เพราะเชื่อว่าเส้นทางแห่งความสุขมีอยู่จริงในการเดินทาง “วีระพงษ์ กังวานนวกุล” ครูข้ามแดน เจ้าของรางวัลผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 และรางวัลผู้ประกอบการทางสังคม สาขาการมีส่วนร่วมของประชาชน จากองค์การอโชก้า ได้บันทึกการเดินทางผ่านเส้นทาง G318 ที่แม้แต่ไกด์คนจีน ยังออกปากว่า เป็นเส้นทางแห่งการเดินทางที่ยากลำบากมาก ปีหนึ่งรถสามารถวิ่งผ่านได้เพียง 3 เดือน คือ เดือนเมษายน-พฤษภาคม และ มิถุนายน เท่านั้น
วีระพงษ์ พูดถึงช่วงระยะเวลาของการเดินทางบนเส้นทาง G318 ว่า สำหรับเขาแล้ว 318 คือ สัญญะความหมายของเส้นทางสายนี้ 3 คือ ช่วงเวลาในการเข้าพื้นที่ได้เพียง 3 เดือน 1 คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต และ 1 ขบวนของการเดินทาง และ 8 น่าจะเป็นระยะเวลาจากชายแดนไทยถึงเมืองลาซา เขตปกครองพิเศษทิเบต ที่ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดก็คือ 8 วัน
“เราเริ่มเดินทางวันแรกด้วยระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร จากด่านเชียงของประเทศไทย ไปตามเส้นทาง R3A ผ่านแขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา บ่อหาน สปป.ลาว ตลอดเส้นทาง R3A กำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าขนานใหญ่เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะระบบคมนาคม ทางรถไฟ ทางด่วน ในบางพื้นที่มีการเปิดหน้าทำเหมือง ขุดทั้งแร่และถ่านหิน เริ่มเห็นรถบรรทุกมากมายขนส่งสินค้าข้ามแดนมาจากจีน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรม รถบรรทุกหินและแร่ วิ่งสวนกันไปมา เริ่มมีรถโดยสาร ขนส่งมวลชน รถนักท่องเที่ยวมากขึ้นตลอดเส้นทาง” วีระพงษ์เล่าไว้ในบันทึกการเดินทางของเขา ที่ทำให้มองเห็นภาพของรีโมตเวลาแห่งความเจริญและการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเริ่มต้น
...
จาก สปป.ลาว ข้ามชายแดนสู่มณฑลยูนนาน ของจีน จุดหมายปลายทางคืนแรกของการเดินทาง อยู่ที่เมือง เหมิงล่า
วีระพงษ์ บอกว่า เหมิงล่า เป็นเหมือนอำเภอหนึ่งของมณฑลยูนนาน แต่เป็นอำเภอใหญ่และเจริญมาก คนที่นั่นพูดภาษาจีนแต่สำเนียงเหมือนไทลื้อ ที่สำคัญที่เหมือนกับประเทศไทย คือ สัญลักษณ์ของเมืองที่เป็นรูปช้าง
จากเหมิงล่า เป้าหมายต่อไปของการเดินทาง คือ คุนหมิง ระยะทางจากเหมิงล่า ประมาณ 600 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง AH3 และทางด่วนหมายเลข E851 ในเขตมณฑลยูนนาน
“ที่สังเกตเห็นคือ ช้างน่าจะมีอิทธิพลกับผู้คนแถบนี้ สัญลักษณ์ของมณฑลยูนนานเองก็เป็นรูปช้างสามเศียร มีกลองหลวงขายาววางบนช้าง และบ้านเรือนสองข้างทางยังคงเป็นสถา ปัตยกรรมแบบบ้านชาวไทลื้อผสมผสานกับสมัยใหม่ ตลอดเส้นทางบนทางด่วน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมการเดินทางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งตรวจจับความเร็ว บันทึกภาพ มีด่านความมั่นคงเป็นระยะๆ” วีระพงษ์ เล่า จนทำให้รู้สึกเหมือนกำลังร่วมเดินทางไปกับเขาด้วย เส้นทางในการเดินทางวันที่สอง ผ่านเมืองผูเอ่อร์ แหล่งปลูกชาชั้นดีของจีน ที่ชื่อผูเอ่อร์ ที่เป็นแบรนด์ติดปาก ผ่านเมืองถิงเอ่อร์ เลาะเลียบตัดแนวภูเขาไปเรื่อยๆ บรรยากาศสองข้างทางสวยงามเพลินตา เริ่มมองเห็นภูเขาสูงทอดเป็นแนวยาว ที่ไกด์นำทางบอกว่า เป็นส่วนปลายของเทือกเขาเอเวอเรสต์ มีสองเทือกเขาสำคัญ คือ เทือกเขาไอเหล่าซาน และ อู๋เหลียงซาน นอกจากนี้ยังผ่านแม่น้ำหลายสาย ทั้ง อ้ามูเจียง แม่น้ำอู แม่น้ำโม่ และ แม่น้ำแดง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักที่ไหลสู่ฮานอย ของเวียดนาม
...
สิ้นสุดการเดินทางที่คุนหมิงราวสามทุ่ม แน่นอนสำหรับเมืองนี้ เมนูที่ไม่ควรพลาด ก็คือ เมนูหมาล่าปิ้งย่าง คุนหมิงถือว่าเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองที่กำลังมีการพัฒนาหลายด้าน เป็นหัวเมืองสำคัญทางตะวันตกของจีน และในอนาคตก็จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญสู่เมืองต่างๆของจีน
จากคุนหมิงไป ลี่เจียง ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก ระยะทางราว 500 กิโลเมตร ผ่านฉู่โสง ต้าลี่ ก่อนที่จะข้ามวันเดินทางต่อไปยัง แซงกรีล่า เต๋อชิน ไปตามแนวแม่น้ำฉางเจียง เริ่มมองเห็นเทือกเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะอยู่ไกลๆ และเมื่อเดินทางไปเรื่อยๆผ่านเมืองเต๋อชิน เมืองหมังคัง ก็เริ่มเห็นกลาเซียหรือธารน้ำแข็งที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก และเมื่อเข้าสู่เขตปกครองพิเศษทิเบต ก็เริ่มเห็นธงมนต์ กงล้ออธิษฐาน ซึ่ง วีระพงษ์ บอกว่า เป็นความรู้สึกของการไต่ขึ้นที่สูงและแน่นอน จุดหมายที่จะเข้าใกล้ลาซาก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆด้วย
...
จริงๆ วีระพงษ์ เขียนเล่าการเดินทางไว้อย่างละเอียดในหนังสือ “บันทึกเส้นทาง G318” ที่ไม่ใช่แค่การเดินทาง ด้วยระยะทางไปกลับ 7,000 กิโลเมตร ในเวลา 16 วัน แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในเขตไทย ลาว จีน และเขตปกครองทิเบต ที่ไม่เป็นเพียงเส้นทางแห่งความสุขแต่ยังเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยทุกเรื่องราวของพลังแห่งศรัทธา และความเชื่อที่ทำให้เราได้ค้นพบตัวเอง
...
หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง สิ่งเดียวที่เราอยากทำมากที่สุด คือ การขอพรจากมนตราแห่งกงล้ออธิษฐาน ให้ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสเดินทางบนเส้นทางแห่งความสุขและความหมายแห่งชีวิตเส้นนี้บ้าง.