หลอกให้โอนเงิน ด้วยกลลวงสารพัดวิธีจากมิจฉาชีพนั้น ไม่ได้มาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพียงอย่างเดียว มุกทวงหนี้ ทวงภาษี ทวงค่าพัสดุ หลอกให้รัก หลอกให้โอน มีผู้หลงเชื่อไปแล้ว ตกเป็นเหยื่อ สูญเงินกันนับไม่ถ้วน ใครที่โดนแล้วหรือยังไม่ได้โอน ควรศึกษาวิธีหลอกเพื่อป้องกันตัวเอง และวิธีการเอาเงินคืน บอกต่อคนใกล้ตัว

กลลวงไซเบอร์ หลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีคนอื่น

เราไม่ควรโพสต์ข้อมูลส่วนตัวทิ้งไว้ในอินเทอร์เน็ตอันเป็นที่สาธารณะ เมื่อแก๊งมิจฉาชีพ รู้เลขบัญชี รู้เลขบัตรประชาชน สามารถใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงเราได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเปิดร้านออนไลน์ มีเลขบัญชีให้ลูกค้าโอน มีเบอร์โทรศัพท์ให้ลูกค้าติดต่อกลับ กลับกลายเป็นช่องทางง่ายๆ ที่แก๊งมิจฉาชีพหาวิธีมาหลอกเอาเงิน

ธุรกรรมออนไลน์ในทุกวันนี้ทำง่ายมาก มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว อยู่ที่ไหนก็รับเงิน โอนเงินได้ เคยมีคนโดนแก๊งมิจฉาชีพ สวมรอยหลอกคนอื่นให้โอนเงินเข้าบัญชีอีกคน แล้วโทรไปทวงแกล้งขอเงินคืน โดยให้โอนเข้าบัญชีมิจฉาชีพแทน สุดท้ายคนที่ต้องมานั่งโดนฟ้องร้อง ก็คือโดนหลอกให้โอนเงินที่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วมีเงินโอนเข้ามาผ่านนั่นเอง

หลอกให้โอนเงินเป็นคดีอะไร

...

เมื่อเกิดปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เรามักเข้าใจว่าเป็นคดีแพ่ง แต่การหลอกโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นละเอียดอ่อน หากเป็นการฉ้อโกงก็ตรงกับประมวลกฎหมายอาญา แล้วลักษณะการโกงหลอกให้โอนเงิน ก็ตีความได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าโดนมาแบบไหน ถ้าอยากชนะคดีต้องมีทนายเก่งๆ รู้ทางมิจฉาชีพ มาเป็นที่ปรึกษา

การฉ้อโกงมีลักษณะตั้งแต่หลอกให้โอนเงินเล็กๆ น้อยๆ หรือหลอกให้กลุ่มคนอื่นๆ ไปประกอบการบางอย่าง เพื่อทำประโยชน์ให้โดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือปกปิดความจริง แสดงข้อความเป็นเท็จเพื่อหลอกเอาเงินจากเหยื่อ ภาษากฎหมายใช้คำว่า “อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวง” ซึ่งอาจเป็นทั้งเด็ก หรือผู้ที่มีความอ่อนแอแห่งจิต โทษมีตั้งแต่ปรับเล็กๆ น้อยๆ ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป

หลอกให้โอนเงินต้องทำยังไงบ้าง

อย่างแรกที่ต้องทำ หลังจากรู้ตัวว่าโดนหลอกให้โอนเงิน หรือ กำลังเอะใจว่ากำลังจะโดนหลอกหรือเปล่า ให้เช็กรายชื่อคนโกง โดยมีเว็บต่างๆ ที่เอกชนทำขึ้นเพื่อตรวจสอบรายชื่อคนที่เคยมีประวัติโกงเงิน ไม่ส่งของ หรือมีการตุกติกแปลกๆ

รายชื่อห้ามโอนเงิน 2565 เช็กได้ที่ไหนบ้าง

ช่องทางการเช็กรายชื่อมิจฉาชีพ 2565 ทำได้ด้วยวิธีเข้าเว็บไซต์เช็กรายชื่อคนโกง เช่น blacklistseller.com หรือ whoscheat.com

Blacklistseller.com เป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการเกี่ยวกับการเช็กรายชื่อคนโกง คนที่อยากเข้าไปดูไม่ต้องสมัครสมาชิก แต่หากอยากไปโพสต์เพื่อแจ้งรายชื่อคนโกงก็ต้องเก็บประวัติ Log In วิธีการตรวจสอบเช็กรายชื่อคนโกงด้วย Blacklistseller.com เพียงแค่กรอกข้อมูลสั้นๆ ได้แก่ เลขบัญชี, ชื่อ หรือ นามสกุล ก็จะมีรายละเอียดวิธีการโกงของคนนั้นขึ้นมา แต่หากบัญชีปลอดภัย ไม่มีชื่ออยู่บนเว็บ ก็พอจะไว้ใจได้ระดับหนึ่ง

Whoscheat.com เป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่ให้คุณเช็กรายชื่อคนโกงได้จาก เลขบัญชีธนาคาร, เบอร์โทร, เลขบัตรประจำตัวประชาชน และชื่อนามสกุล โดยกรอกข้อมูลแล้วหากไม่พบชื่อมิจฉาชีพ ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย ต้องพิจารณาข้อมูลอื่นประกอบก่อนตัดสินใจโอน

ทั้งสองเว็บเป็นการตรวจสอบรายชื่อห้ามโอนเงินที่เป็นบัญชีคนไทยเท่านั้น หากเป็นบัญชีต่างประเทศจะตรวจสอบไม่ได้

โดนหลอกให้โอนเงิน แจ้งความได้ไหม

จัดเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ด้านการหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน แจ้งความออนไลน์ได้ อายุความของคดีหลอกโอนเงิน มีอายุความ 3 เดือน เช่นเดียวกับการถูกหลอกซื้อของออนไลน์โอนเงินแล้วไม่ได้ของ การแจ้งความทำได้ 2 ช่องทาง คือ แจ้งความออนไลน์ หรือไปยัง สน. ท้องถิ่นที่เกิดเหตุกับคุณ

การแจ้งความกับ สน. ท้องถิ่น ควรเตรียมเอกสารให้ครบ ดังนี้

1. แคปหน้าจอหลักฐานการพูดคุยกับคนร้าย หากไม่มีก็แคปหน้าจอสายโทรเข้าออก ที่มีเบอร์คนร้าย และเขียนบรรยายลักษณะที่ถูกหลอก
2. พิมพ์เลขบัญชี เบอร์โทร และข้อมูลของคนร้าย หรือเอกสารที่มีเงินเข้าออก
3. ถ่ายเอกสารสมุดบัญชีธนาคารที่ถูกหลอกให้โอนออก
4. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ถูกหลอกให้โอนเงิน

การแจ้งความออนไลน์กรณีถูกหลอกให้โอนเงิน เข้าไปกรอกข้อมูลได้ที่ www.thaipoliceonline.com หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริหารการรับแจ้งความ (Admin) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดต่อกลับมาภายใน 3 ชั่วโมง และอาจส่งเรื่องต่อให้เจ้าหน้าที่ท้องที่มาสืบสวนเพิ่มเติมตามเวลาที่นัดหมาย

การแจ้งความ โดนหลอกโอนเงิน

แจ้งความดำเนินคดีถึงที่สุด ไม่ใช่ลงบันทึกประจำวัน เพื่อความรวดเร็วให้แจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ใช้วิธี “แจ้งความเพื่ออายัดบัญชี” ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน

...

กลลวงหลอกโอนเงิน

ขบวนการหลอกโอนเงินจากมิจฉาชีพมีหลายรูปแบบ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง ใครที่ไม่ทันระวังตัวก็จะตกเป็นเหยื่อของคนร้าย รูปแบบการหลอก มีดังนี้

1. จ้างให้เปิดบัญชี เพื่อเอาไปทำธุรกรรมหลอกลวงคนอื่นต่อในชื่อเรา
2. โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) หลอกให้รัก หลอกให้โอนเงิน
3. โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบ จะเอาหลักฐานของเรา พวกบัตรประชาชน ไปเปิดบัญชี หรือหลอกให้โอนเงินเป็นค่ามัดจำ ค่าดอกเบี้ย และค่าดำเนินการ
4. แอบอ้างเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกให้โอนเงินให้

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ให้คำแนะนำสิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อไว้ว่า

หากถูกแอบอ้างใช้บัญชีหรืออีเมล ควรติดต่อผู้ให้บริการเพื่อแจ้งเปลี่ยนรหัสผ่าน แต่เมื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้ว ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและถอนเงิน หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐาน แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป และแจ้งต่อสถาบันการเงินให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อขอเงินคืน

...

สายด่วนที่ช่วยเหลือภัยหลอกโอนเงิน

  • ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน 1213 สายด่วนขอรับคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการเงิน
  • กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 08-1866-3000 (24 ชั่วโมง)

การถูกหลอกโอนเงินเกิดขึ้นซ้ำซาก และโอกาสได้เงินคืนก็ยาก อายุความของคดีนี้ก็ไม่นาน ทำให้เป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพทำเป็นอาชีพ

ผู้เขียน สีวิกา ฉายาวรเดช