ในขณะที่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาถูกลงและพร้อมใช้งานมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การขนส่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าการค้าโลกประมาณ 80% ขนส่งโดยเรือบรรทุกสินค้าที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล ซึ่งภาคส่วนนี้กลับได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อยในการหารือเกี่ยวกับการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ เป็นเวลาหลายปีที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ พยายามคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหานี้ โดยการพัฒนาสารละลายที่ยั่งยืนแทนการใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งต้องทำงานบนพื้นฐานของหลักการสังเคราะห์ด้วยแสง จนกระทั่งในปี 2562 ทีมได้สร้าง “ใบไม้เทียม” ที่อาศัยหลายวัสดุประกอบกัน ทั้งฟิล์มบางและวัสดุโลหะออกไซด์ที่เรียกว่าเพอรอฟสไกต์ (Perovskite) ซึ่งสามารถเคลือบลงบนพลาสติกและฟอยล์โลหะที่ยืดหยุ่นได้ อุปกรณ์เหล่านี้ถูกเคลือบด้วยชั้นคาร์บอนที่บางและกันน้ำได้ในระดับไมโครเมตร ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพจากความชื้น ใบไม้เทียมนี้สามารถผลิตก๊าซสังเคราะห์ ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญในการผลิตสารเคมีและยาหลายชนิดจากแสงแดด คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ
ทีมได้ทดสอบกลางแจ้ง โดยนำใบไม้เทียมน้ำหนักเบาวางบนแม่น้ำแคม ใกล้กับสถานที่สำคัญของเมืองเคมบริดจ์ เช่น สะพานบริดจ์ออฟไซส์ ห้องสมุดเรน และโบสถ์คิงส์คอลเลจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าใบไม้เทียมสามารถแปลงแสงแดดเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับใบพืช ทีมเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ใบไม้เทียมถูกนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงสะอาดในน้ำ และหากขยายขนาดขึ้นได้ก็จะนำไปใช้กับน้ำที่มีมลพิษ เช่น ท่าเรือ หรือแม้แต่ในทะเล อาจช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของอุตสาหกรรมการเดินเรือทั่วโลกได้.