มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดเสวนาทางวิชาการ “เปิดคุณค่าความงดงามของจักสานไทย” ในงานนิทรรศการ “เพียรสาน...งานศิลป์” โดยมี อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย และ ดร.ดลยา เทียนทอง รองผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา โดยมี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ร่วมในงาน ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง
ในงาน อ.เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย ได้บรรยายเกี่ยวกับศิลปาชีพในมิติจักสาน : จากงานพื้นบ้าน สู่หัตถศิลป์ไทย โดยกล่าวว่า การทำเครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมแรกที่มนุษย์รู้จักและทำใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา ปรากฏหลักฐานวัฒนธรรมการทำเครื่องจักสานแพร่หลายในทุกภูมิภาคไทย จะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปสุภาพสตรีกำลังตักน้ำโดยใช้น้ำทุ่ง ซึ่งเป็นภาชนะจักสานจากไม้ไผ่ หรือ ภาพการใช้กระบุง ที่ทางเหนือเรียกกันว่า “บุง หรือ เปี๊ยก” ซึ่งเป็นงานจักสานที่สุภาพสตรีใช้ใส่ข้าว หมาก พลู ไปขายที่ตลาด นอกจากนี้ ยังพบว่า งานจักสานแฝงอยู่ในราชสำนักมาโดยตลอด
...
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงฟื้นการทำจักสานย่านลิเภา ฟื้นราชประเพณีต่างๆ ในราชสำนักขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีของใช้โบราณที่เป็นย่านลิเภาเป็นจำนวนมากที่พบในตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พบในคลังพระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นต้น ในปี 2517 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทรงงานทุกภูมิภาคและทรงเลือกหาวัสดุที่อยู่ในพื้นเมือง เช่น ทรงงานย่านลิเภา โปรดให้จัดตั้งกลุ่มจักสานย่านลิเภาขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดแรกหลังจากนั้นก็กระจายกันออกไป จากนั้น ในปี 2519 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลุ่มสานเสื่อกระจูดที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งชาวบ้านที่นี่เป็นสุภาพสตรีมุสลิมที่มีความสามารถในการจักสาน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำลายจากหมอนขิดในภาคอีสานมาพัฒนาให้เป็นผืนผ้าที่มีหน้ากว้าง เพื่อนำมาตัดเสื้อผ้า ฯลฯ จะเห็นว่าจากงานจักสานพื้นบ้าน สามารถพัฒนาสู่การจักสานสร้างงานในราชสำนัก และยังสร้างอาชีพสร้างรายได้ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานให้กับคนไทยทั้งประเทศ
ด้าน ดร.ดลยา เทียนทอง รองผู้อำนวย การศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบัน เอเชียศึกษา จุฬาฯ พูดเกี่ยวกับ การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม : มองจักสานผ่านย่านลิเภา โดยกล่าวว่า จักสานย่านลิเภา นอกจาก มีความงดงามที่ปรากฏภายนอกแล้ว ยังพบการปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน นั่นคือ ทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิม ระหว่างคนในเมืองและคนในพื้นที่ชนบท รวมทั้งกลุ่มแนวคิดเชิงอนุรักษ์และกลุ่มแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและสัมผัสในวิถีวัฒนธรรมของกันและกัน นับได้ว่างานจักสานย่านลิเภาเป็นพื้นที่หนึ่งที่สะท้อนภาพความเป็นพหุวัฒนธรรม สามารถทำให้ผู้คนในสังคมเกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่น เกิดการยอมรับ ยกย่อง ชื่นชม และให้เกียรติทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลสำคัญจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และการดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เป็นดั่ง “พลังส่องแสง พลังสร้างสรรค์ พลังเสริมส่ง และพลังสืบสาน” อย่างแท้จริง.
...