"London Bridge is down" (สะพานลอนดอนล่ม) กลายเป็นประโยคที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้ หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา ทางรัฐบาลอังกฤษจึงมีการนำรหัสลับดังกล่าวมาใช้เพื่อสื่อสารไปยังประเทศในเครือจักรภพ, ประมุขของรัฐต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชนทั่วโลก

ทำความรู้จัก London Bridge is down คืออะไร?

London Bridge is down คือ รหัสลับของราชสำนักอังกฤษ ที่จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ซึ่งเป็นไปตามแผนการ "Operation London Bridge" หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์ ที่จะเริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากมีการประกาศสวรรคต เพื่อให้สามารถดำเนินพระราชพิธี กำหนดการต่างๆ รวมถึงรายละเอียดการไว้ทุกข์ ให้เป็นไปตามแผนการที่ได้เตรียมพร้อมไว้ 

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าทางรัฐบาลอังกฤษมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้มานานหลายปีแล้ว โดยรหัสลับ "London Bridge is down" จะถูกใช้เป็นข้อความที่สื่อสารยังบุคคลสำคัญและสื่อมวลชน ผ่านการแจ้งข่าวว่า "สะพานลอนดอนล่มแล้ว" เพื่อยืนยันว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 จนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 รวมเป็นระยะเวลา 70 ปี โดยถือว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

...

เปิดที่มาแผนการ Operation London Bridge ทำไมต้อง "สะพานลอนดอนล่ม"

Operation London Bridge (ปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์) คือปฏิบัติการที่เตรียมไว้หลังจากควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต โดยจะมีรหัสลับเฉพาะที่ใช้สำหรับพระองค์ ซึ่งก็คือ "London Bridge is down" นั่นเอง แผนการดังกล่าวเตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1960 มีการจัดแจงรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สำนักพระราชวังและรัฐบาลต้องเตรียมรับมือ หากเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นในอนาคต รวมทั้งแผนปฏิบัติการ "Operation Spring Tide" (ปฏิบัติการสปริงไทด์) ซึ่งหมายถึงการขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ สังเกตได้ว่าทางอังกฤษมีแผนการเตรียมไว้ทั้งหมดแล้ว สำหรับรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้สะพานลอนดอนเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เนื่องจากสะพานลอนดอนเป็นสะพานสำคัญของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทอดตัวข้ามแม่น้ำเทมส์ มีความเป็นมาที่ยาวนาน โดยสร้างขึ้นเพื่อทดแทนสะพานโค้งหินอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งมีความเป็นมาที่ยาวนานและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของกรุงลอนดอน 

ขณะที่ในสกอตแลนด์ มีการใช้คำว่า Operation Unicorn หรือ "ปฏิบัติการยูนิคอร์น" เพื่อใช้เป็นแผนรับมือกับเหตุการณ์ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต เนื่องจากในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จมาประทับในสกอตแลนด์ตามพระราชประเพณี ส่วนสาเหตุที่ใช้คำว่าปฏิบัติการยูนิคอร์น ก็เพราะยูนิคอร์นถือเป็นสัตว์ประจำชาติของทางการสกอตแลนด์

ทั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่อังกฤษมีการเตรียมปฏิบัติการและรหัสลับเมื่อกษัตริย์สวรรคต เพราะก่อนหน้านี้ในปี 1952 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร (พระบิดาของควีนเอลิซาเบธที่ 2) สวรรคต ก็มีการใช้รหัสปฏิบัติการลับ "Hyde Park Corner" เพื่อเตรียมการไว้เช่นกัน (ฉากนี้ได้ปรากฏอยู่ในซีรีส์เรื่อง The Crown)

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีการใช้รหัสลับประจำตัวเชื้อพระวงศ์สำหรับรับมือการสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต โดยส่วนใหญ่มักใช้แทนด้วยชื่อสะพานและสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น

  • Operation Tay Bridge = สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
  • Operation Forth Bridge = เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
  • Operation Menai Bridge = สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

เกิดอะไรขึ้นหลังจาก "London Bridge is down"

แผนการ Operation London Bridge จะเริ่มต้นขึ้น หลังจากเซอร์เอ็ดเวิร์ด ยัง ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 รับหน้าที่เป็นบุคคลแรกที่รายงานความสูญเสีย โดยจะทำหน้าที่โทรศัพท์ไปถึงนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ แห่งสหราชอาณาจักร โดยใช้รหัสลับว่า "London Bridge is down" ซึ่งมีความหมายว่า สะพานลอนดอนล่มแล้ว เพื่อให้รับทราบว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต

...

หลังจากนั้นจะมีการออกแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ไปยัง 15 รัฐบาลนอกสหราชอาณาจักร และอีก 36 ประเทศในเครือจักรภพ รวมไปถึงประมุขของรัฐ ผู้นำระดับโลก เอกอัครราชทูต บุคคลสำคัญ โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนด้านนอกพระราชวังบักกิงแฮม และส่งข่าวไปยังสมาคมสื่อมวลชนและสื่อทั่วโลก

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะเริ่มปฏิบัติการตามแผนการ Operation London Bridge ทั้งการแสดงความไว้อาลัย งดพิธีสวนสนาม ลดธงครึ่งเสา ผู้ประกาศข่าวแต่งชุดดำ รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่จะดำเนินการตามที่ได้เตรียมการไว้ทันที หลังจากทราบแน่ชัดแล้วว่า "London Bridge is down"

อ้างอิงข้อมูล : The Guardian

อ่านเพิ่มเติม