห็นชัดเจน มีอวัยวะเสียหายค่อยมารักษา.
หมอดื้อ