“ชามตราไก่จากลำปาง” ชามก๋วยเตี๋ยวที่เราคุ้นตามานานตั้งแต่วัยเยาว์ มีประวัติและที่มายาวนานกว่า 100 ปี ส่งตรงจากเมืองจีนมาสู่สัญลักษณ์ของเมืองลำปางได้อย่างไร เรามาเปิดตำนานไปด้วยกัน
กำเนิด ชามตราไก่จากลำปาง
ชามตราไก่จากลำปาง มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนราวๆ ร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นฝีมือของชาวจีนแคะในมณฑลกวางตุ้ง ในช่วงแรกนั้นชามตราไก่เป็นเพียงถ้วยชามสีขาวธรรมดา ไม่มีลวดลาย ต่อมาชาวจีนแต้จิ๋วได้นำมาเขียนลายและเผาเคลือบสีจนกลายเป็นชามตราไก่ที่เราคุ้นตา และส่งออกจำหน่ายในตลาดทั่วไป
ต่อมาในปี 2480 ชาวจีนที่ทำชามตราไก่ในประเทศจีนได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนที่กรุงเทพฯ และลำปาง พร้อมทั้งก่อสร้างโรงงานและเตาเผาชามตราไก่ขึ้นมาในย่านวงเวียนใหญ่ และย่านถนนเพชรบุรี และในปี 2500 ชาวจีนที่ทำโรงงานและเตาเผาชามตราไก่ได้ย้ายขึ้นมาตั้งโรงงานที่จังหวัดลำปาง เพราะเต็มไปด้วยแร่ธาตุจากดินเหนียว เหมาะสำหรับการผลิตเซรามิกมากกว่า
ลักษณะของชามตราไก่
...
แรกเริ่มนั้นชามตราไก่นำเข้าจากจีนมายังประเทศไทย ในงานศิลปะต้นฉบับ ไก่เป็นสัญลักษณ์ของการทำงานหนัก ในขณะที่ใบตองและดอกโบตั๋นสีแดงแสดงถึงความฝันแห่งความโชคดี หน้าตาของชามตราไก่ถูกออกแบบให้เป็นชามที่เหมาะสมกับการใช้ตะเกียบพุ้ย มี 4 ขนาด คือ ขนาดปากกว้าง 5 นิ้ว, 6 นิ้ว, 7 นิ้ว และ 8 นิ้ว รูปทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุบเล็กน้อยรับกับเหลี่ยม ขามีเชิง วาดลวดลายด้วยมือ เป็นรูปไก่ขนคอและลำตัวสีแดง หางและขาสีดำ เดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกโบตั๋นสีชมพูอมม่วง ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย มีต้นกล้วย 3 ใบ สีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวา บางใบมีค้างคาวห้อยหัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไก่ มีดอกไม้ ใบไม้เล็กๆ แต้มก้นชามด้านใน ใช้สีบนเคลือบขี้เถ้าเผาที่อุณหภูมิ 750-850 องศาเซลเซียส เพื่อให้สีสด
ทั้งนี้ ชามตราไก่รุ่นแรกๆ ที่ผลิตในจีน ลักษณะของไก่จะมีหงอนสีแดง หางสีดำ ต้นกล้วยสีเขียวอ่อน ต้นหญ้าสีเขียว ดอกโบตั๋นสีชมพู ม่วง ส่วนชามตราไก่จากลำปางในยุคปัจจุบัน ลักษณะของไก่จะเปลี่ยนไป มีสีม่วง หรือชมพูม่วง หรือสีต่างๆ กัน หางสีน้ำเงิน เขียว ต้นกล้วยเขียวคล้า ดอกไม้สีชมพูม่วง เขียนลวดลายตามใจ ไม่ค่อยมีแบบแผนเหมือนในยุคแรกๆ ที่มีความประณีตสวยงามกว่า
ชามตราไก่จากลำปางกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชามตราไก่จากลำปางในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมก็คือ “การลดต้นทุน” เพื่อให้สามารถขายต่อได้ในราคาที่ต่ำลง จากเดิมที่ใช้มือในการปั้นชาม จึงทำให้มีเอกลักษณ์ที่ชามลักษณะกลมไม่เท่ากัน ก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องปั้นแทน จึงทำให้เอกลักษณ์ส่วนนี้หายไป ประกอบกับความละเอียดในการวาดลวดลายก็ลดลงไปจึงทำให้มีราคาถูกลง
นอกจากนี้ หลายๆ โรงงานก็หันมาผลิตถ้วยชามในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะถ้วยชามแบบญี่ปุ่นซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้น สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ได้ให้ความสำคัญกับชามตราไก่จากลำปาง ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาในยุคแรกของจังหวัดลำปาง และยังคงมีผลิตอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปหันกลับมาใช้ชามตราไก่จากลำปาง จึงได้มีโรงงานในจังหวัดลำปางหันกลับมาผลิตชามตราไก่กันมากขึ้น ทั้งแบบวาดใต้เคลือบ และวาดบนเคลือบแบบเก่า ตามความต้องการของตลาด แล้วยังมีให้เลือกมากกว่า 10 ขนาด ตั้งแต่ 1 นิ้วไปจนถึง 8 นิ้ว และพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จาน ชาม ถ้วย ช้อน และของที่ระลึกต่างๆ เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และบางส่วนยังสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้อีกด้วย
สำหรับวันที่ 12 กันยายน 2565 เป็นวันเฉลิมฉลองครบ 9 ปี ที่ “ชามตราไก่จากลำปาง” ได้รับการจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของลำปางตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งหมายความว่า กฎหมายการค้าระหว่างประเทศยืนยันคุณภาพและชื่อเสียงของชามตราไก่ที่ผลิตในภูมิภาค และเป็นที่มาของการเฉลิมฉลองบน Google Doodle ในวันนี้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง