ข้อมูลทั้งหมดนี้ มาจากการสัมภาษณ์ Dr.JoAnn Manson ในวันที่ 12 ตุลาคม 2022 ใน Medscape Neurology
ท่านเป็นศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์ ที่โรงเรียนแพทย์ Harvard and Brigham and Women’s Hospital และได้แถลงอธิบายผลของการวิจัยล่าสุด โดยเฉพาะที่เป็นการศึกษาทางคลินิกในแบบ randomized controlled trials ซึ่งเป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในเรื่องของการเสริมวิตามินดี และสรุปข้อที่ควรประพฤติ ปฏิบัติ สำหรับในการแนะนำและรักษาทางคลินิกและสำหรับประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ คุณหมอเป็นผู้อำนวยการของโครงการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Vitamin D and Omega-3 trial (VITAL) โดยได้ให้ข้อมูลดังต่อไปนี้ โดยชี้ว่าเป็นเวลานานมากแล้วที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าวิตามินดีนั้น เปรียบเสมือนเป็นยาหรือกระสุนวิเศษ ที่สามารถที่จะรักษาโรคหรือภาวะทางสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรังได้ ตั้งแต่มะเร็ง โรคทางหัวใจและเส้นเลือด เบาหวาน กระดูกหัก สมองเสื่อม ไปจนกระทั่งถึงภาวะหดหู่ซึมเศร้า
...
ทั้งนี้ข้อมูลที่นำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานนั้น นำมาจากการศึกษาและสังเกต (observational study) จากการที่คนจะมีความเสี่ยงต่อโรคหรือภาวะดังกล่าวลดลง ถ้ามีระดับของ 25-hydroxy vitamin D สูง
โดยแท้จริงแล้ว ข้อมูลทางระบาดวิทยานั้น แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน ที่การขาดวิตามินดีจะทำให้เป็นโรคง่าย หรือการที่มีระดับวิตามินดีสูง หรือการเสริมเพิ่มขึ้นจะทำให้เป็นการต้านทานโรคหรือหายจากโรค ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูง อาจจะเป็นเพราะว่ากินอาหารสุขภาพเป็นหลัก หรืออาจจะอยู่นอกบ้านตากแดดเป็นประจำ และอีกทั้งยังมีการออกกำลังเป็นประจำ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคลดลง
เมื่อมีการศึกษาวิจัยและทดลองอย่างเป็นระบบมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับวิตามินดี ปรากฏว่าข้อมูลที่เชื่อกันมาแต่แรกกลับเป็นว่าวิตามินดีนั้น ไม่ได้ผลในภาวะของโรคหัวใจเส้นเลือด โรคมะเร็ง เบาหวาน สมองเสื่อม ภาวะหดหู่ซึมเศร้า และภาวะสุขภาพต่างๆ และที่สำคัญคือรวมถึงเรื่องกระดูกหัก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลปัจจุบันเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า วิตามินดีนั้นไม่สำคัญต่อสุขภาพ เพียงแต่ว่ามนุษย์ต้องการ วิตามินดีในปริมาณน้อยถึงปานกลางเท่านั้น โดยที่วิตามินดี จะถูกควบคุมอัตโนมัติจากระบบในร่างกายอยู่แล้ว ดังนั้นปริมาณที่ไม่มากนี้ ก็เพียงพอแล้วต่อความต้องการ
และเป็นที่มา ที่สถาบันแห่งชาติได้ให้คำแนะนำไปในทิศทางเดียวกันทั้งสิ้น อาทิ National Academy of Medicine. US preventive services task force และอีกจากหลายองค์กรทางวิชาชีพ ทั้งนี้ โดยที่ข้อแนะนำที่สำคัญอีกประการก็คือ การที่ต้องตรวจคัดกรองทุกราย ถึงการขาดวิตามินดีนั้น รวมทั้งถึงการให้วิตามินดีเสริมแบบเหวี่ยงแห เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาเป็นข้อบ่งชี้ในการปฏิบัติ
ใน randomized trials ต่างๆของวิตามินดี รวมกระทั่งถึงการศึกษาในโครงการ VITAL ไม่ได้แสดงว่าวิตามินดีมีผลในการลดโรคหรือภาวะบกพร่องทางสุขภาพต่างๆ
แต่มีอยู่สองสภาวะที่การให้วิตามินดีเสริมนั้นอาจมีประโยชน์หรือมีสัญญาณ (signal) นั่นก็คือ ในโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคสะเก็ดเงิน พบว่าวิตามินดีนั้นทำให้ลดความเสี่ยงได้ถึง 22% และลดการแพร่กระจายอย่างรุนแรงในสภาวะที่เป็นมะเร็งไปแล้วได้ 17%
...
ทั้งนี้ในเรื่องของมะเร็ง ใช้วิตามินดีในขนาด 400 ถึง 800 หน่วยต่อวัน หรือ 2,000 หน่วยต่อวัน ในโครงการ VITAL
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปริมาณของวิตามินดีได้ขนาดน้อยก็เป็นที่เพียงพอแล้ว และในประชาชนที่สุขภาพดีอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจวัดหาระดับของวิตามินดีหรือต้องใช้วิตามินเสริม
ในส่วนของวิตามินดีที่ช่วยลดโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันแปรปรวน โดยอาจจะมีบทบาทในการลดการอักเสบนั้น มีคำถามต่อกันมาว่า วิตามินดีจะมีประโยชน์หรือไม่ในการลดความรุนแรงเมื่อติดโควิด จนกระทั่งถึงต้องเข้าโรงพยาบาล และสามารถที่จะลดลองโควิดได้หรือไม่ ขณะนี้มีการศึกษาอีกโครงการเรียกว่า VIVID (vitamin D for Covid trial)
โดยใช้วิตามินดีขนาดสูง คือมากกว่า 3,000 หน่วยต่อวัน และน่าจะได้ผลการศึกษาภายในสิ้นปีนี้ (2022) หรือต้นปีหน้า
...
โดยในช่วงที่มีการระบาดของโควิดอย่างรุนแรงนั้น ผลของการใช้วิตามินดียังค่อนข้างกำกวมและสรุปผลไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ประพฤติ ปฏิบัติได้ ที่จะใช้วิตามินดีในขนาด 1,000 ถึง 2,000 หน่วยต่อวัน อย่างน้อยก็ช่วยให้อุ่นใจขึ้น และนอกจากนั้น ปริมาณขนาดดังกล่าวยังปลอดภัยซึ่งพิสูจน์แล้วจากโครงการ VITAL ว่าขนาด 2,000 หน่วย ไม่มีอันตรายจากการติดตามนานกว่า 5.3 ปี
กล่าวโดยสรุป วิตามินดีไม่ควรต้องใช้เสริม ยกเว้นแต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริงๆ ซึ่งได้แก่ คนสูงอายุที่อยู่ในสถานพักฟื้นคนชราซึ่งอาหารการกินไม่พอเพียง และไม่สามารถออกไปนอกบ้านถูกแสงแดดได้ และในกลุ่มคนที่มีภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้มีการดูดซึมผิดปกติ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง Crohn’s disease. Celiac disease คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะ และในคนที่มีโรคกระดูกพรุนและต้องใช้ยาสำหรับโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว ในกลุ่มคนและผู้ป่วยเหล่านี้ การให้แคลเซียมและวิตามินดีจะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสมเหตุสมผล โดยไม่ได้ให้กับประชาชนทั่วไปทั้งหมด
ในประชาชนทั่วไปนั้น สิ่งที่ต้องส่งเสริมอย่างยิ่งคือ อาหารสุขภาพและแหล่งของวิตามินดี ยังรวมกระทั่งถึงปลามันๆและในเห็ดต่างๆ และจากนี้เป็นต้นไป น่าจะมีการติดฉลากที่อาหาร ที่บอกว่ามีปริมาณวิตามินดีเท่าไร เพื่อที่จะได้วิตามินดีจากอาหารแทน และต้องปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอในการอยู่นอกบ้าน ตากแดด ออกกำลัง แล้วต้องจำขึ้นใจให้ได้ว่าการใช้เสริมต่างๆนั้น จะไม่มีทางทดแทนอาหารสุขภาพและสไตล์การดำเนินชีวิตและการออกกำลังอย่างผาสุกไปได้.
หมอดื้อ