เมื่อหลายปีก่อนมีโครงการหนึ่งที่คอยรวบรวมกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว นำมารีไซเคิลเป็นหลังคาเพื่อสร้างร่มไม้ชายคาให้กับผู้ประสบภัย และชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โครงการนั้นมีชื่อว่า “โครงการหลังคาเขียว เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่มชั้นนำเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วตามพื้นที่ต่างๆ นำมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทุกหนทุกแห่ง


ระยะเวลากว่า 12 ปี ที่โครงการหลังคาเขียวฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนถึงตอนนี้ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประชาชน และองค์กรพันธมิตรหลายภาคส่วน ด้วยเหตุนี้ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด จึงเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดโครงการ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก่อเกิดเป็นโครงการ “เก็บกล่องสร้างบ้าน เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” หรือ “The Green Shelter project for Friends in Need (of “Pa”) Volunteers Foundation” ซึ่งเป็นโครงการที่สานความสำเร็จต่อจากโครงการหลังคาเขียวฯ เพื่อนำกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง อาทิ แผ่นหลังคา แผ่นไม้เทียมสังเคราะห์อีโค่ อีโค่บริค วงกบประตู และวัสดุอื่นๆ ที่ใช้สำหรับสร้าง “บ้าน” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยจากภัยธรรมชาติและผู้ที่ยากไร้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ไว้ว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่ได้รับการตอบรับที่ดี โดยยังคงได้ความร่วมมือจากพันธมิตรดั้งเดิม คือ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, กลุ่มบริษัทบีเจซี บิ๊กซี และบริษัท 360 องศา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด พร้อมด้วยพันธมิตรรายใหม่ทั้ง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมสานต่อโครงการนี้ให้เกิดขึ้น รวมถึงได้สอบถามไปยังเฟซบุ๊กหลังคาเขียวว่าแฟนเพจอยากเห็นโครงการใหม่ในรูปแบบไหน โดยส่วนใหญ่อยากให้เพิ่มจุดจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว และอยากเห็นวัสดุรีไซเคิลชนิดใหม่ที่ไปช่วยผู้คนได้มากขึ้น และส่วนสุดท้ายอยากให้ขยายพื้นที่บริจาคเพิ่มเติมในอนาคต เพราะแต่เดิมโครงการจะบริจาคให้กับผู้ประสบภัยทางธรรมชาติเป็นหลัก แต่เมื่อขยายมาเป็นโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ จึงทำให้มีพันธมิตรมาร่วมทีมมากขึ้น และในส่วนของวัสดุก่อสร้างที่รีไซเคิลมาแล้วก็สามารถนำไปมอบให้กับผู้ประสบภัยได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นรากฐานของความแข็งแรงที่โครงการเดิมดำเนินการมาอย่างยาวนาน จึงเป็นต้นกำเนิดที่ดีที่ได้ก่อตั้งโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ นี้ขึ้นมา”

ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงสิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการหลังคาเขียวฯ เก็บกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วกว่า 2,500 ตัน และนำมาผลิตเป็นแผ่นหลังคาเพื่อมอบให้กับผู้ประสบภัย และชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่า 68,000 แผ่น ด้วยความตั้งใจอยากเห็นการช่วยเหลือสังคมและการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ จะรวบรวมเอากล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อสร้างวัสดุที่มีคุณค่า โดยมีกระบวนการแยกกล่องเครื่องดื่มเพื่อให้ได้เยื่อกระดาษที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และนำพลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ มาแปรรูปเป็นวัสดุรีไซเคิลรูปแบบต่างๆ ที่จะมอบให้กับผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือผู้ยากไร้ที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

ระยะที่หนึ่งของโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ จะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2565 จนถึง 31 สิงหาคม 2568 ซึ่งพันธมิตรรายเดิมอย่าง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ช่วยแจ้งพื้นที่ที่ต้องการการช่วยเหลือ, กลุ่มบริษัทบีเจซี บิ๊กซี ยังคงเป็นจุดรับกล่องหลักและขนส่งกลับมาที่โรงงานรีไซเคิล ด้วยจุดแข็งที่มีห้างบิ๊กซีทั่วประเทศกว่า 150 สาขา และบริษัท 360 องศา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ช่วยประชาสัมพันธ์กับสื่อที่มีอยู่ในเครือ พร้อมพันธมิตรรายใหม่อย่างบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมสนับสนุนการขยายช่องทางการรับกล่องเครื่องดื่ม และความร่วมมือจากบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่มาช่วยด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในเครือข่ายของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้กับโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ เพื่อทำให้ประชาชนทั่วประเทศรู้จักโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ มากยิ่งขึ้น

สำหรับบทบาทของพันธมิตรรายใหม่อย่าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาช่วยเพิ่มจุดรับกล่องเครื่องดื่ม โดยจัดตั้งจุดรับกล่องที่ห้างเซ็นทรัลและอาคารสำนักงาน เบื้องต้น 18 สาขาทั่วไทย และที่มินิบิ๊กซีในสถานีบริการน้ำมันบางจากสิบแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อนำส่งวัสดุมาเข้าระบบรีไซเคิล ส่วนทางด้าน สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จะสนับสนุนด้านการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงประชาชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยจากภัยธรรมชาติทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้โครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ สร้างประโยชน์ให้สังคมและชุมชนได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันประชาชนและผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ถึงการรีไซเคิล และการจัดเก็บวัสดุในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนกันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มขับเคลื่อนลงมือทำด้วยตัวเอง แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนด้วยตัวเองก็คือขาดพลังในการแยกวัสดุที่รีไซเคิลได้ตามชุมชนต่างๆ โดยทาง คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ได้เล่าเสริมว่า “สำหรับโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ ของเรา ตอนนี้จุดที่ควรจะพัฒนาต่อ คือการรวบรวมพันธมิตรรายใหม่เข้ามาทำงานด้วยกัน และสร้างระบบการจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อมีโครงการเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนเข้ามาก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมในตอนนี้อยู่ในช่วงสร้างเครือข่าย ถ้าภาครัฐชัดเจนเรื่องนโยบาย ภาคเอกชนก็พร้อมจะเดินเคียงคู่กัน”

ในอนาคตทางโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ พร้อมต่อยอดกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วให้กลายเป็นวัสดุรีไซเคิลที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะกลุ่มพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการรีไซเคิลในปัจจุบัน อาทิ บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด, บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด, บริษัท รีไซโคเอ็กซ์ จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ แมท จำกัด และบริษัท เอ็ม.บี.เจ.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สามารถรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วออกมาเป็นวัสดุใหม่ที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จึงทำให้เพิ่มโอกาสนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลไปใช้เป็นส่วนประกอบของวัสดุอื่นๆ ในวันข้างหน้า โดย คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ได้เล่าเสริมว่า “ถ้าเราต้องการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย จุดที่เราต้องโฟกัสคือนโยบายสินค้าที่ผลิตใหม่ ว่าจำเป็นต้องมีส่วนประกอบของวัสดุรีไซเคิลด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นวัสดุรีไซเคิลก็สนับสนุนให้เก็บภาษีน้อยลง สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนของเรามีโอกาสเติบโตที่ดียิ่งขึ้น”

ดูรายละเอียดโครงการที่ https://www.tetrapak.com/en-th/sustainability/planet/thaigreenshelter และ www.Facebook.com/Thaigreenshelter