ประวัติ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แนะนำให้ประชาชนใช้ฟังแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมในกรณีที่ระบบการสื่อสารอื่นๆ ล่ม มีที่มาจากไหน
ประวัติของวิทยุทรานซิสเตอร์
ก่อนจะเป็นที่รู้จักในชื่อ “วิทยุทรานซิสเตอร์” นั้น ความจริงแล้วทรานซิสเตอร์เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เปรียบเสมือนวาล์วควบคุมกระแสไฟฟ้า ที่ควบคุมทั้งกระแสไฟเข้าและออก เปิดและปิด จนไปถึงขยายกระแสไฟฟ้า เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกๆ เทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงสวิตช์ไฟในบ้าน
ส่วนสาเหตุที่เรามักจะเข้าใจและเรียกกันว่าเป็น วิทยุทรานซิสเตอร์ ก็เพราะวิทยุในอดีตมักจะมีขนาดใหญ่ และยังไม่มีวงจรทรานซิสเตอร์อยู่ภายใน อีกทั้งยังต้องใช้กำลังไฟจำนวนมากในการทำงาน จึงทำให้การฟังวิทยุไม่เป็นที่นิยมมากนัก ต่อมาได้มีการพัฒนาให้นำวงจรทรานซิสเตอร์มาใช้กับวิทยุได้สำเร็จในปี 2497 ซึ่งทำให้วิทยุมีขนาดเล็กลง และพกพาสะดวกไปได้ทุกที่ พร้อมตั้งชื่อรุ่นว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกสั้นๆ ว่า ทรานซิสเตอร์ ด้วยความที่มีขนาดเล็กและพกพาง่าย จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการฟังเพลงและวิทยุเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในช่วงยุคปี 60-70
ต่อมาในยุค 80 ความนิยมในการฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ได้เริ่มถูกแทนที่ด้วยวิทยุขนาดเล็กที่พกพาได้สะดวกอย่าง Sony Walkman จากนั้นพฤติกรรมและรูปแบบการเสพสื่อ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังเพลงได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจนมาสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบัน จึงทำให้ วิทยุทรานซิสเตอร์ ไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนยุคใหม่แล้วนั่นเอง
ประโยชน์ของวิทยุทรานซิสเตอร์ในยามภัยพิบัติ
...
แม้ว่า วิทยุทรานซิสเตอร์ จะเป็นอุปกรณ์การฟังเพลงที่ดูตกยุคไม่ทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันกลับมีประโยชน์มากในยามที่ต้องประสบกับภัยพิบัติที่ระบบการสื่อสารล่มและไฟฟ้าถูกตัดขาด เพราะใช้พลังงานจากถ่านไฟฉาย หรือใช้พลังงานมือหมุน พร้อมทั้งรองรับสัญญาณคลื่นวิทยุระบบ AM และ FM จึงทำให้ประชาชนสามารถใช้ติดตามข่าวสารและการเตือนภัยต่างๆ ผ่านทางวิทยุทรานซิสเตอร์ได้
ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ที่มักประสบกับพายุเฮอริเคน และญี่ปุ่นที่มีแผ่นดินไหว หรือสึนามิ ทางรัฐบาลได้กำหนดให้ประชาชนทุกครัวเรือนต้องมีอุปกรณ์ Survival Kits หรือถุงยังชีพติดบ้านไว้ยามเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วย อาหารที่ไม่เน่าเสียง่ายเป็นเวลาหลายวัน น้ำสำหรับดื่มและทำความสะอาด วิทยุทรานซิสเตอร์ใส่ถ่านไฟฉาย หรือใช้พลังงานมือหมุน หรือวิทยุรายงานอากาศที่มีสัญญาณเตือนภัย ไฟฉาย อุปกรณ์ปฐมพยาบาล แบตเตอรี่สำรอง นกหวีดเพื่อเป่าขอความช่วยเหลือ หน้ากากกันฝุ่น ผ้ายาง หรือผ้าพลาสติกไว้กันฝน.