จากกรณีข่าวทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง อาจทำให้หลายคนคิดว่าค่าปรับทำร้ายร่างกายแค่ 500 บาท แต่ความจริงแล้ว "ค่าปรับทำร้ายร่างกาย 2565" มีการอัปเดตอย่างไร และมากกว่าแค่เสียค่าปรับหรือไม่

สำหรับ "ค่าปรับทำร้ายร่างกาย 2565" นั้น โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง เคยเผยข้อมูลบนเฟซบุ๊กของตนเองว่า ที่ผ่านมากฎหมายทำร้ายร่างกาย เช่น ตบ ต่อย จะมีค่าปรับทำร้ายร่างกายอยู่ที่ 500 บาท หากตบ หรือเตะซ้ำ จ่ายค่าปรับ 1,000 บาท แต่ปัจจุบันได้ขึ้นค่าปรับทำร้ายร่างกายเป็น ตบ ต่อย 1 ครั้ง มีค่าปรับสูงสุด 10,000 บาท หากตบ หรือเตะซ้ำอีกที ปรับสูงสุดถึง 20,000 บาท

นอกจากนี้ ทางกฎหมายในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย ยังมีรายละเอียดของการรับโทษและค่าปรับที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 ไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 295: ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 296: ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 297: ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท โดยอันตรายสาหัสหมายถึง

  • ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
  • เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
  • เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
  • หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
  • แท้งลูก
  • จิตพิการอย่างติดตัว
  • ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
  • ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

...

มาตรา 298: ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท

มาตรา 299: ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกัน ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 300: ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่า การทำร้ายร่างกายไม่ได้มีแค่เสียค่าปรับเพียง 500 บาทแล้วเรื่องจบเท่านั้น แต่กฎหมายในปัจจุบันได้มีการปรับโทษให้แรงขึ้น และมีค่าปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การทำร้ายร่างกายจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทางที่ดีควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาปัญหาและหาทางออกร่วมกันด้วยความเข้าใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดของทุกฝ่าย

อ้างอิงข้อมูล: สถาบันนิติธรรมาลัย