“กระทงสาย” ประเพณีที่อยู่คู่กับเมืองตากมานานกว่า 90 ปี กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 5-8 พ.ย.นี้ เป็นอีกครั้งของการสืบสานประเพณีอันยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อสายน้ำแม่ปิง ที่ไหลผ่านจังหวัดตาก
ผู้เฒ่า ผู้แก่ เรียกการลอยกระทงสายว่า “การลอยผ้าป่าน้ำ” ซึ่งหมายถึงการทำกระทงขนาดใหญ่ประดับตกแต่งสวยงาม ภายในบรรจุด้วยเครื่องผ้าป่า แล้วแห่ไปริมน้ำปิง หลังจากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์มารับองค์ผ้าป่าน้ำ หลังจากนั้น จึงนำกระทงไปลอยกลางแม่น้ำปิง
ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก บอกว่า ประเพณีลอยกระทงสายไหลของจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่นำเอาพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผนวกเข้ากับงานศิลปวัฒนธรรม มาหล่อหลอมรวมกันจนเป็นรูปธรรมที่โดดเด่น ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
...
“การลอยกระทงสายของจังหวัดตาก จะแตกต่างจากจังหวัดอื่นเพราะส่วนประกอบของกระทงใช้กะลามะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับลำน้ำปิงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดตาก จะมี สันทรายใต้น้ำทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงาม เป็นธรรมชาติ เมื่อนำกระทงลงลอย กระทงจะไหลไปตามร่องน้ำทำให้ดูเป็นสายยาวต่อเนื่อง มีแสงไฟในกะลาส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ ถือเป็นประเพณีที่มีรูปแบบโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และภาคภูมิใจของชาวจังหวัดตาก”
ผอ.ททท.ตาก ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง เป็นงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ รวมทั้งชาวต่างชาติ นิยมมาร่วมงานประเพณีลอยกระทงสายทุกๆปี ซึ่งกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ในแต่ละสายจะประกอบด้วย กระทงนำ เป็นกระทงขนาดใหญ่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยดอกไม้ใบตองสด เย็บเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วจึงนำมาประกอบเป็นรูปทรง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ภายในมี ผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมาก พลู ขนม สตางค์ ธูป เทียน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ประยุกต์มาจากแพผ้าป่าน้ำในสมัยโบราณ ส่วนรอบกระทงจะประดับด้วยไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่างสวยงาม
“จากกระทงนำ จะต่อด้วยขบวนกระทงสาย ซึ่งเป็นกระทงกะลามะพร้าวจำนวน 1,000 ใบ ขัดถูอย่างสะอาดสะอ้าน ตกแต่งลวดลายงดงาม ภายในกะลาวางด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้ง ซึ่งนำมาจากเทียนจำพรรษาที่ภิกษุสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดระยะเวลาสามเดือน หลังจากออกพรรษาจะนำเทียนเหล่านั้นมาหล่อใส่กะลาสำหรับเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟก่อนที่จะปล่อยลอย”
ธมลวรรณ อธิบาย พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อมีกระทงนำแล้ว ก็ต้องมีกระทงปิดท้าย ที่เรียกว่ากระทงตาม ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกระทงนำ แต่มีขนาดเล็กกว่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตองดอกไม้สดสำหรับลอยปิดท้ายลอยตามกระทงกะลาทั้ง 1,000 ใบ พร้อมทั้งมีสัญลักษณ์แสดงให้ทราบว่าสิ้นสุดการลอยของกระทงนั้นแล้ว
...
ผอ.ททท.ตาก ยังบอกอีกว่า ความสนุกของประเพณีลอยกระทงสายอีกอย่างหนึ่ง คือ การเชียร์ โดยในระหว่างที่ลอยกระทงสายอยู่นั้น จะมีกองเชียร์ร่วมร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน เป็นการให้กำลังใจแก่สมาชิกที่ทำการลอย และร่วมแต่งกายแสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย เพลงที่นำร้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับประเพณีไทยหรือวิถีชีวิตของชุมชนดนตรีที่นำมาบรรเลงใช้เครื่อง ดนตรีไทย เป็นสีสันและความสนุกสนาน
...
สำหรับปีนี้ จังหวัดตาก กำหนดจัดงานลอยกระทงสาย ในวันที่ 5-8 พ.ย. ณ ริม สายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก ซึ่ง ผอ.ททท.ตาก เชิญชวนให้ไปเที่ยว ไปสัมผัสความอลังการของประเพณีอันยิ่งใหญ่
และถ้ามีเวลา เธอบอกว่า อาจแวะไปเที่ยวสถานที่สวยงาม และสำคัญในจังหวัดตากได้อีก ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติเลื่องชื่อ อย่าง น้ำตกทีลอซู กราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระนอนตาหวาน พระมหามุณีจำลองจากมัณฑะเลย์ เทพทันใจ ที่วัดไทยวัฒนาราม หลวงพ่อทันใจ วัดไทยสามัคคี ท้าวเวสสุวรรณโณ วัดศรีพรเพ็ญมาตยาราม รวมทั้งชิมอาหารพื้นเมืองรสเลิศของเมืองตาก ทั้ง เมี่ยงเต้าเจี้ยว ยำข้าวเกรียบงาดำ แกงมะแฮะ ถั่วมะแฮะ ก็อร่อยและมีความสุขไปอีกแบบ.